กินตามใจปาก...พาชีวิตเสี่ยงไม่รู้ตัว


เกร็ดสุขภาพ


กินตามใจปาก...พาชีวิตเสี่ยงไม่รู้ตัว (รักลูก)

โดย: มรกต เอื้อวงศ์ เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ คุณกฤษฎี โพธิทัต นักกำหนดอาหาร และข้อมูลจากงานวิจัย 10 บัญญัติสร้างลูกสมองดี โดย นพ.จอม ชุมช่วย, ดร.ดรุณี ลอว์สัน, พญ.จารุวรรณ กิตติโศภิษฐ์

          ใคร ๆ ก็รู้ว่าการกินอาหารดี ปรุงสุก สะอาด ครบ 5 หมู่จะทำให้สุขภาพดี แต่เรื่องง่าย ๆ เช่นนี้ เรากลับใส่ใจกันน้อย จนพาชีวิตเข้าไปเสี่ยงกับโรคโดยไม่รู้ตัว!
 
6 โรคร้ายจากการกิน

          ปัจจุบันเราพบโรคร้ายมากมายที่คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งโรคเหล่านี้ล้วนมีสาเหตุมาจากการกินทั้งสิ้น โดยองค์การอนามัยโลกได้ระบุสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลกในปี พ.ศ. 2548 ซึ่งพบว่ามีถึง 35 ล้านคนที่เสียชีวิตจากโรคเรื้อรัง ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้น

          โดยโรคเรื้อรังที่ว่านี้ ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจเรื้อรัง และโรคเบาหวาน โรคเหล่านี้ล้วนมีสาเหตุมาจากการกิน ซึ่งเราไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด
 
          1.โรคหัวใจและหลอดเลือด นับเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนในโลก จากสถิติพบว่าทุก ๆ 2 วินาทีจะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้ 1 คน โดยสาเหตุหลักมาจากโรคหลอดเลือดแดงเข็ง ส่งผลให้เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน และอัมพฤกษ์-อัมพาตอีกด้วย

          ปัจจัยหลักของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด มากจากการกินอาหารอย่างไม่ถูกหลักโภชนาการ เช่น การกินไขมันที่เป็นโทษต่อร่างกาย กินของมัน ของทอด ไม่กินผักและผลไม้ เป็นต้น
 
          2.โรคมะเร็ง ปัจจุบันมีการพบสารพิษปนเปื้อนและตกค้างในอาหารเป็นจำนวนมาก อาทิ สารตกค้างในผักผลไม้ ที่ปนเปื้อนไปด้วยยาฆ่าแมลง เนื้อสัตว์ที่เต็มไปด้วยสารเร่งเนื้อ เร่งโต ฯลฯ ล้วนก่อให้เกิดมะเร็งได้ทั้งสิ้น
 
          3.โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอตั้งแต่วัยเด็ก และสะสมมาเรื่อย ๆ จนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และกลายเป็นโรคเรื้อรัง เนื่องจากไม่ได้กินนมแม่ รวมถึงไม่ได้กินอาหารที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน
 
          4. กระดูกเปราะ ฟันผุ การกินน้ำตาลมากเกินไป ทำให้เกิดโรคกระดูกเปราะและฟันผุ พบเด็กไทยอายุต่ำกว่า 3 ขวบ มีปัญหาฟันผุสูงขึ้น และยังทำให้ขาดสมาธิ อารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย ติดเชื้อโรคได้ง่าย เพราะน้ำตาลเป็นอาหารของเชื้อโรคทุกชนิด
 
          5.โรคอ้วน แม้พันธุกรรมจะเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของโรคอ้วน แต่สาเหตุที่ใกล้ตัวอย่างการกินอาหารที่มากเกินไป กินอย่างไม่ถูกหลักโภชนาการ หรือไม่มีความรู้เรื่องโภชนาการอย่างเพียงพอ เช่น เข้าใจว่าดื่มนมเปรี้ยวแล้วไม่อ้วน
 
          6.โรคเบาหวาน จากการกินขนมหวาน ผลไม้ที่มีรสหวานจัด ดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลม เหล้า เบียร์ ในปี 2551 พบว่าในประเทศไทยมีผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่ 388,551 ราย เสียชีวิต 7,725 ราย และผู้ป่วยเกือบ 50% ยังไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็นเบาหวาน
 
          ดิฉันเชื่อว่า มีผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยที่มีอุปนิสัยการกินไม่ต่างจากเด็ก ๆ บางทีอาจเป็นตัวอย่างโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารฟาสต์ฟู้ดส์ ขนมกรุบกรอบ ดื่มน้ำหวานและน้ำอัดลมต่าง ๆ ไม่กินผักและผลไม้ การกินอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ บวกกับการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ ขาดการออกกำลังกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เกิดปัญหาสุขภาพและเป็นโรคร้ายต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา

          เห็นไหมคะว่า เรื่องธรรมดา ๆ อย่างการกิน อาจไม่ใช่แค่เรื่องธรรมดาอย่างที่คิด เพราะมีผลกับชีวิตโดยตรงค่ะ
 

ช็อกโกแลต

คิดก่อนกิน

          อาหารที่เรากินแบ่งเป็น 2 ประเภท ซึ่งเราควรรู้เพื่อใช้เป็นหลักในการปรุงอาหารค่ะ

          1. อาหารหลัก สมาคมนักกำหนดอาหาร แบ่งหมวดหมู่ของอาหารไว้ดังนี้

          ข้าว แป้ง รวมไปถึงเส้นก๋วยเตี๋ยว ผักที่มีปริมาณแป้งสูง เช่น เผือก มัน ฟักทอง ข้าวโพด ธัญพืชต่าง ๆ อย่างลูกเดือย ถั่วเขียว ถั่วแดง ซึ่งจะให้พลังงานและสารอาหารสูงมาก น้ำตาลก็จัดอยู่ในหมวดนี้ด้วยค่ะ
 
          เนื้อสัตว์ทุกชนิด รวมถึงปลา ไข่ เต้าหู้ ถั่วต่าง ๆ อาหารกลุ่มนี้จะให้โปรตีนในปริมาณสูง ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโต โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่ร่างกายมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก วัยเรียนหรือวัยรุ่นก็ตาม และยังช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและให้พลังงานสำหรับวัยผู้ใหญ่อีกด้วย
 
          ผัก ผลไม้ ซึ่งให้พลังงานต่างกัน แต่ทั้งผักและผลไม้ล้วนมีสารอาหารพวกวิตามินและเกลือแร่มากมาย และยังให้สารอาหารคล้าย ๆ กัน แต่ผลไม้จะให้น้ำตาลสูงกว่า น้ำผลไม้ก็จัดอยู่ในกลุ่มผลไม้เช่นเดียวกัน
 
          นม หลายคนอาจคิดว่านมมีโปรตีนสูง จึงสามารถดื่มเพื่อทดแทนการกินเนื้อสัตว์ได้ แต่ความจริงแล้วอยู่คนละกลุ่มกันค่ะ เพราะสารอาหารที่อยู่ในเนื้อสัตว์จะไม่ได้อยู่ในนม เช่น ธาตุเหล็ก ซึ่งพบมากในเนื้อสัตว์แต่ไม่มีในนม เป็นต้น แต่ในนมจะมีแคลเซียมสูง
 
          ขมัน รวมถึงน้ำมันทุกชนิด ทั้งจากสัตว์และพืชต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วลิสง เม็ดมะม่วง งา อะโวคาโด เป็นต้น
 
          2. อาหารว่าง จัดเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ค่ะ โดยเฉพาะวัยเด็กที่ต้องการพลังงานและสารอาหารที่ช่วยในการเจริญเติบโต อาหารว่างและขนมต่าง ๆ จึงมีบทบาทสำคัญ ที่จะช่วยเสริมให้เด็กได้รับสารอาหารที่มีคุณค่าที่จำเป็นต่อร่างกาย
 
          ในอาหารมื้อหลักแต่ละมื้อเด็กอาจกินได้ไม่มาก เพราะกระเพาะอาหารยังเล็ก เด็กจึงควรกินอาหารทุก 3 ชั่วโมง โดยอาหารว่างของเด็กไม่จำเป็นต้องเป็นขนมไปหมดทุกอย่างนะคะ คุณพ่อคุณแม่อาจให้เขาดื่มนม กินแซนวิชที่ทำจากขนมปังโฮลวีตและมีส่วนผสมของผัก หรือจัดเป็นผลไม้ให้ก็ได้ค่ะ
 
          ส่วนผู้ใหญ่วัยทำงาน ก็ต้องแล้วแต่วิถีปฏิบัติของแต่ละคนค่ะ หากคุณนั่งโต๊ะทำงานทั้งวัน อาหารว่างก็ไม่มีความจำเป็นมากนัก และยิ่งถ้าอาหารว่างของคุณเป็นพวกขนมกรุบกรอบ หรือมันฝรั่งทอด ก็ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนที่จะสายเกินแก้นะคะ เพราะข้อมูลจากมูลนิธิโรคหัวใจ ประเทศอังกฤษพบว่า คนที่กินมันฝรั่งทอดหรือขนมขบเคี้ยวเป็นประจำทุกวัน วันละ 1 ถุง เท่ากับกินน้ำมันพืชเข้าไปปีละ 5 ลิตร ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพแน่ ๆ ค่ะ
 
          ดังนั้น หากรู้สึกหิวก็ควรใช้หลักการเดียวกันกับการจัดอาหารว่างสำหรับเด็ก คือเลือกอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ผลไม้ นม ถั่วต่าง ๆ เป็นต้น
 
          คุณแม่ท้องก็ควรกินอาหารว่างด้วยนะคะ ปกติคุณแม่ท้องส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องกรดไหลย้อน และอาการแน่นท้องจากการกินมื้อหลัก คุณแม่จึงควรแบ่งอาหารออกเป็นมื้อย่อย ๆ โดยกินทุก 3-4 ชั่วโมงจะดีกว่าค่ะ
 
อาหารกับชีวิต

          อวัยวะและระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายเรา จะทำงานได้อย่างปกติ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการได้รับอาหารที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการเจริญเติบโตของร่างกาย การทำงานของสมอง รวมไปถึงเรื่อง sex ด้วยค่ะ
 
อาหารดี...เติบโตดี

          เด็กที่กินอาหารดี หมายถึง ได้รับอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนในปริมาณที่เพียงพอ ร่วมกับการออกกำลังกายเป็นประจำ จะทำให้เติบโตสมวัย ร่างกายจะสูงไม่แคระแกร็น ในทางกลับกันหากลูกกินอาหารไม่มีประโยชน์ ไม่ออกกำลังกาย ก็อาจจะเตี้ยและอ้วน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ส่วนหนึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ด้วยค่ะ
 
          สำหรับผู้ใหญ่วัยทำงาน นอกจากอาหารจะช่วยให้พลังงานและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายแล้ว ยังส่งผลกับน้ำหนักและปัญหาสุขภาพอย่างเห็นได้ชัดค่ะ เนื่องจากอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ระบบเผาผลาญในร่างกายเริ่มลดลง กิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวก็น้อยลงกว่าสมัยเป็นเด็กหรือวัยรุ่น เพราะวัน ๆ นั่งแต่ที่โต๊ะทำงาน บางวันอาจมีสังสรรค์กับเพื่อน บวกกับการไม่ออกกำลังกาย ให้น้ำหนักตัวก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งถ้าไม่ดูแลตัวเอง โรคภัยไข้เจ็บก็จะตามมา
 
          หยุดกินตามใจปาก ถ้าไม่อยากจากคนที่รักไปก่อนวัยอันควรนะคะ
 

  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย



ขอขอบคุณข้อมูลจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กินตามใจปาก...พาชีวิตเสี่ยงไม่รู้ตัว อัปเดตล่าสุด 16 ธันวาคม 2556 เวลา 17:33:27 8,855 อ่าน
TOP
x close