x close

ไขปริศนาไวรัส ไข้หวัด 2009

ไข้หวัด2009



ไขปริศนาไวรัส ไข้หวัด 2009 (เดลินิวส์)

          ไวรัสชนิดต่างๆ ก็เหมือนกับการแข่งขันกันพัฒนาอาวุธ มันสามารถเดินทางไปที่ไหนก็ได้ภายใน 24 ชั่วโมง และฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 2009 เมืองเม็กซิโกซิตี้ก็ถูกศัตรูที่ว่านี้ห้อมล้อม ชาวเม็กซิโกหลายสิบคนเสียชีวิตเพราะไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์หนึ่งซึ่งไม่เคยพบเห็นมาก่อน

          อาการของไข้หวัดใหญ่ทั่วไป คือ มีไข้ แต่ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่เขาพบไม่มีไข้ ทว่าบางคนก็ท้องร่วง อาการเจ็บป่วยนี้มีแนวโน้มจะแพร่ระบาดไปได้มากขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา ความจริงก็คือ ไวรัสที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า ไข้หวัดหมู เอชวันเอ็นวัน กำลังรุกคืบ ภายใน 6 สัปดาห์ของการระบาด เอช วันเอ็นวันก็ไปอยู่ใน 21 ประเทศใน 5 ทวีป
    
          ไวรัสตัวนี้เป็นอนุภาคยาวประมาณหนึ่งในล้านนิ้วเท่านั้น เราจะมองเห็นมันได้ ก็ต่อเมื่อมองผ่านกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนเท่านั้น และมันยังมีองค์ประกอบที่เรียบง่ายอย่างน่าทึ่งด้วย คือมีเพียงอาร์เอ็นเอ หรือดีเอ็นเอ สายเดียวภายในชั้นโปรตีนที่ทำหน้าที่ปกป้อง ถ้าไม่มีเซลล์ให้ยึดเกาะ ไวรัสก็ไม่สามารถอยู่รอดได้ และในขณะที่พวกมันขยายพันธุ์ มันก็จะทำลายเจ้าบ้านของมัน
    
          แม้จะมีการคาดการณ์การระบาดของไวรัสสายพันธุ์นี้ว่า คนอเมริกัน 10 หรือ 15 ล้านคนจะเข้าโรงพยาบาล ประชากรราว 30-40% จะติดโรคนี้ภายใน 6 เดือน หลัง 7 สัปดาห์ของการระบาดผ่านไป นักวิจัยก็พบว่า เอชวันเอ็นวันไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตมากนัก แต่ก็มีเรื่องน่ากังวลในข้อมูลของเวสปิญานี ที่นั่นมันอาจกลายพันธุ์และปรับตัว เมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วง ถ้าถึงตอนนั้นมันกลับขึ้นเหนือ มันก็อาจกลายเป็นสายพันธุ์ที่มีพิษสงร้ายกาจกว่าเดิม
    
          แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดการระบาดอย่างหนักของไวรัส ในศตวรรษที่ 19 การระบาดซ้ำๆ ของโรคไข้เหลืองได้ทำให้สุสานต่างๆ เต็ม และทำให้เมืองอย่างแกลเวสตัน ในรัฐเทกซัสร้างเปล่า
    
          การแพร่ระบาดใหญ่ครั้งเลวร้ายที่สุดของมนุษย์ในศตวรรษที่ 20 คือไข้หวัดใหญ่สเปนในปี ค.ศ. 1918 ซึ่งระบาดระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และแพร่ลามไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ก่อนที่การระบาดครั้งนั้นจะยุติลงในอีก 18 เดือนให้หลัง มันก็ได้ทำให้ประชากรโลกติดเชื้อไปเกือบหนึ่งในสาม และคร่าชีวิตคนไปราว 50-100 ล้านคน ในปี ค.ศ. 1919 ไข้หวัดชนิดนี้หายไปอย่างลึกลับพอๆ กับที่มันปรากฏขึ้น
        
          การเดินทางทางอากาศสมัยใหม่ทำให้การระบาดไปไกลและเร็วขึ้น เมื่อติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ คนเราสามารถแพร่เชื้อก่อนจะแสดงอาการและก่อนที่จะรู้ตัวว่าป่วยได้ถึงสี่วัน อย่างกรณีของโรคซาร์ส หรือโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง การระบาดที่เริ่มขึ้นในมณฑลกวางตุ้งทางภาคใต้ของจีนเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 2002 และภายในไม่กี่สัปดาห์มันก็ไปโผล่ที่ฮ่องกง และมีคนนับพันแสดงอาการคล้ายปอดบวมที่ในเวลานั้นยังคงเป็นปริศนา และมันแพร่จากคนสู่คนได้อย่างรวดเร็ว ผ่านทางการพบปะทั่วๆ ไป
    
          ในตอนแรกรัฐบาลจีนประมาทการระบาดของโรคซาร์ส ดังนั้นจึงไม่มีใครตั้งตัวเมื่อ  จู่ๆ ไวรัสชนิดนี้ก็ไปโผล่ที่เมืองโทรอนโต และกระจายไปสู่ 26 ประเทศทั่วโลกอย่างรวดเร็ว และทั้งหมดนี้เริ่มต้นจากผู้โดยสารเครื่องบินที่ไม่รู้ตัว เพียงคนเดียว เดือนกรกฎาคมปี ค.ศ. 2003 ก็มีคนทั่วโลกกว่า 8,000 คนติดโรคซาร์ส และเกือบ 800 คนเสียชีวิต
    
          "โรคซาร์สถูกยับยั้งไว้ได้ มันไม่ได้หยุดเพราะยาหรือวัคซีน แต่มันหยุดเพราะเราใช้หลักการทางการแพทย์ที่ถูกต้องซึ่งมีมานานกว่า 100 ปีแล้ว นั่นคือเราตัดสินใจกักตัวคนเหล่านี้" ดร. เอียน ลิปกิน แห่งคณะสาธารณสุขเมลแมน มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ระบุ
    
          ซึ่งนี่คือวิธีการเดียวกับที่เม็กซิโกยอมสูญเสียมหาศาลเพื่อยับยั้งการระบาด มันสามารถยับยั้งการระบาดของโรคได้ดีกว่าการให้วัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 1976 ประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด เรียกร้องให้พยายามฉีดภูมิคุ้มกันแก่มวลชน เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดใหญ่ของไข้หวัดสายพันธุ์สุกร
    
          วัคซีนถูกผลิตขึ้นอย่างเร่งรีบและดำเนินการโดยมีการทดสอบน้อยมาก แถมยังมีมาตรการป้องกันเพียงไม่กี่อย่าง คนอเมริกัน 500 คนล้มป่วยด้วยโรคกีแลง-แบเร ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับระบบประสาท ส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นอัมพาต หรือแม้กระทั่งเสียชีวิต 30 คนเสียชีวิตเพราะวัคซีน แต่มีคนเสียชีวิตเพราะไข้หวัดชนิดนี้เพียงคนเดียว  
    
          ไวรัสไข้หวัดใหญ่มาในสามรูปแบบที่มีหน้าตาเหมือนกัน คือ แบบเอ บี และซี แบบซีนั้นทำให้เกิดความเจ็บป่วยในระบบทางเดินหายใจเพียงเล็กน้อย แบบที่เราควรกังวลมากที่สุดคือแบบเอและบี เพราะมันคือแบบที่สามารถก่อให้เกิดการแพร่ระบาด และเรื่องที่ซับซ้อนกว่านั้นอีกเล็กน้อยก็คือ ไวรัสไข้หวัดใหญ่แบบเอยังถูกแบ่งเป็นรูปแบบย่อยซึ่งตั้งชื่อตามโปรตีนที่อยู่บนผิวของมัน
    
          โปรตีนเหล่านั้นมีชื่อว่าฮีแมกกลูตินิน หรือที่รู้จักกันในนามเอช และนิวรามินิ เดส หรือที่รู้จักกันในนามเอ็น รูปแบบย่อยชนิดหนึ่งของไข้หวัดใหญ่แบบเอที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยในมนุษย์คือ เอเอช วันเอ็นวัน (AH1N1) รูปแบบย่อยนี้ยังสามารถแบ่งย่อยลงไปเป็นสายพันธุ์ต่างๆ ได้อีก อาทิ ไวรัสเอเอชวันเอ็นวันของไข้หวัดใหญ่สเปนปี ค.ศ. 1918 และไวรัสเอเอชวันเอ็นวันของไข้หวัดสุกรในปัจจุบัน
    
          ถึงแม้ทั้งคู่จะเป็นไวรัสเอชวันเอ็นวันและมีโปรตีนที่ผิวคล้ายๆ กัน แต่พวกมันมียีนแตกต่างกันนิดหน่อย นั่นเป็นเพราะไวรัสกลายพันธุ์อยู่เสมอในกระบวนการที่เรียกว่าการเปลี่ยนแปลงแอนติเจนเพียงเล็กน้อย ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ กำลังจะพยายามพัฒนาวัคซีนที่จะป้องกันมนุษย์จากไข้หวัดใหญ่ทุกชนิด ไม่ว่ามันจะมาในรูปแบบใด

  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

 คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไขปริศนาไวรัส ไข้หวัด 2009 อัปเดตล่าสุด 16 สิงหาคม 2552 เวลา 13:36:57
TOP