ดื่มนมมากเกิน ร่างกายขับออกไม่ดีต่อกระดูก (คมชัดลึก)
แพทย์เตือนดื่มนมเพื่อสุขภาพ ต้องตระหนักถึงข้อมูลที่ถูกต้องด้วย ระบุกระหน่ำดื่มมากเกินไป ก่อให้เกิดผลเสียต่อกระดูกมากกว่าผลดี โดยฟอสฟอรัสที่อยู่คู่กับแคลเซียมในนม จะย่อยสลายมวลกระดูก ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุนและกระดูกหัก
ศ.เกียรติคุณ น.พ.เสก อักษรานุเคราะห์ ประธานมูลนิธิโรคกระดูกพรุน กล่าวว่า โรคกระดูกพรุนเป็นภัยเงียบที่พบมากในผู้สูงอายุ และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้สูงอายุในไทยเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการรับรู้ข้อมูลข่าวสารไม่เพียงพอ โดยเฉพาะข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดื่มนม เพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน
แม้ว่าแคลเซียมในนมจะมีประสิทธิภาพสูง ในการยับยั้งการสลายตัวของมวลกระดูก แต่การดื่มนมเพื่อยับยั้งการสลายกระดูก จะต้องอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม
"แคลเซียมจากนมต้องได้มาจากการดื่มนมไม่เกิน 500 มิลลิลิตรต่อวัน ซึ่งจะได้ปริมาณแคลเซียม 500 มิลลิกรัม เพราะในน้ำนมประกอบด้วยแคลเซียม 3 ส่วนและฟอสฟอรัส 2 ส่วน หากดื่มนมมากกว่า 500 มิลลิลิตร ร่างกายก็จะได้รับปริมาณฟอสฟอรัสมากเกินจำเป็น ซึ่งจะกระตุ้นต่อมพาราไทรอยด์ให้หลั่งฮอร์โมนออกมาสลายกระดูก จนเป็นเหตุให้มวลหรือเนื้อกระดูกบางลง" ประธานมูลนิธิโรคกระดูกพรุน กล่าว
อย่างไรก็ตาม ความต้องการแคลเซียมในแต่ละช่วงอายุจะแตกต่างกัน โดยเฉลี่ยต่อวันเด็กควรได้รับ 600 มิลลิกรัม วัยรุ่น 1,000-1,500 มิลลิกรัม วัยผู้ใหญ่ 800-1,000 มิลลิกรัม ขณะที่หญิงมีครรภ์ต้องการ 1,500 มิลลิกรัม และผู้ใหญ่วัยทอง 1,500-2,000 มิลลิกรัม
"เมื่อร่างกายสามารถรับแคลเซียมจากนมได้เพียง 500 มิลลิกรัมต่อวัน ปริมาณแคลเซียมที่ยังขาดไปนั้น สามารถหาทดแทนได้จากอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ปลาเล็กปลาน้อย ปลาป่น กุ้งแห้ง กะปิ และปลาร้าสุก เป็นต้น รวมทั้งการออกกำลังกายกลางแจ้ง เพื่อรับวิตามินดีจากแสงแดด ซึ่งจะสังเคราะห์กลายเป็นแคลเซียม และออกกำลังกายที่เน้นเพิ่มมวลกระดูก งดเครื่องดื่มกาเฟอีนและแอลกอฮอล์" ศ.เกียรติคุณ น.พ.เสก แนะนำ
ส่วนผู้ที่ไม่สามารถดื่มนม ก็จำเป็นต้องหาแคลเซียมเสริมในรูปแบบอื่นทดแทน แคลเซียมในรูปแบบเคี้ยวดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีสุด โดยต้องเคี้ยวให้ละเอียดไปพร้อมกับอาหาร เพื่อให้น้ำย่อยได้ละลายแคลเซียมมากที่สุด
เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก