โรคจิตเภท schizophrenia

โรคจิตเภท

โรคจิตเภท (schizophreni)
(infomental)
โดย : ผศ.นพ.สเปญ อุ่นอนงค์


โรคจิตเภทคืออะไร

          โรคจิตเภท เป็นโรคจิตชนิดหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถแยกแยะว่า อะไรเป็นเรื่องจริงอะไรไม่ใช่เรื่องจริง ทำให้เกิดพฤติกรรมแปลกๆหรือพฤติกรรมที่เป็นปัญหาขึ้น

อาการของ โรคจิตเภท

อาการของ โรคจิตเภท อาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

          1. มีพฤติกรรมที่ ”ผิดปกติ” บางอย่างเกิดขึ้น 

          2. พฤติกรรมที่”ปกติ”บางอย่างหายไป

มีพฤติกรรมที่ ผิดปกติ บางอย่างเกิดขึ้น ได้แก่

          อาการหลงเชื่อผิด เช่น ระแวงว่าคนอื่นจะวางยาพิษ ,คิดว่าคนในโทรทัศน์มาว่าตน ,คิดว่าตนสามารถส่งกระแสจิตได้

          มีความคิดแปลกๆ เช่น เห็นใบไม้ร่วงแปลว่าต่างชาติกำลังจะยึดประเทศไทย

          ประสาทหลอน เช่น ได้ยินเสียงคนมาพูดด้วยโดยที่ไม่มีใครพูด (หูแว่ว) , เห็นภูติผีปิศาจ ( ภาพหลอน)

          มีพฤติกรรมที่ผิดปกติโดยมักเกี่ยวข้องกับความคิดและความเชื่อที่ผิดปกติ เช่น ยืนเพ่งพระอาทิตย์ ,ดื่มน้ำจากโถส้วม ,ทำร้ายคนอื่น ,ทะเลาะกับคนในโทรทัศน์

พฤติกรรมที่ ปกติ บางอย่างหายไป ได้แก่

          ไม่อยากพบปะผู้คน , เก็บเนื้อเก็บตัว , ไม่สบตาคน

          ไม่ดูแลตนเอง , ไม่อาบน้ำ , ไม่โกนหนวด , ไม่นุ่งผ้า , กลางคืนไม่นอน

          ไม่มีความริเริ่มสร้างสรร , ไม่ทำงาน , นั่งเฉยๆ ได้ทั้งวัน , ผลการเรียนตกต่ำ

          พูดจาไม่รู้เรื่อง , เนื้อความไม่ปะติดปะต่อกัน , เปลี่ยนเรื่องกลางประโยค

          ไร้อารมณ์ , หน้าตาเฉยเมย , ยิ้มคนเดียวหรือหัวเราะอย่างไม่สมเหตุผล

          ญาติๆ มักเริ่มรู้ว่าผู้ป่วยไม่สบายเมื่อผู้ป่วยมีอาการ มีพฤติกรรมที่ "ผิดปกติ" เกิดขึ้น เช่น หวาดระแวงกลัวมนุษย์ต่างดาวมาจับตัวไป ทำให้ต้องพกอาวุธไว้ป้องกันตัว คอยหลบซ่อนๆ คิดว่าปลาทองในตู้ปลามีเครื่องส่งวิทยุ ทำร้ายคนที่ผู้ป่วยเข้าใจว่าเป็นมนุษย์ต่างดาวปลอมมา เมื่อรู้ว่าผู้ป่วยป่วยแล้ว ญาติๆ มักนึกได้ว่าที่จริงเขาเริ่มผิดปกติมาก่อนหน้า นั้นระยะหนึ่งแล้ว โดยสังเกตุว่าปีที่แล้วผลการเรียนหรือการทำงานไม่ค่อยดี ร่วมๆ ปีที่ผ่านมาดูเขาเงียบๆ ไป  พูดน้อยลง ไม่ค่อยดูแลตนเอง บางครั้งยิ้มคนเดียว  เพราะอาการของ โรคจิตเภท มักค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มจากการลดลงของพฤติกรรมที่ปกติก่อน แล้วจึงเกิดพฤติกรรมที่ผิดปกติขึ้น

          โรคจิตเภท มักเริ่มเป็นในช่วงวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว ในรายที่ไม่ได้รับการรักษาจะไม่หายเอง ผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหา ก้าวร้าว อาละวาด ตีคน บางรายถูกจับล่ามโซ่เพราะญาติไม่รู้จะทำอย่างไร เมื่ออายุมากขึ้นอาการ พฤติกรรมที่ "ผิดปกติ" จะค่อยๆ ลดลง ผู้ป่วยจะอาละวาดน้อยลงแต่จะเหลืออาการ พฤติกรรมที่ "ปกติ" หายไป มากขึ้น ผู้ป่วยจะไม่อาบน้ำ เนื้อตัวสกปรก บางรายเร่ร่อนเที่ยวเดินคุ้ยขยะ ผู้ป่วย โรคจิตเภท บางรายมีอาการดีขึ้นเมื่อแก่ตัวและเริ่มรู้ว่าชีวิตทั้งชีวิตหายไปโดย ไม่ได้เรียนรู้วิชาชีพหรือทำอะไรขึ้นมาเลยและเกิดภาวะซึมเศร้า บางรายถึงกับฆ่าตัวตาย

โรคจิตเภท เกิดจากอะไร

          ในปัจจุบันเรายังไม่รู้แน่ว่า โรคจิตเภท เกิดจากอะไรแต่เท่าที่รู้พบว่ากรรมพันธุ์มีส่วนแต่ไม่ 100% สิ่งแวดล้อมเช่นความเครียดก็มีส่วน แต่ที่สำคัญคือมีความผิดปกติของสมองโดยพบว่าสารเคมีบางอย่างในสมอง มีความผิดปกติ สารเคมีที่สำคัญคือสารที่เรียกว่า โดปามีน ( dopamine) และซีโรโทนิน ( serotonin) นอกจากนี้ยังพบว่า โครงสร้างของสมองบางส่วนก็มีความผิดปกติเล็กน้อยเช่นกัน

การรักษา โรคจิตเภท

ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยา

          โรคจิตเภท จะไม่หายเอง โรคจิตเภทเป็นโรคที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยา การรักษาโดยการพูดคุยจะไม่หาย ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาจะลงเอยเหมือนตัวอย่างข้างต้น

          ยาที่ใช้รักษา โรคจิตเภท มีหลายชนิดทั้งยากินและยาฉีด ยาประเภทนี้ไม่ทำให้เกิดการเสพติด มีทั้งชนิดที่ทำให้ง่วงและที่ไม่ง่วง ผลข้างเคียงที่สำคัญได้แก่ มือสั่น ตัวแข็งเหมือนหุ่นยนต์ ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยได้รับยาในขนาดค่อนข้างสูง แต่ก็มียาแก้ให้รับประทานควบคู่กันไปด้วยและไม่มีอันตราย ผลข้างเคียงอื่นๆได้แก่ อาจมีอาการคอแห้งบ้างเพราะต่อมน้ำลายทำงานน้อยลง ลุกเร็วๆ อาจหน้ามืดบ้าง บางคนปัสสาวะออกช้า บางคนท้องผูก ซึ่งผลข้างเคียงเหล่านี้ไม่มีอันตราย

          ผู้ป่วยเพศหญิงบางรายอาจไม่มีรอบเดือน ผู้ป่วยชายบางรายอวัยวะเพศอาจไม่ค่อยแข็งตัว ผลข้างเคียงแบบนี้ก็ไม่อันตรายเช่นกันและ กลับคืนเป็นปกติได้

รักษาให้ดีขึ้นได้แต่มักหายไม่สนิทและไม่หายขาด

          โรคจิตเภท จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยา ยาจะช่วยให้อาการต่างๆ ดีขึ้น ผู้ป่วยจะหวาดระแวงน้อยลงหรือเลิกหวาดระแวง ผู้ป่วยจะก้าวร้าวน้อยลง เก็บตัวน้อยลง ยอมอาบน้ำ แต่อาการต่างๆ มักหายไม่หมดโดยเฉพาะอาการ "พฤติกรรมที่ปกติหายไป" ผู้ป่วยที่รักษาได้ผลดีจะไม่วุ่นวาย กลับไปเรียนหรือทำงานได้แต่มักไม่ดีเท่าเดิม และมีโอกาสกลับมาเป็นใหม่ได้อีกถ้าขาดยา หรือประสบปัญหาที่ทำให้เครียดมากๆ อย่างไรก็ดียารุ่นใหม่ๆ สามารถทำให้พฤติกรรมปกติที่หายไปกลับคืนมาได้มากกว่ายารุ่นเก่าๆ

ญาติๆ ควรปฏิบัติอย่างไร

          ผู้ป่วยมักไม่ชอบรับประทานยาเพราะไม่รู้ว่าตนป่วย บางรายไม่ยอมรับประทานยาโดยบ่นเรื่องผลข้างเคียงของยา เนื่องจาก โรคจิตเภท จำเป็นต้องรักษาด้วยยา ดังนั้นการดูแลให้ผู้ป่วยได้รับยาให้ครบจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ให้บางรายแพทย์อาจเปลี่ยนยาเป็นยาฉีดที่ออกฤทธิ์ได้นาน 2-4 สัปดาห์ทำให้ผู้ป่วยได้รับยาแน่นอนขึ้น สิ่งที่ญาติต้องทำก็จะง่ายขึ้นคือคอยดูแลให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ตามนัด

ความเครียดมีส่วนทำให้ โรคจิตเภท กำเริบได้

          ความเครียดมีส่วนทำให้ โรคจิตเภท กำเริบได้ ดังนั้นจึงไม่ควรมุ่งหวังผลักดันให้ผู้ป่วยเรียนสูงๆ หรือให้รับผิดชอบงานสำคัญๆ แต่การปล่อยปละละเลยขาดการกระตุ้นก็ทำให้อาการ "พฤติกรรมที่ปกติหายไป" กลับคืนมาช้า ดังนั้นสิ่งที่ญาติควรทำคือ กระตุ้น แต่ไม่บังคับ คือคอยกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีกิจกรรมแบบคนปกติทั่วไปเช่น ชวนผู้ป่วยเวลาจะไปไหนกัน เรียกให้กินข้าว แต่ไม่ต้องถึงกับตักข้าวขึ้นไปบังคับให้กิน นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการตำหนิติเตียนโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะจากคนที่ไม่ถูกกันกับผู้ป่วย

ญาติๆ มักจะเครียด

          ผู้ป่วย โรคจิตเภท ไม่รู้ว่าเรื่องใดจริงเรื่องใดไม่จริง เรื่องใดเหมาะสมเรื่องใดไม่เหมาะสม แต่สติปัญญายังเฉลียวฉลาด ดังนั้นเมื่ออาการกำเริบผู้ป่วยมักก่อเรื่องให้ญาติๆ เดือดร้อนและอับอายอยู่เรื่อยๆ ญาติๆ ไม่ควรโทษตัวเองเพราะญาติไม่ได้เป็นคนทำ นี่เป็นอาการของคนที่สมองทำงานผิดปกติ และการที่มีญาติป่วยก็ไม่ใช่ความผิดแต่เป็นภาระที่น่าเห็นใจ การพยายามทำให้ผู้ป่วยได้รับยาให้ครบจะช่วยลดภาระตรงนี้ลงได้บ้าง ในกรณีที่ญาติเริ่มรู้สึกท้อแท้การพูดคุยกับหรือปรึกษาจิตแพทย์ หรือแพทย์ผู้รักษา อาจช่วยให้มีกำลังใจที่จะต่อสู้กับโรคของญาติของท่านมากขึ้น

  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย

   คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ 



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
infomental.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคจิตเภท schizophrenia อัปเดตล่าสุด 2 ตุลาคม 2552 เวลา 17:14:23 14,407 อ่าน
TOP
x close