x close

นิวโมคอคคัส คร่าชีวิตเด็ก ทุก 15 วินาที

โรคปอดบวม นิวโมคอคคัส



นิวโมคอคคัส คร่าชีวิตเด็ก 15 วินาทีต่อคน (ไทยรัฐ)

          ที่ประชุมวัคซีนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้ระดมความคิดเห็น เกี่ยวกับโรคระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคปอดบวม ที่สามารถคร่าชีวิตเด็กเล็ก ทุกๆ 15 วินาที

          ศ.พญ.ลูลู่ บราโว่ ประธานองค์กรพันธมิตรร่วมป้องกันโรคปอดบวม จากเชื้อนิวโมคอคคัส หรือ ASAP กล่าววันนี้ (21 ส.ค.) ระหว่างการประชุมระดมสมอง เรื่อง "วัคซีนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก" (Asian Vaccine Conference) ที่เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชาว่า ปัจจุบัน โรคระบบทางเดินหายใจ กำลังเป็นปัญหากับประชากรทั่วโลก โดยเฉพาะโรคปอดบวม ซึ่งคร่าชีวิตประชากรโลก เป็นจำนวนมาก ในแต่ละปี โดยเฉพาะเด็กเล็ก ทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศจุดยืนตลอดหลายปีที่ผ่านมา ในการให้ความสำคัญต่อการป้องกัน และลดอุบัติการณ์การติดเชื้อ รวมถึงการตายจากโรคปอดบวมในเด็ก ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ จะมีการลงนามในปฏิญญาร่วมกันของทุกประเทศ ในเอเชียแปซิฟิก ที่จะหาแนวทางการควบคุมอุบัติการณ์โรคปอดบวม และโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส เพื่อนำแนวทางดังกล่าวไปปรับใช้กับประเทศของตน

          ศ.พญ.ลูลู่ กล่าวว่า จากสถิติทุกๆ 15 วินาที จะมีเด็กเล็กเสียชีวิต ด้วยโรคปอดบวม 1 คน หรือคิดเป็นอัตราการเสียชีวิต กว่าปีละ 2 ล้านคนทั่วโลก หรือประมาณ 15 วินาทีต่อคน จากการศึกษาพบว่า ร้อยละ 50 เกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัส ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อรุนแรง ที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคติดเชื้อในกระแสเลือด โรคไซนัสอักเสบ และหูน้ำหนวก ทั้งที่กลุ่มโรคติดเชื้อเหล่านี้ มีวัคซีนป้องกันได้ แต่การได้รับวัคซีนป้องกันโรค กลับกลายเป็นเรื่องยาก แม้จะเป็นสิทธิทางสังคมอันชอบธรรม ของเด็กๆ ทุกคนทั่วโลก ที่จะได้เข้าถึงวัคซีนป้องกันโรค อย่างเสมอภาค และเท่าเทียมกันก็ตาม

          ด้าน ศ.พญ.อุษา ทิสยากร กรรมการสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งโลก และเลขาธิการสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชีย กล่าวว่า การติดเชื้อที่ปอด อาจทำให้ระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้ จากการศึกษาพบว่า โรคปอดบวมเป็นโรคแทรกซ้อนที่สำคัญ ที่ทำให้อัตราการตายของเด็กเล็กทั่วโลกสูงขึ้น โดยเฉพาะการติดเชื้อซ้ำโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัด โรคหอบหืด เป็นต้น ทำให้อาการรุนแรงขึ้น และทำการรักษาได้ยากขึ้น สูญเสียเวลา และงบประมาณในการรักษาเพิ่มมากขึ้น 

          การฉีดวัคซีนไอพีดีให้กับเด็ก นอกจากจะป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส ในเด็กเล็กแล้ว ยังลดการแพร่กระจายเชื้อจากเด็กไปสู่ผู้สูงอายุ ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง อีกกลุ่มหนึ่งด้วย และในระยะยาว การฉีดวัคซีนไอพีดี ยังช่วยลดปัญหาการดื้อยา ของเชื้อนิวโมคอคคัส ซึ่งมีแนวโน้มเกิดในอัตราสูงขึ้นอีกด้วย



  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย

   คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ 



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นิวโมคอคคัส คร่าชีวิตเด็ก ทุก 15 วินาที อัปเดตล่าสุด 24 สิงหาคม 2552 เวลา 17:05:35
TOP