x close

แพทย์ชี้ผู้สูงอายุเสี่ยงกระดูกพรุนเพิ่ม ช่วงอุทกภัย


กระดูกพรุน


เตือนภัยอุทกภัย...ผู้สูงอายุเสี่ยง ลื่นล้มซ้ำกระดูกหัก-พรุนเพิ่มขึ้น (ไอเอ็นเอ็น)

          จากวิกฤตการณ์ภาวะอุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในหลายจังหวัดขณะนี้ ส่งผลทำให้ผู้ประสบภัยจากน้ำท่วมโดยเฉพาะผู้สูงอายุ อยู่ในสภาวะเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนเพิ่มขึ้น

          โดยในปัจจุบันหญิงและชายสูงอายุส่วนใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป มีภาวะเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนเพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วงของอุทกภัยที่คาดว่าจะใช้ระยะเวลายาวนานหลายเดือน จะส่งผลทำให้ผู้สูงอายุเกิดปัญหาทางร่างกายด้วยการขาดแคลเซียม อันเนื่องมาจากการรับประทานอาหารน้อย และที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการหรือไม่ครบ 5 หมู่ เช่น อาหารกระป๋องหรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

          ขณะที่บางคนเมื่อน้ำท่วมบ้านหนัก ๆ ก็ไม่สามารถออกจากบ้านพักอาศัย ได้แต่อยู่ในที่แคบ ๆ ไม่ได้โดนแดด หรือรับวิตามินดีจากแสงแดด หรือไม่มีการเดินเหินเหมือนปกติทั่วไป ผู้สูงอายุบางคนอาจเกิดอาการลื่นหกล้มจากตะไคร่ หรือพื้นบ้านที่ลื่น ทำให้กระดูกหักตามส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระดูกตามแขน ข้อมือ นิ้วมือ นิ้วเท้า ข้อเท้า ขา ทั้งหมดเป็นปัญหากับผู้สูงอายุทั้งสิ้น ปัญหาของโรคกระดูกพรุนก็จะเพิ่มขึ้นมาอีก

          นพ.บุญวัฒน์ จะโนภาษ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ คลินิก ศูนย์แพทย์พัฒนา กล่าวว่า การป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุอันเกิดจากพื้นไม่เรียบ หรือแสงสว่างไม่เพียงพอ เป็นมหันตภัยเงียบของโรคกระดูกพรุน ผู้ป่วยสูงอายุเหล่านี้ไม่เคยรู้ตัวเองเลยว่าป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนมาก่อน แต่เมื่อเกิดการหักของกระดูก หรือกระดูกยุบตัวจากอุบัติเหตุจึงได้รู้ความจริง แต่ขั้นตอนการรักษานั้นทำได้ยาก ถึงแม้จะมีหลายวิธีที่จะทำการรักษา แต่ก็ไม่หายขาดเหมือนเก่า ซึ่งวิธีการรักษาก็จะมีทั้งการรับยา การทานยาแคลเซียมเพื่อเสริมความแข็งแรงของกระดูก การเข้าเฝือก การดามเหล็กหรือการฉีดซีเมนต์ เมื่อมีอาการกระดูกแตกหรือหักหรือยุบตัว

          "ในช่วงภาวะน้ำท่วม ขณะนี้มีผู้สูงอายุได้รับอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้น บางคนถึงกับเกิดกระดูกสันหลังยุบตัว เพราะไปช่วยคนในครอบครัวยกของหนักเพื่อหนีน้ำ นำของขึ้นที่สูง บางคนเดินไปสะดุดล้ม หรือลื่นหกล้ม ซึ่งไม่กี่วันที่ผ่านมามีคนไข้ที่กระดูกมือกระดูกเท้าหัก และมีคนไข้ที่กระดูกสันหลังยุบ เนื่องจากไปช่วยลูกหลานของตัวเองยกของ ซึ่งภายในไม่กี่วันที่ผ่านมามีคนไข้ผู้สูงอายุเพิ่มจำนวนสูงขึ้น และส่วนใหญ่เป็นโรคกระดูกพรุนโดยไม่รู้ตัวและไม่แสดงอาการ"

          "นอกจากนี้อีกปัจจัยหนึ่งที่น่าห่วงผู้สูงอายุในขณะนี้ก็คือ ควรระมัดระวังเรื่องของการดูแลเด็กเล็กและสัตว์เลี้ยง เนื่องจากบางทีเด็กเล็กมักจะเล่นกับคุณยาย คุณย่ารุนแรง หรือเราไปอุ้มเขาผิดท่าผิดจังหวะบ้าง ทำให้เราบาดเจ็บผิดท่า เกิดอาการกระดูกสันหลังยุบตัว หรือข้อมือข้อเท้าหักได้ หรือบางครั้งคนสูงอายุชอบเลี้ยงสัตว์ เช่น สุนัข แล้วเดินจูงไปจูงมา เกิดลื่นหรือหกล้มทำให้เกิดกระดูกหักได้"

          สำหรับการป้องกัน และปรับพฤติกรรมของผู้สูงอายุในขณะนี้ ควรจะต้องมีการออกกำลังกายเบา ๆ  เช่น การยืดแขนยืดขาให้สุดหลาย ๆ ครั้ง เพื่อให้การทรงตัวดีขึ้น และจะต้องรับประทานอาหารให้ครบหลัก 5 หมู่ ตามสูตร "ส่งเสริม ป้องกัน รักษาและฟื้นฟู" รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม หรือปลาเล็กปลาน้อย ผักใบเขียว กะปิ กุ้งแห้ง หรือยาแคลเซียมที่แพทย์จ่ายให้ ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนอยู่แล้ว แพทย์อาจจ่ายยาที่ช่วยเพิ่มมวลกระดูกให้ด้วย ซึ่งยาเหล่านี้ต้องรับประทานอย่างต่อเนื่องและอยู่ในการดูแลของแพทย์

          หากผู้ป่วยไม่ได้รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ประสิทธิผลของยาในการลดการหักของกระดูกไม่ได้ผลเท่าที่ควร แต่ยังมียาอีกชนิดหนึ่งเป็นยาชนิดฉีด เป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรคกระดูกพรุน ใช้ฉีดปีละ 1 ครั้งทางหลอดเลือดดำ ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องระบบทางเดินอาหาร ผู้ป่วยที่มีปัญหารับประทานยาไม่สม่ำเสมอ และผู้ป่วยที่ลำบากในการเดินทางมาตรวจกับแพทย์.


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แพทย์ชี้ผู้สูงอายุเสี่ยงกระดูกพรุนเพิ่ม ช่วงอุทกภัย อัปเดตล่าสุด 16 ธันวาคม 2556 เวลา 15:33:13
TOP