โรคฮิต เพราะผิดท่า! หมอนรองกระดูก คนไทยชักแถวเดี้ยง (เดลินิวส์)
นอกจากหวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ครึกโครมแล้ว ยุคนี้ถ้าพูดถึงโรคร้ายแรงที่หันไปทางไหนก็มักจะได้ยินข่าวคนนั้นป่วย-คนโน้นเสียชีวิต . . . ก็ยังคงเป็นมะเร็ง แต่หากจะว่ากันถึงโรคที่ร้ายแรงน้อยกว่ามะเร็ง ทว่าก็มิใช่เพียงโรคพื้นๆ โรคที่คนไทยยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะคนในเมืองวัยทำงานเป็นกันมาก โรคต่อไปนี้ก็ถือว่าติดกลุ่มอันดับต้นๆ
โรคนี้คือโรคที่เกี่ยวกับ "หมอนรองกระดูก"
บ้างก็ "เสื่อม" บ้างก็ "กดทับเส้นประสาท"
ทั้งนี้ "หมอนรองกระดูก" ก็ถือเป็นอวัยวะที่สำคัญของมนุษย์ มันคือชิ้นส่วนของร่างกายที่ทำหน้าที่ตั้งแต่รองรับน้ำหนัก ไปจนถึงรองรับแรง กระแทก โดยเป็นชิ้นส่วนที่ประกอบด้วยส่วนที่เป็นเปลือกหรือเยื่อหุ้มที่ชั้นนอก และมีส่วนที่เป็นสายหรือเส้นเนื้อเยื่อคล้ายวุ้นอยู่ด้านใน เป็นชิ้นส่วนที่อยู่ ณ ตำแหน่งระหว่างปล้อง "กระดูกสันหลัง"
ร่างกายมนุษย์เรานั้นมีโครงกระดูกเป็นโครงร่างแข็งในการค้ำจุนและการเคลื่อนไหว โดยร่างกายมนุษย์เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะมีกระดูก 206 ชิ้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มตามตำแหน่งที่อยู่ โดยที่ 126 ชิ้นจะเป็น "กระดูกระยาง" กระดูกที่ยื่นจากกระดูกแกนออกไป ได้แก่ กระดูกแขน-ขา กระดูกสะบัก กระดูกไหปลาร้า กระดูกเชิงกราน
อีก 80 ชิ้นจาก 206 ชิ้น จะเป็น "กระดูกแกน" กระดูกที่อยู่บริเวณกลางลำตัว ได้แก่ กะโหลกศีรษะ กระดูกก้นกบ กระดูกซี่โครง และรวมถึงกระดูกสันหลัง ซึ่งว่ากันเฉพาะในส่วนของกระดูกสันหลัง หนึ่งในกระดูกแกนที่สำคัญของร่างกาย จะมีหน้าที่ช่วยค้ำจุนและรองรับน้ำหนักของ ร่างกาย ประกอบด้วยกระดูกชิ้นเล็กๆ ลักษณะเป็นข้อๆ
แต่ละข้อของกระดูกสันหลังจะเชื่อมต่อกันด้วยกล้ามเนื้อและเอ็น และนอกจากนี้ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อก็จะมีแผ่นกระดูกอ่อนที่เรียกว่า "หมอนรองกระดูก" ซึ่งก็ "สำคัญ" เพราะคอยทำหน้าที่รองรับและเชื่อม ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อเ พื่อป้องกันการเสียดสีในขณะร่างกายเคลื่อนไหว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคนไทยมีปัญหาสุขภาพร่างกายจาก "หมอนรองกระดูก" กันมาก อันเนื่องจากหมอนรองกระดูกเกิดการเสื่อม การเคลื่อน การแตกหรือฉีกขาด แล้วกดทับเส้นประสาท โดยอาการที่จะเกิดขึ้นก็คือ "ปวด" ปวดหลัง ตะโพก ก้น ปวดร้าวลงสู่ขาบางข้างหรือทั้งสองข้าง ซึ่งโดยปกติหมอนรองกระดูกจะมีความแข็งแรง เพราะต้องมีหน้าที่ช่วยรองรับแรง กระแทก รองรับน้ำหนัก แต่มันก็สามารถจะเสื่อมหรือเสียหายบาดเจ็บได้ ไม่ว่าจะด้วยวัยที่สูงขึ้น หรือจากการเกิดอุบัติเหตุ แต่ในยุคปัจจุบันนั้น . . . สาเหตุมีเพิ่มมากขึ้น เสี่ยงมากขึ้น
ด้วยสภาพการใช้ชีวิต สภาพการทำงานของผู้คนในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะกับกลุ่มคนในเมืองวัยทำงาน นี่ก็อาจเป็นสาเหตุของหมอนรอง กระดูกเสื่อม-กดทับเส้นประสาทได้ง่ายๆ ซึ่งนอกจาก "เคลื่อนไหวร่างกายไม่ถูกท่า-ไม่ถูกวิธี" การ "ก้มตัวยกของหนัก" การ "ออกกำลังกาย" "นั่งทำงานนานๆ" หรือแม้แต่นั่งท่องโลกอินเทอร์เน็ตหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ ก็เป็นสาเหตุได้ !!
ทั้งนี้ กับสิ่งที่ยืนยันได้ดีว่านับวันมนุษย์รุ่นใหม่ๆ จะป่วยด้วยสาเหตุจากปัญหา "หมอนรองกระดูก" สูงมากขึ้น ก็คือการที่วงการแพทย์ต้องคิดค้นพัฒนาวิทยาการ-อุปกรณ์ใหม่ๆ ในการรักษาให้มีประสิทธิภาพสูงมากขึ้น
กับการรักษา "หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท" แนวทางใหม่ๆ นั้น นพ.ธีรศักดิ์ พื้นงาม หัวหน้าศูนย์ระบบประสาทไขสันหลัง เครือโรงพยาบาลพญาไท ให้ความรู้ความเข้าใจว่า... ปัจจุบันแพทย์จะมีเครื่องตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Spine) ช่วยในการตรวจวินิจฉัย-ตรวจหาความผิดปกติของหมอนรองกระดูกในผู้ที่มีอาการต้องสงสัย ซึ่งถ้าพบว่าสาเหตุเกิดจากหมอนรองกระดูกก็จะวางแผนการรักษา
สำหรับในการรักษาปัจจุบันก็มีพัฒนาการสูงขึ้นโดยไม่ต้องเปิดแผลผ่าตัด (Non Opening Surgery) ซึ่งมี 2 แบบคือ . . . หากมีภาวะของหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทไม่มาก สามารถรักษาด้วยรูปแบบนิวคลีโอพลาสตี (Nucleoplasty) ซึ่งจะไม่มีแผล รักษาแล้วกลับบ้านได้เลย เพราะใช้เข็มขนาด 2.5 มม. สอดเข้าในหมอนรองกระดูกที่มีปัญหา แล้วปล่อยพลังงานคลื่นวิทยุ ซึ่งจะเกิดความร้อนที่ปลายเข็ม จะสลายหมอนรองกระดูกส่วนหนึ่งออกไป
กรณีปวดหลังเรื้อรังและปวดร้าวลงขา เนื่องจากหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทไขสันหลัง จะรักษาโดยใช้กล้องขนาดจิ๋วเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 มม. หรือกล้องเอ็นโดสโคป (Endoscope) เจาะและสอดกล้องผ่านใยกล้ามเนื้อไปยังจุดที่มีปัญหา โดยใส่เครื่องมือผ่าตัดผ่านกล้องเข้าไปตัดหมอนรองกระดูกโดยตรง ไม่ต้องเลาะกล้ามเนื้อหรือตัดกระดูกสันหลัง แผลจะมีขนาดเล็กเพียง 8 มม. ผู้ป่วยจะฟื้นตัวเร็ว ระยะในการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลจะสั้น
อย่างไรก็ดี นพ.ธีรศักดิ์บอกว่า หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทนี้ เมื่อรักษาแล้วก็มีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก หากผู้ป่วยไม่ปรับพฤติกรรม ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเรื่องปวดหลัง คือ "การป้องกันไม่ให้เกิด"
"หลักสำคัญของการป้องกันคือ พยายามจัดท่าทางการทำงานหรือกิจวัตรประจำวันให้ถูกต้อง ต้องให้แนวกระดูกสันหลังอยู่ในแนวตรงเสมอ และหลีกเลี่ยงการทำอะไรที่ใช้กล้ามเนื้อหลังมากๆ รวมถึงหมั่นบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อหลังให้แข็งแรงไว้เสมอ เพราะเป็นกล้ามเนื้อที่คอยตรึงแนวกระดูกสันหลังไม่ให้เคลื่อนไหวมากเกินไป" ...หัวหน้าศูนย์ระบบประสาทไขสันหลังให้คำแนะนำที่อย่ามองข้าม
ยุคนี้ไปทางไหนก็ได้ยินคนป่วยเพราะ "หมอนรองกระดูก"
วงการแพทย์ได้ "พัฒนาวิธีการรักษา" ที่มีประสิทธิภาพสูง
แต่ก็เหมือนกับทุกโรค . . . คือ "ป้องกันไม่ให้เกิดดีที่สุด !!!"
เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ