x close

เตือนใช้ของร่วมกับคนอื่น เสี่ยงติดเชื้ออาหารเป็นพิษ


คีย์บอร์ด

 
เตือนใช้ของร่วมกับคนอื่น เสี่ยงติดเชื้ออาหารเป็นพิษ (ไทยโพสต์)

          ผลวิจัยพบว่า ข้าวของเครื่องใช้ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ คีย์บอร์ดกับเมาส์คอมพิวเตอร์ ผ้าขนหนู รถเข็นช็อปปิ้ง ไปจนถึงเก้าอี้เด็กตามร้านอาหารล้วนมีแบคทีเรีย ดังนั้นการหยิบยืมหรือใช้ของส่วนรวมจึงพึงระวังเชื้อโรคหลายชนิด เช่น เชื้ออาหารเป็นพิษให้ดี

          โดยในงานวิจัยของ London School of Hygiene and Tropical Medicine ซึ่งตีพิมพ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์ได้นำโทรศัพท์มือถือ 390 เครื่องมาเช็ดเก็บตัวอย่าง และพบว่าแทบทุกเครื่องมีแบคทีเรีย บางเครื่องมีเชื้อโรคถึง 1,000 ชนิด อาทิ เชื้อที่มีพิษรุนแรงอย่างเอ็มอาร์เอสเอ และอีโคไล ซึ่งทำให้ติดเชื้ออาหารเป็นพิษ

          ทั้งนี้ เชื้อโรคมักแพร่กระจายเพราะการปฏิบัติไม่ถูกหลักอนามัย เช่น ไม่ล้างมือหลังใช้ห้องสุขา ไอจาม อาหารไม่สะอาด และการสัมผัสมือ เมื่อเชื้อโรคอาศัยอยู่บนพื้นผิวต่าง ๆ เช่น พลาสติก ก็จะสามารถมีชีวิตอยู่ได้หลายวันหรือนานเป็นเดือน ฉะนั้น แพทย์จึงแนะนำให้ระมัดระวังในการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น ซึ่งข้าวของในชีวิตประจำวันที่ต้องใช้โดยคำนึงถึงหลักอนามัยมีหลายอย่าง

คีย์บอร์ดกับเมาส์คอมพิวเตอร์

          ก่อนไปใช้คอมพิวเตอร์ของเพื่อนร่วมงาน พึงสังวรณ์ว่ามันอาจสกปรกยิ่งกว่าโถนั่งชักโครกเสียอีก เพราะกลุ่มผู้บริโภค Which? พบว่า คีย์บอร์ดที่สำนักงานของกลุ่มในกรุงลอนดอนนั้น มีเชื้อโรคมากกว่าที่นั่งส้วมถึง 5 เท่า ส่วนเมาส์คอมพิวเตอร์ก็ไม่แตกต่างกัน นั่นเพราะงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแอริโซนาบอกว่า เมาส์มีจุลินทรีย์ 1,676 ตัวต่อพื้นที่หนึ่งตารางนิ้ว ซึ่งที่นั่งสุขายังมีเพียงเศษเสี้ยวเดียวของจำนวนที่ว่านี้

          รายงานระบุอีกว่า พนักงานออฟฟิศ 10% บอกว่า ตัวเองไม่เคยทำความสะอาดคีย์บอร์ด และ 1 ใน 5 ไม่เคยทำความสะอาดเมาส์เลย ปัญหาก็คือ พนักงานกว่าครึ่งทานมือเที่ยงบนโต๊ะทำงาน ทำให้เศษขนมปังและฝุ่นละอองตกลงไปตามซอกเมาส์ คีย์บอร์ด และเป็นแหล่งเพาะแบคทีเรียชั้นดี ดังที่นักวิจัยได้เช็ดป้ายโต๊ะทำงานและคอมพิวเตอร์ 300 ตัวในอังกฤษ พบว่า สิ่งของเหล่านี้จำนวนมากมีแบคทีเรียหลายชนิด เช่น สเตไฟโลคอคคัส ซึ่งทำให้เกิดเชื้ออาหารเป็นพิษ


ผ้าขนหนู


ผ้าขนหนู

          บางคนมักใช้ผ้าเช็ดตัวของคนอื่น ๆ ในครอบครัว แต่แพทย์แนะนำว่า เป็นนิสัยที่ควรเลิกเสีย

          "ผ้าเช็ดตัวเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคอย่างดี เพราะมักเปียกชื้น และถูกทิ้งไว้ในห้องน้ำหรือตู้ล็อกเกอร์" ดร.รอน คัตเลอร์ นักจุลชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยลอนดอนบอก

          เมื่อเราใช้ผ้าขนหนูเช็ดตัว เซลล์ผิวหนังบางส่วนจะหลุดติดไปกับผ้า กลายเป็นอาหารของแบคทีเรีย ดังนั้น ผ้าเช็ดตัวอาจเป็นพาหะของเชื้อโรคได้ทุกชนิด ตั้งแต่เชื้อหวัด ไปจนถึงไวรัสที่ทำให้เกิดหูด

          "ผ้าเช็ดตัวกับผ้าเช็ดมือไม่ควรใช้ร่วมกัน" ดร.ลิซา แอ็กเคอร์ลีย์ ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยซัลฟอร์ดในอังกฤษบอก


สบู่เหลว

อุปกรณ์จ่ายสบู่

          เมื่อต้องการล้างมือในห้องน้ำ เรามักใช้อุปกรณ์จ่ายสบู่ แต่แทนที่จะทำให้มือสะอาดขึ้น เราอาจสกปรกมากขึ้นกว่าเดิม

          เพราะงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแอริโซนา พบว่า อุปกรณ์จ่ายสบู่ราว 1 ใน 4 มีการปนเปื้อนแบคทีเรีย ตามโรงยิมต่าง ๆ มีการปนเปื้อนราว 1 ใน 3 "เมื่อคุณสัมผัสอุปกรณ์จ่ายสบู่ คุณอาจได้รับแบคทีเรียที่คนอื่นทิ้งไว้" ดร.รอน คัตเลอร์ พูด

          "ถ้าคุณล้างมือได้สะอาดหมดจน นั่นก็ไม่เป็นปัญหา แต่เรามักไม่ได้ทำอย่างนั้น บางคนจึงได้รับแบคทีเรียเมื่อแตะต้องอุปกรณ์จ่ายสบู่"


แปรงสีฟัน

แปรงสีฟัน

          บางครั้ง คนในครอบครัวหรือสามีภรรยาก็ขอยืมแปรงสีฟันกันใช้ แปรงสีฟันอาจดูสะอาด แต่ที่จริงมีแบคทีเรียอาศัยอยู่ เพราะแปรงสีฟันมักถูกเก็บไว้ในห้องน้ำ ใกล้กับสุขา การกดชักโครกอาจแพร่แบคทีเรียไปในอากาศ แล้วลอยมาติดแปรงสีฟันได้

          งานวิจัยของมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์เผยว่า แปรงสีฟันอันหนึ่งอาจมีเชื้อแบคทีเรียกว่า 100 ล้านตัว เช่น อีโคไล สเตไฟโลคอคคัส สเตปโตคอคคัส และแคนดิดา นอกจากอันตรายจากเชื้อโรคแล้ว การยืมแปรงสีฟันของคนอื่นใช้อาจทำให้เจอปัญหาช่องปากตามมาด้วย โดยเฉพาะถ้าเจ้าของมีอาการฟันผุหรือเหงือกอักเสบ คนที่ยืมใช้อาจติดเชื้อเหล่านี้

          ดร.ฟิล สเตมเมอร์ ทันตแพทย์ประจำคลินิกเฟรชเบรธเซ็นเตอร์ บอก "การใช้แปรงสีฟันร่วมกันอาจแย่กว่าการจูบเสียอีก เพราะคุณได้สอดแปรงลึกเข้าไปในปาก และขัดถูที่เหงือก"

          ทั้งนี้ ดร.ฟิล ยังแนะนำว่า ควรเก็บแปรงสีฟันไว้ในตู้ หรือใช้แปรงที่มีครอบปิด


รีโมต เชื้อโรค

รีโมตคอนโทรล

          เมื่อเข้าพักในโรงแรม ควรทำความสะอาดรีโมตทีวีก่อนใช้

          "รีโมตตามโรงแรมมีคนหยิบจับมากมายในหนึ่งสัปดาห์ อาจมีบางคนแพร่เชื้อโรคทิ้งไว้" พอล มอร์ริส ผู้เชี่ยวชาญด้านอนามัยบอก และกล่าวต่อว่า "พนักงานทำความสะอาดคงไม่ได้ใส่ใจในจุดนี้"

          รีโมตภายในบ้านก็ไม่ได้ดีไปกว่ากัน มิลตัน ผู้ผลิตน้ำยาล้างขวดนมทารก สำรวจพบว่า ผู้คนราว 55% ยอมรับว่าไม่เคยทำความสะอาดรีโมต ดังนั้นควรทำความสะอาดรีโมตเป็นประจำด้วยผ้าเช็ดฆ่าเชื้อโรค


ปากกา

ปากกา

          "ขอยืมปากกาหน่อยครับ" บางคนอาจร้องขอแม้แต่กับคนแปลกหน้า

          แต่ผลสำรวจในสหรัฐพบว่า พนักงาน 1 ใน 5 ยอมรับว่าชอบเอาปากกาอมใส่ปาก ดังนั้นแบคทีเรียจากปากอาจแพร่มายังปากกาได้ โดยจากการสำรวจพนักงาน 1,000 คนในครั้งนี้ ปากกาของนักการบัญชีมีแบคทีเรียมากที่สุด คือ 2,400 ตัว ขณะที่ของทนายความมี 670 ตัว ส่วนปากกาของนางพยาบาลห้องไอซียูกว่า 1 ใน 3 ก็มีแบคทีเรียเช่นกัน


รถเข็น

รถเข็นช็อปปิ้ง

          ดูเหมือนไม่มีอันตรายอะไร แต่งานวิจัยในสหรัฐพบว่า ในบางพื้นที่ของประเทศนั้น รถเข็นช็อปปิ้ง 80% มีเชื้ออีโคไล รวมทั้งยังมีเชื้อแบคทีเรียและไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ และโรคท้องร่วงด้วย

          "ไม่น่าแปลกใจเลย" สตีฟ ไรลีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการติดเชื้อของมิลตัน บอก "บางคนก้าวลงจากรถออกมาสู่อากาศที่หนาวเย็น แล้วจามใส่มือจับของรถเข็น"

          รถเข็นที่เสี่ยงต่อการมีเชื้อโรคที่สุด คือพวกที่ถูกเก็บไว้ในอาคารหรือมีการปกคลุม "รถเข็นที่ถูกใช้งานกลางแจ้งมักไม่มีเชื้อโรค เพราะแสงแดดได้ช่วยฆ่าเชื้อโรคแล้ว" ดร.ลิซา แอ็กเคอร์ลีย์ บอก

          ดังนั้นแล้ว เพื่อความปลอดภัย ใช้ผ้าเช็ดฆ่าเชื้อโรคทำความสะอาดมือจับของรถเข็นก่อนใช้


เด็กทานอาหาร

เก้าอี้เด็ก

          งานวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่า เก้าอี้สูงตามร้านอาหารมีแบคทีเรียมากกว่าที่นั่งชักโครกในสุขาสาธารณะเสียอีก จากการที่ทีมวิจัยได้เช็ดป้ายเก้าอี้สูงในร้านอาหาร 30 แห่งทั่วสหรัฐ พบเชื้ออีโคไล และเชื้อบางชนิดที่ทำให้ปวดท้อง

          นั่นก็เพราะเก้าอี้สูงมักเปรอะเปื้อนอาหาร สัมผัสกับผ้าอ้อมที่เปียกแฉะ และนิ้วมือของเด็ก ซึ่งอาจไม่สะอาดนัก อีกทั้งระบบภูมิคุ้มกันของเด็กมีความแข็งแกร่งน้อยกว่าของผู้ใหญ่ ดังนั้นถ้าเด็กติดเชื้อ อาการอาจย่ำแย่กว่า เช่นนั้นแล้ว เพื่อความปลอดภัย ก่อนให้ลูกหลานนั่งเก้าอี้สูงตามร้านอาหาร ควรเช็ดด้วยผ้าฆ่าเชื้อโรค


images  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

images คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เตือนใช้ของร่วมกับคนอื่น เสี่ยงติดเชื้ออาหารเป็นพิษ อัปเดตล่าสุด 16 ธันวาคม 2556 เวลา 14:36:38 4,026 อ่าน
TOP