x close

บอกลาอาการท้องผูก


ท้องผูก


บอกลาอาการท้องผูก (Health Plus)

           อึดอัด ไม่สบายท้อง ถ่ายไม่ออกอุจจาระแข็ง เชื่อว่าหลายคนคงประสบกับอาการเดียวกันนี้อยู่แน่นอน อย่าคิดว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ๆ นะคะ เพราะนอกจากรบกวนชีวิตประจำวันของคุณแล้ว ยังนำไปสู่โรคต่าง ๆ ได้ Health Plus ฉบับนี้ มีวิธีช่วยให้การขับถ่ายของคุณไหลลื่นเป็นปกติ ต่อไปจะได้สบายตัวเสียที

ท้องผูกปัญหาที่ใคร ๆ ก็เจอ

           ประมาณกันว่ามีคนกว่า 14 ล้านคนที่มีอาการท้องผูก ถ่ายอุจจาระลำบาก อุจจาระแข็ง หรืออุจจาระก้อนเล็กแข็งเหมือนขี้กระต่าย

           หลายคนเพิกเฉยกับอาการหยุมหยิมกวนใจนี้ ท้องผูกหากเป็นช่วงสั้น ๆ ก่อให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องอืด เกิดแก๊สในลำไส้ คลื่นไส้อาเจียน รู้สึกไม่ค่อยสบายตัว แต่หากเป็นเรื้อรังก็จะทำให้เป็นโรคริดสีดวงทวาร สุขภาพโดยรวมไม่ดี เนื่องจากร่างกายดูดซึมสารพิษจากอุจจาระที่อัดแน่นในลำไส้เป็นเวลานาน

           การที่ร่างกายได้รับไฟเบอร์ไม่เพียงพอเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการท้องผูก อย่างไรก็ตาม ความเครียด โรคซึมเศร้า ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง และการไปเที่ยวพักผ่อนที่ต้องเปลี่ยนสภาพแวดล้อมก็มีส่วนด้วยเช่นกัน แต่ข่าวดีคือ มีวิธีมากมายที่ช่วยป้องกันอาการท้องผูกทำให้ลำไส้ขับถ่ายเป็นปกติ

ทำอย่างไรไม่ให้ท้องผูก

           อย่าอั้นอุจจาระ เข้าห้องน้ำทันทีเมื่อรู้สึกปวดอึ มิฉะนั้นจะทำให้อุจจาระแข็งและแห้งมากขึ้น เพราะอุจจาระตกค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่

           ดื่มน้ำ ท้องผูกเป็นสัญญาณว่าร่างกายได้รับน้ำไม่เพียงพอ น้ำช่วยให้อุจจาระนิ่มขึ้น ทำให้ขับถ่ายคล่องขึ้น ฉะนั้นควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ น้ำชา และกาแฟ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะไปขับน้ำออกจากร่างกาย ร่างกายจึงสูญเสียน้ำทำให้อุจจาระแข็ง ขับถ่ายลำบาก

           กินอาหารที่มีไฟเบอร์มาก ๆ ทานผักและผลไม้มาก ๆ โดยเฉพาะลูกพรุน แอปริคอต มะเดื่อฝรั่งหรือลูกฟิก อินทผลัม กล้วย ถั่วเปลือกแข็ง โฮลเกรน ขนมปัง และซีเรียล หากคุณท้องผูกมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว ให้ดื่มน้ำลูกพรุน รับรองได้ผล แต่อย่าลืมว่าเมื่อกินอาหารที่มีไฟเบอร์มาก ๆ ก็ต้องดื่มน้ำมาก ๆ ด้วยเช่นกัน เพราะไฟเบอร์ต้องการน้ำ เพื่อทำให้อุจจาระบวมและนิ่มขึ้น จึงไหลผ่านลำไส้ออกมาได้ง่ายขึ้น แต่หากดื่มน้ำไม่เพียงพอ ไฟเบอร์ก็จะเข้าไปอุดกั้น แทนที่จะขับถ่ายได้คล่อง ก็กลับถ่ายไม่ออก

           ออกกำลังกาย การออกกำลังกายช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหารแนะให้ลุกขึ้นยืดเส้นยืดสายสัก 2-3 นาทีทุกครึ่งชั่วโมง แม้กระทั่งเวลาที่คุณนั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานหรือดูทีวี หรือให้ออกกำลังกายเบา ๆ (เช่น การเดิน) ทุกวัน วันละ 30 นาที

           ระวังการใช้ยา ยาบางชนิด รวมถึงอาหารเสริมจำพวกธาตุเหล็ก และยาแก้ปวดที่มารประกอบโคเดอีน (codeine) ทำให้การย่อยอาหารช้าลง มีผลให้เกิดอาการท้องผูก

           ระวังอาหารจำพวกข้าวสาลี กลูเทน (gluten) ในข้าวสาลีที่ผ่านกระบวนการแปรรูป ทำให้อาหารดังกล่าวย่อยยาก กินแล้วทำให้ท้องอืดและท้องผูก สำหรับคนที่มีปัญหาท้องผูก ควรกินข้าวสาลีให้น้อยลงสัก 2 สัปดาห์ เพื่อให้ระบบย่อยอาหารไม่ต้องทำงานหนัก

ท้องผูก

กินแก้ท้องผูก

           กินเมล็ดแฟล็กซ์ซีด (flaxseed) เป็นประจำทุกวัน หาซื้อได้ตามร้านจำหน่ายอาหาร เพื่อสุขภาพ เมื่อกินเข้าไปเมล็ดแฟล็กซ์ซีดจะพองตัวขึ้น และจะดูดซึมของเหลวขณะที่เมล็ด ดังกล่าวไหลผ่านทางเดินอาหาร และไปเพิ่มกากอาหารให้กับอุจจาระ อาจจะโรยเมล็ดแฟล็กซ์ซีด 1 ช้อนโต๊ะ ในซีเรียล อาหารเช้าหรือสลัดกินตอนกลางวัน

           กินอาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำพวกโปรไบโอติก (หมายถึงแบคทีเรียในสภาพที่มีชีวิต) ซึ่งช่วยให้ระบบย่อยอาหารแข็งแรง

           ยาระบายคือทางเลือกสุดท้าย เมื่อไม่มีทางเลือก ยาระบายช่วยได้ อย่างไรก็ตาม หากกินไปนาน ๆ จะก่อให้เกิดผลข้างเคียง และทำให้ลำไส้ไม่ทำงานผลคือกลายเป็นโรคท้องผูก ยาระบายช่วยได้หากกินนาน ๆ ครั้ง ยาระบายมีหลายชนิด ฉะนั้นก่อนใช้ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

           ยาระบายกระตุ้นลำไส้ (Stimutant laxatives) เช่น มะขามแขกช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อลำไส้ ทำให้มีการหดเกร็งท้อง ส่งผลให้การเคลื่อนไหวของลำไส้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยาระบายดังกล่าวมีผลข้างเคียงคืออาจทำให้เป็นตะคริวที่ท้องและท้องเสีย

           ยาระบายเพิ่มกาก (bulk-forming laxatives) เช่น รำข้าว ช่วยเพิ่มน้ำในอุจจาระ อุจจาระจึงนิ่มและขับถ่ายง่ายขึ้น ต้องกินสัก 2-3 วันจึงจะเห็นผล ยาระบายชนิดนี้เหมาะสำหรับคนที่ท้องผูกเรื้อรัง เวลากินยานี้ควรดื่มน้ำตามมาก ๆ เพื่อป้องกันการอุดกั้นลำไส้

           ยาระบายเพิ่มน้ำในลำไส้ (osmotic laxatives) เช่น lactulose ช่วยกักเก็บน้ำในลำไส้ ทำให้อุจจาระนิ่ม และถ่ายง่ายขึ้น ควรใช้ตามแพทย์สั่งโดยเฉพาะยาระบายดังกล่าวอาจมีผลข้างเคียง เช่น เกิดแก๊สในกระเพาะและปวดตะคริวที่ท้อง

สมุนไพรแก้ท้องผูก

          คูน

          ใช้เนื้อในฝักแก่ต้มใส่เกลือนิดหน่อย นำน้ำที่ต้มได้มาดื่ม แต่ระวังอย่าดื่มมากเกินไป เพราะทำให้ท้องอืดได้

          มะขาม

          นำเนื้อมะขามแก่หรือมะขามเปียก ใส่เกลือเติมน้ำคั้นดื่ม หรือจิ้มเกลือกินก็ได้

          ชุมเห็ดเทศ

          ใช้ดอกสดต้มจิ้มกินกับน้ำพริก หรือนำใบสดไปหั่นตากแห้ง แล้วนำไปต้มดื่มเป็นน้ำชาประมาณ 1 หยิบมือ

ควรไปพบแพทย์หรือไม่

          ท้องผูกเป็นอาการที่พบได้บ่อย และไม่ก่อให้เกิดอันตราย อย่างไรก็ตาม อาการท้องผูกอาจเป็นตัวบ่งชี้ถึงความผิดปกติบางอย่างที่ซ่อนอยู่ ควรไปพบแพทย์หากมีอาการท้องผูกรุนแรง หรือท้องผูกนานเกิน 2 สัปดาห์ (โดยเฉพาะในรายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปที่จู่ ๆ ก็มีอาการดังกล่าว) หรือหากอุจจาระเป็นเลือดหรือมีมูก หรือมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงหรืออาเจียน


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย

  คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

 




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บอกลาอาการท้องผูก อัปเดตล่าสุด 23 มิถุนายน 2564 เวลา 16:07:07 88,917 อ่าน
TOP