หมอนรองกระดูกเคลื่อน โรคยอดนิยมสาวออฟฟิศ (ไทยโพสต์)
"โรคปวดหลัง" เป็นโรคยอดฮิตของสังคมเมือง โดยเฉพาะคนที่ทำงานออฟฟิศ หรือคนที่ต้องอยู่ในท่าเดิม ๆ เป็นเวลานาน วงการแพทย์ใช้งบประมาณอย่างมากเพื่อทำการวิจัยและศึกษาปัญหาโรคปวดหลัง และหนึ่งในสาเหตุโรคปวดหลังที่สำคัญซึ่งคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ก็คือ "ภาวะหมอนรองกระดูกเคลื่อน"
ดร.มนต์ทณัฐ (รุจน์) โรจนาศรีรัตน์ ไคโรแพรคติกแพทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ ศูนย์การแพทย์ไคโรเมด เปิดเผยว่า หมอนรองกระดูกเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุด ส่วนหนึ่งของโครงสร้างกระดูก มีคุณสมบัติคล้ายถุงน้ำหุ้มด้วยกระดูกอ่อน (Jelly-Like-Water-Sack) ซึ่งภาวะผิดปกติของหมอนรองกระดูกอาจเกิดขึ้นได้หลาย ๆ สาเหตุ เช่น อุบัติเหตุ โรคติดเชื้อ โครงสร้างผิดปกติ และอีกมากมาย
แต่สาเหตุที่สำคัญที่สุดก็คือ ภาวะการใช้งานที่ผิดปกติ (Mechanical Malfunction) หรือการรับน้ำหนักที่มากเกินไปของหมอนรองกระดูก อันสืบเนื่องมาจากความผิดปกติของตัวโครงสร้าง หรือมาจากท่าทางที่ผิดลักษณะของเรา ไม่ว่าจะเป็น ก้ม, ยืน, ยกของ, บิดตัว, อุบัติเหตุหรือการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน และถ้าปราศจากการทำงานที่ถูกต้องของหมอนรองกระดูกแล้ว การเคลื่อนไหวของตัวข้อจะผิดปกติ ส่งผลให้เกิดแรงกดไปที่หมอนรองกระดูกมากเกินไป การถ่ายเทสารอาหารสู่ตัวข้อคงเกิดขึ้นน้อย ซึ่งนานวันเข้าจะทำให้เกิดภาวะการเสื่อมสภาพที่ผิวนอกของหมอนรองกระดูก และเกิดการเคลื่อนออกมาจากตำแหน่งปกติ ซึ่งเราเรียกภาวะนี้ว่า โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อน
ความผิดปกติของหมอนรองกระดูกนั้น สามารถส่งผลให้เกิดอาการหลายอย่าง เช่น อาการปวดหลังเฉียบพลัน อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ การปวดลงขา อาการชาต่าง ๆ ส่วนการรักษาโรคนี้มีหลายวิธี การรับประทานยา การทำกายภาพบำบัด รวมถึงการผ่าตัด แต่การรักษาในปัจจุบันยังมุ่งเน้นเพื่อการรักษาตามอาการ เพื่อลดอาการต่าง ๆ ที่คนไข้มี แต่มิได้มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เช่น ลักษณะโครงสร้างที่ผิดรูป หรือการทำงานที่ผิดปกติในเชิงชีวกลไกของตัวข้อ จึงทำให้โอกาสที่ปัญหาจะกลับมาจึงสูงอยู่มาก
ดร.มนต์ทณัฐ กล่าวอีกว่า ในปัจจุบันนี้วิทยาศาสตร์การแพทย์มีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ได้มีการคิดค้นเทคนิคในการดูแลรักษาโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนแบบไม่ต้องผ่าตัด แต่เป็นการลดการกดทับของหมอนรองกระดูก เราเรียกวิธีนี้ว่า "Spinal Decompression Therapy" ซึ่งเป็นการลดภาวะการรับน้ำหนักที่มากเกินไปของหมอนรองกระดูก และช่วยฟื้นฟูหมอนรองกระดูกให้กลับมาสู่สภาวะปกติมากที่สุด รวมถึงในเรื่องของการจัดแนวของกระดูกสันหลังให้กลับสู่สภาวะสมดุล เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ รวมถึงการพัฒนาความแข็งแรง สมดุลของกล้ามเนื้อพยุง โดยไม่ต้องผ่าตัด
"การรักษาโดยการใช้ยา มักให้ผลในการรักษาค่อนข้างเร็ว แต่ว่าฤทธิ์ในการรักษามักคงอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น อาการมักกลับมาเป็นซ้ำ นอกจากนี้การใช้ยายังมีผลข้างเคียงอีกด้วย เช่น ยาลดอาการอักเสบในกลุ่ม NSAIDS ใช้ลดอาการปวด อาจทำให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะอาหารได้ หรือยากลุ่ม Steroid (สเตอรอยด์) ก็มีผลข้างเคียงที่รุนแรงได้เช่นกันหากใช้อย่างไม่ถูกต้อง ดังนั้นการใช้ยา ไม่ว่าจะเป็นการทา รับประทาน หรือแม้กระทั่งการฉีดยาบางชนิด มักใช้เพื่อบรรเทาอาการเป็นครั้งคราว และต้องทำการรักษาควบคู่ไปกับการรักษาอื่น ๆ เพื่อรักษาที่ต้นเหตุของปัญหา" ดร.มนต์ทณัฐตอกย้ำ และแนะว่า
เพราะฉะนั้น การดูแลลักษณะการทำงานของโครงสร้างร่างกาย รวมทั้งการดูแลความแข็งแรงของกล้ามเนื้อพยุง จึงเป็นหนึ่งในวิธีการดูแลปัญหาของหมอนรองกระดูกเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิผล จากการวิจัยทางการแพทย์ในช่วงที่ผ่านมาก็จะพบว่า การเริ่มต้นดูแลและป้องกันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด สำหรับผู้ที่มีแนวโน้มจะมีอาการปวดหลัง และถ้าคิดว่าอาจมีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง และหมอนรองกระดูก ควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพราะปัญหานี้ "ป้องกันไว้ ดีกว่าแก้ไขแน่นอน"
เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก