x close

อาหารป้องกันโรคกระดูกพรุน





อาหารป้องกันโรคกระดูกพรุน (หมอชาวบ้าน)

          แหล่งแคลเซียมในอาหาร ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์นม แคลเซียมจากนมถูกดูดซึมได้ดี ผู้ใหญ่บางคนอาจไม่กล้าดื่มนมเพราะกลัวไขมันในเลือดสูง ก็สามารถเลือกดื่มนมชนิดพร่องมันเนย หรือนมขาดมันเนยได้ เด็กและวัยรุ่นควรบริโภคนมวันละ 2-3 แก้ว ส่วนผู้ใหญ่วันละ 1-2 แก้ว จะได้รับแคลเซียมประมาณร้อยละ 50 ของปริมาณแคลเซียมที่ต้องการ แล้วบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมสูงอื่น ๆ เสริมด้วย เช่น ปลา กุ้งแห้ง เต้าหู้ และผักใบเขียวที่อยู่ในตระกูลผักกาด เช่น ผักคะน้า ผักกาดเขียว ผักกวางตุ้ง เป็นต้น

          นอกจากนั้นยังสามารถดัดแปลงตำรับอาหารไทยที่มีปริมาณแคลเซียมสูง เช่น อาจเปลี่ยนแกงกะทิมาใช้นมแทนกะทิ อาหารบางตำรับ เช่น ผัดผักธรรมดา ๆ ก็อาจเติมปลาที่กินได้ทั้งกระดูกอย่างปลาป่น ปลาแห้ง ปลาไส้ตัน มื้อใดบริโภคแคลเซียมน้อย ในมื้อต่อไปก็ควรเลือกอาหารที่มีแคลเซียมสูงชดเชยได้

          อย่างไรก็ตามอาหารพวกปลาป่น ปลาแห้งมักมีรสเค็มจัด ก็ไม่ควรบริโภคปริมาณมาก โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคความดันเลือดสูง หรือโรคไต ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ เต้าฮวย เป็นแหล่งของแคลเซียมอีกแหล่งหนึ่ง แต่ในน้ำเต้าหู้มีปริมาณแคลเซียมไม่มากนัก เพราะกระบวนการทำน้ำเต้าหู้ ไม่สามารถสกัดแคลเเซียมออกจากถั่วเหลืองได้มากพอ อย่างไรก็ตาม น้ำเต้าหู้ก็ยังมีโปรตีนที่เป็นประโยชน์


          หลายคนคงจะเกิดคำถามว่า ถ้าอย่างนั้นก็ไปซื้อนมแคลเซียมสูง หรือ แคลเซียมในรูปของยามากินเลย จะได้แน่ใจว่าร่างกายได้รับแคลเซียมพอเพียง อาหารเสริมแคลเซียมก็เป็นทางเลือกหนึ่ง แต่อย่าลืมว่าของเหล่านี้ย่อมมีราคาสูงขึ้นไปด้วย ยาเม็ดแคลเซียมที่มีจำหน่ายควรมีการดูดซึมแคลเซียมดี มีสัดส่วนของธาตุแคลเซียมสูง ถ้าจะต้องกินต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น กรณีของผู้หญิงวัยก่อนหมดประจำเดือน หรือหมดประจำเดือนมาแล้วไม่เกิน 5 ปี อาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาแคลเซียมชนิดฟองฟู่ เพราะมีราคาแพง และผลการศึกษาก็บอกว่าไม่แตกต่างกับยาแคลเซียมชนิดอื่น บางรายอาจมีอาการไม่พึงประสงค์จากการกินแคลเซียมมาก ๆ เช่น ท้องผูก ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยดื่มน้ำหรือกินผักผลไม้เพิ่มขึ้น

          ธรรมชาติได้เอื้อปัจจัยหลาย ๆ อย่างให้คนไทยอยู่แล้ว อาหารตามธรรมชาติที่เป็นแหล่งแคลเซียมก็มีมากมาย แสงแดดก็อุดม อยู่ที่ว่าเราได้ดูแลสุขภาพดีพอหรือยัง เพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุนในวัยชรา เราจึงควรเสริมสร้างมวลกระดูกให้มากที่สุดในขณะเป็นเด็ก ด้วยการดูแลกินอาหารที่มีแคลเซียมสูง พร้อมกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอ วัยที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโต หากได้รับแคลเซียมร่วมกับสารอาหารอย่างอื่นที่จำเป็นอย่างครบถ้วน เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรตอย่างเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย รวมทั้งการออกกำลังกาย ก็จะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ร่างกายมีส่วนสูงเต็มศักยภาพทางพันธุกรรมของคนนั้น ๆ ด้วย


                    เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย

                            คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อาหารป้องกันโรคกระดูกพรุน อัปเดตล่าสุด 11 พฤษภาคม 2557 เวลา 10:39:49 1,732 อ่าน
TOP