x close

เส้นเลือดขอด





เส้นเลือดขอด (First Magazine)


          หลอดเลือดขอด (Varicose Veins) เป็นภาวะที่มีความผิดปกติของหลอดเลือดดำ ส่วนใหญ่หมายถึงความผิดปกติของหลอดเลือดบริเวณขา ซึ่งเป็นความผิดปกติของหลอดเลือดดำ ที่ทำให้ผู้ป่วยต้องมารับการรักษาจากแพทย์ที่พบบ่อยที่สุด

          ในหลอดเลือดดำที่ขา เลือดจะถูกลำเลียงกลับไปยังหัวใจภายใต้ความดันประมาณ 20 มิลลิเมตรปรอท โดยที่เลือดในกล้ามเนื้อขาจะเข้าไปในหลอดเลือดดำส่วนลึก ส่วนเลือดจากผิวหนังและเนื้อเยื่อที่อยู่รอบนอก จะไหลไปตามหลอดเลือดดำ เมื่อมีความผิดปกติของการรวมกันของหลอดเลือดดำที่ตำแหน่งนี้จะทำให้ เลือดย้อนลงตามหลอดเลือดดำส่วนตื้น ทำให้มีการโป่งขยายตัวของหลอดเลือดดำส่วนปลายที่เรียกว่า "ภาวะหลอดเลือดขอด"

  ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดหลอดเลือดขอด ได้แก่

           อายุที่มากขึ้น จะพบหลอดเลือดขอดได้มากกว่า 70% ของคนอายุ 70 ปีขึ้นไปจะพบหลอดเลือดขอด

           ผู้ที่มีประวัติในครอบครัว มีโอกาสเกิดหลอดเลือดขอดเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

          หลอดเลือดขอด พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

          บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยให้ประวัติว่า มีหลอดเลือดขอดเกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์ อาจเป็นผลจากการที่มีระดับของฮอร์โมนสูงขึ้น

          กลุ่มอาชีพที่ต้องยืนหรือนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน ๆ มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดหลอดเลือดขอด

          หลอดเลือดขอด พบได้บ่อยในกลุ่มผู้ที่มีน้ำหนักตัวสูงเกินค่ามาตรฐาน

          หลอดเลือดขอดพบได้ 12% ของประชากรในประเทศตะวันตก ส่วนอุบัติการณ์ ในประเทศทางตะวันออกจะต่ำกว่า ทั้งนี้อาจมีส่วนสัมพันธ์กับอาหารที่รับประทาน

          ส่วนกลไกที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดหลอดเลือดขอดยังไม่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะเป็นความผิดปกติของผนังหลอดเลือดดำหรือวาลว์ปิด-เปิดในหลอดเลือดดำเสียไป

  อาการของภาวะหลอดเลือดขอด

          ผู้ป่วยจำนวนมากมายมาพบแพทย์ เนื่องจากลักษณะที่แลเห็นจากภายนอกมองดูไม่สวยงาม  เนื่องจากมีการขอดตัวของหลอดเลือดดำส่วนตื้น โดยจะมีขนาดประมาณ 3-15 ม.ม.  มักเริ่มเป็นที่น่องโดยที่ไม่มีอาการใด ๆ ในรายที่เป็นมาก อาจมีอาการปวดล้า หรือรู้สึกเมื่อยที่ขาหลังจาการยืนนาน ๆ มักมีอาการมากขึ้นในตอนบ่ายหรือเย็น ผู้ป่วยจะรู้สึกดีเมื่อได้นอนราบและยกขาขึ้นสูง 

          หลอดเลือดขอดที่มีขนาดเล็กมาก ๆ ประมาณ 0-5 ม.ม. จะมีลักษณะเหมือนใยแมงมุม มักมีสีแดงหรือม่วง ส่วนหลอดเลือดขอดที่มีขนาดอยู่ระหว่าง 1-3 ม.ม. มักมีลักษณะเป็นเส้นสีเขียวใต้ผิวหนัง จัดเป็นหลอดเลือดขอดในระยะเริ่มต้น

          หลอดเลือดขอดที่เป็นอยู่นาน อาจเกิดปัญหาแทรกซ้อนตามมา โดยมากจะเป็นการอักเสบของตัวหลอดเลือดขอดเอง หรือบางครั้งเกิดการอุดตัน แต่พบได้น้อยมาก  และปัญหาเลือดออกมาก หลังได้รับอุบัติเหตุที่หลอดเลือดขอดขนาดใหญ่ที่อยู่ใต้ผิวหนังที่ค่อนข้างบาง ซึ่งอาจทำให้เสียเลือดในปริมาณมาก แต่สามารถแก้ไขได้ง่าย โดยให้ผู้ป่วยนอนยกขาสูงและพ้นด้วยผ้ายืดซึ่งจะช่วยหยุดเลือดได้

  การรักษาโรคหลอดเลือดขอด

          ทำได้หลายวิธี ตั้งแต่การให้คำแนะนำ การใช้ถุงน่องทางการแพทย์หรือการพันผ้ายืด การฉีดยาเข้าหลอดเลือดขอด หรือการผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของตัวหลอดเลือดขอดและอาการของผู้ป่วย แต่เบื้องต้น คุณควรหลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งประจำที่อยู่นาน ๆ ควบคุมน้ำหนักตัว และหมั่นออกกำลังกายด้วยการเดิน เพื่อเป็นการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณรอบน่อง ซึ่งจะทำให้อาการของหลอดเลือดขอดลดลง



                    เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย

                            คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เส้นเลือดขอด อัปเดตล่าสุด 9 กันยายน 2552 เวลา 17:49:47 2,533 อ่าน
TOP