x close

ตาขี้เกียจ (AMBLYOPIA)


ตาขี้เกียจ


ตาขี้เกียจ (AMBLYOPIA) (ไทยโพสต์)


         ตาขี้เกียจ (AMBLYOPIA) หมายถึง ภาวะที่ตาข้างนั้น ๆ มีสายตาไม่ดี เนื่องจากการพัฒนาด้านสายตาของข้างนั้นในวัยแรกเกิดถึงประมาณ 4-5 ขวบ ถูกขัดขวางหรือหยุดไป เนื่องจากสาเหตุทางตาและโรคตาต่าง ๆ

         ภาวะตาขี้เกียจนั้นสามารถแก้ไขให้สายตากลับคืนมาได้ ถ้าแก้ไขสาเหตุนั้น ๆ และรักษาภาวะตาขี้เกียจทันที ดังนั้น พ่อแม่ควรคำนึงถึงสภาวะนี้เพื่อจะป้องกันและแก้ไขภาวะนี้ เพื่อให้ลูก ๆ มองเห็นได้ดีเท่ากันทั้ง 2 ตาในภายหลัง

         ภาวะตาขี้เกียจมักจะเป็นข้างเดียว แต่อาจเกิด 2 ข้างได้เหมือนกัน ภาวะนี้พบค่อนข้างบ่อยประมาณ 4 ใน 100 คน จึงมีข้อแนะนำว่า เด็ก ๆ ทุกคนควรจะได้รับการตรวจสายตาโดยกุมารแพทย์ หรือจักษุแพทย์ก่อนอายุ 3 ขวบ

         การพัฒนาของสายตา ปกติทารกแรกคลอดจะสามารถเห็นได้ลาง ๆ  และจะมีการพัฒนาของสายตาโดยอาศัยแสงเข้าไปกระตุ้นจอประสาทตาให้เห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุ จนสามารถเห็นได้ชัดเท่ากับผู้ใหญ่เมื่ออายุประมาณ 2 ขวบ ดังนั้น ถ้ามีอะไรไปขัดขวางการพัฒนาของสายตา เช่น  เด็กเป็นต้อกระจกตั้งแต่กำเนิด  แสงก็ตกไปกระตุ้นจอประสาทตาไม่ได้ ทำให้ตาข้างนั้นหยุดการพัฒนาอยู่ตรงจุดจุดนั้น ทำให้สายตาของตาข้างนั้นไม่ดีเท่าอีกข้าง ก็เกิดสภาวะตาขี้เกียจขึ้น 

         ส่วนใหญ่ตาจะพัฒนาเต็มที่เมื่อเด็กอายุ 9 ขวบ และจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ถ้าอายุมากขึ้นกว่านี้ ดังนั้น ตาขี้เกียจจึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจพบและรับการรักษาโดยเร็วที่สุด

         สาเหตุและอาการ ตาขี้เกียจอาจจะเกิดจากสาเหตุใด ๆ ก็ตามที่ขัดขวางการใช้และการพัฒนาของสายตา ส่วนใหญ่ที่พบเกิดจากสาเหตุใหญ่ 3 สาเหตุ คือ

          ตาเหล่ มักจะทำให้เกิดภาวะขี้เกียจได้ง่าย เพราะตาข้างเหล่นั้นจำเป็นต้องปิดการรับภาพของข้างนั้นเพื่อกันการเห็นภาะซ้อน เมื่อปิดไปนาน ๆ ก็เหมือนกับไม่ได้ใช้ไปโดยปริยาย ตาข้างนั้นก็จะไม่มีการพัฒนาของสายตา ทำให้เกิดสภาวะตาขี้เกียจขึ้น และเด็กก็จะใช้แต่ตาตรงอยู่เรื่อย ๆ ก็จะยิ่งทำให้ภาวะนี้เป็นมากขึ้นและแก้ไขได้ยากขึ้นตามระยะเวลา

          สายตาผิดปกติ ได้แก่สายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง ในพวกนี้แสงจะไม่โฟกัสมาตกที่จอประสาทตาได้ ทำให้การพัฒนาของสายตาข้างนั้นๆ หรือ 2 ข้างเป็นไปไม่ได้ตามปกติ หรือข้างหนึ่งด้อยกว่าอีกข้างทำให้เกิดภาวะตาขี้เกียจของตาข้างนั้นขึ้น โดยไม่เห็นความผิดปกติจากภายนอกแต่อย่างไร ซึ่งทำให้ตรวจพบยากและจำเป็นต้องอาศัยการตรวจสายตาอย่างละเอียดเท่านั้น

          โรคตาบางโรค เช่น ต้อกระจกตั้งแต่กำเนิด อาจจะเป็นตาเดียวหรือ 2 ตา ก็ได้หรือโรคหนังตาตกตั้งแต่กำเนิด พวกนี้จะไปฝังไม่ให้แสงเข้าไปตกที่จอประสาทตา ทำให้การพัฒนาของสายตาไม่เป็นไปตามขั้นตอนปกติก็จะเกิดภาวะตาขี้เกียจขึ้น

         การรักษา ข้อสำคัญต้องเข้าใจว่าการรักษาสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดตาขี้เกียจดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ไม่ได้เป็นการรักษาตาขี้เกียจ เพียงแต่รักษาสาเหตุของมันก่อนเท่านั้น ส่วนตาขี้เกียจจำเป็นต้องรักษาอีกต่อไป โดยการปิดตาข้างดีนานเป็นเวลาอาทิตย์หรือเดือน ภายใต้การควบคุมของจักษุแพทย์เพื่อบังคับให้ตาข้างขี้เกียจใช้งานและฟื้นฟูสายตาข้างนั้น หลังจากนั้นยังคงต้องปิดตาข้างดีเป็นบางเวลา นานเป็นปี ๆ เพื่อคงสายตาข้างขี้เกียจนั้นให้ดีหลังจากฟื้นฟูขึ้นมาแล้ว จนกระทั่งอายุ 9 ขวบ

         ซึ่งหลังอายุนี้แล้วตาขี้เกียจอาจไม่เกิดขึ้นอีก ในกรณีที่สายตาผิดปกติเป็นสาเหตุก็ต้องแก้ไขโดยการใส่แว่นตาตามขนาดที่ควรแก้ไข ถ้าใส่แล้วสายตาไม่ดีขึ้นก็จำเป็นต้องปิดตาข้างดี  เพื่อบังคับสายตาข้างที่ขี้เกียจนั้นใช้งาน ในกรณีที่มีต้อกระจกก็จำเป็นต้องผ่าตัดลอกต้อกระจกก่อน หลังผ่าตัดก็ต้องใช้แว่นหรือคอนแทคเลนส์ แก้ไขปัญหาเรื่องสายตาและขณะเดียวกันก็ปิดตาข้างดีเพื่อแก้ไขปัญหาตาขี้เกียจ ในรายที่ปิดตาอย่างเดียวไม่เพียงพออาจจะมีการกระตุ้นประสาทตาโดยใช้เครื่องฝึกกล้ามเนื้อตา (SYNOPTOPHORE) ในระยะแรก ๆ ร่วมกับการปิดตาและฝึกตาข้างดี

         ถ้าไม่รักษาตาขี้เกียจจะเกิดปัญหาคือ ตาข้างนั้นจะขี้เกียจมากขึ้น ๆ และสายตาก็จะหยุดการพัฒนา ก็จะมีสายตาแย่ลงมากจะแก้ไขให้กลับคืนไม่ได้ คนคนนั้นแม้ดูภายนอกจะเหมือนมี 2 ตาปกติ แต่การใช้งานนั้นจะเหลือแค่ตาตาเดียวก็จะไม่มีการดูภาพเป็น 3 มิติ เหลือแต่การรับภาพ 2 มิติเท่านั้น คือขาดความลึกซึ่งเป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพบางอาชีพได้


                    เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย

                              คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตาขี้เกียจ (AMBLYOPIA) อัปเดตล่าสุด 17 กันยายน 2552 เวลา 17:17:24 2,423 อ่าน
TOP