อึ้ง! สาวอายุน้อย-สาวออฟฟิศ เสี่ยงมะเร็งเต้านมสูงขึ้น


มะเร็งเต้านม
 

ชวนหญิงไทยตรวจมะเร็งเต้านมก่อนสาย สาวออฟฟิศ-อายุต่ำกว่า30เสี่ยงเป็นสูง (ไทยโพสต์)

          พบหญิงไทยเป็นมะเร็งเต้านมอายุน้อยลงไม่ถึง 30 ปี ป่วยถึงตาย ส่วนกลุ่มอายุ 20-30 ปีพบก้อนซีสต์มากขึ้น และอาจพัฒนาการเป็นเซลล์มะเร็งได้ในอนาคต แพทย์เตือนเมื่อหน้าอกโตเต็มวัย ควรรีบมาตรวจ เพื่อความแม่นยำร่วมกับการตรวจคลำด้วยตัวเอง ระบุ กลุ่มที่มีประจำเดือนเร็วและหมดช้า หรือกลุ่มที่ไม่ผ่านการตั้งครรภ์ ไม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ รวมถึงกลุ่มที่ต้องรับฮอร์โมนวัยทอง เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมสูง

          เมื่อ "มะเร็งเต้านม" กลายเป็นภัยร้ายอันดับหนึ่งคุกคามผู้หญิงทั่วโลกแทนที่มะเร็งปากมดลูก แม้แต่ผู้หญิงไทยเองก็เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวมากขึ้น ขณะที่อายุของผู้เป็นโรคกลับน้อยลง บางรายตรวจพบในระยะร้ายแรงด้วยอายุเพียง 27 ปี ส่งผลให้กิจกรรมรณรงค์ป้องกันมะเร็งเต้านม หรือ Pink Ribbon ประจำเดือนตุลาคมของทุกปีถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่เว้นแม้แต่ที่โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ที่คิดแคมเปญ "October Go Pink" และดำเนินการมาเป็นปีที่ 3 เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักและพร้อมใจป้องกันโรคร้าย

          ทั้งนี้ พญ.สมสิริ สกลสัตยาทร กรรมการผู้จัดการและเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานเปิดงาน เผยว่า กว่า 2 ปีที่มะเร็งเต้านมกลายเป็นโรคร้ายแรงอันดับหนึ่งสำหรับผู้หญิงแทนที่มะเร็งปากมดลูก น่าตกใจว่าผู้หญิงไทยที่ป่วยเป็นโรคนี้แล้วเสียชีวิตมีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ จากเดิม 40 ปีถึงตรวจพบ แต่ปัจจุบันนี้ไม่ถึง 30 ปีก็ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านม และยังพบด้วยว่าผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปมีซีสต์ที่เต้านมมาก ในเบื้องต้นอาจเป็นแค่ก้อนแคลเซียมธรรมดา แต่ในระยะยาวมีสิทธิ์พัฒนาการเป็นมะเร็งได้จากปัจจัยเสี่ยงในชีวิตประจำวัน ที่น่าตกใจยิ่งกว่า ในกลุ่มสาวออฟฟิศมีสิทธิ์เป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าชาวบ้าน ทว่าในกลุ่มนักโทษหญิงพบว่าป่วยเป็นมะเร็งทั้งสองโรค

          "ขอแนะนำให้ผู้หญิงที่มีเต้านมโตเต็มวัย หรือมีอายุประมาณ 20 ปีขึ้นไป เข้ารับการตรวจหามะเร็งเต้านมกับสถาบันการแพทย์ ควบคู่ไปกับการตรวจด้วยตัวเอง เพราะบางครั้งการตรวจหาด้วยตัวเองอาจไม่แม่นยำพอ ซึ่งที่สมิติเวช สุขุมวิท เรามีเครื่องแมมโมแกรมตรวจมะเร็งเต้านมแบบ 3 มิติ หรือ Digital Breast Tomosynthesis ที่มีความละเอียดสูงยิ่งขึ้นกว่าเดิม และได้รับการรับรองทางการแพทย์จากสหรัฐอเมริกา" พญ.สมสิริ กล่าว

          พญ.สมสิริ อธิบายต่อด้วยว่า การตรวจหามะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมแบบ 3 มิติ เป็นการตรวจที่มีความสามารถสูงในการหามะเร็งเต้านมที่ยังมีขนาดเล็กและไม่มีอาการ โดยเครื่องจะรายงานภาพแบบซอยละเอียดทุก 1 เซนติเมตรไปในแนวเดียวกัน จนเห็นภาพแยกตามตำแหน่งจริงไม่ซ้อนกัน ต่างจากการตรวจแมมโมแกรมแบบธรรมดาที่ภาพมักซ้อนกัน ทำให้การรักษาได้ผลดี ผู้ป่วยมีโอกาสอยู่รอดมากขึ้นและนานขึ้น

มะเร็งเต้านม

          ด้าน นพ.วิชัย วาสนสิริ กล่าวถึงสาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านม พร้อมแนะนำวิธีการหลีกเลี่ยงการเกิดโรคไว้ดังนี้ว่า สาเหตุการเกิดมะเร็งเต้านมที่แท้จริงทางการแพทย์ยังไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุใดกันแน่ เราจึงมาดูในเรื่องปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงแทน อย่างไรก็ดีเมื่อวิเคราะห์ตามหลักกายวิภาคแล้ว มะเร็งเต้านมมักจะเกิดในสองส่วนด้วยกันคือ ท่อน้ำนมและกระเปาะสร้างน้ำนมที่มีเซลล์เยื่อบุอยู่ข้างใน หากเซลล์ที่ว่ามีการพัฒนาตัวเองแต่ไม่ออกนอกผนังท่อหรือผนังกระเปาะ เราเรียกว่าระยะศูนย์ แต่เมื่อไรที่ลุกลามออกข้างนอกเราจึงจะเรียกมะเร็ง

          แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมจากสมิติเวช สุขุมวิท กล่าวต่อว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้หญิงเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม มีทั้งที่เปลี่ยนแปลงได้และเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ได้แก่ 1.อายุมาก 2.กรรมพันธุ์ 3.ผู้ที่ประจำเดือนมาเร็วก่อนอายุ 12 ปี และผู้ที่ประจำเดือนหมดช้าหลังอายุ 55 ปี และ 4.กลุ่มที่ต้องให้ฮอร์โมนวัยทอง โดย 2 ประการหลังเป็นเพราะผู้หญิงสัมผัสกับฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินควร

          "ส่วนปัจจัยที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ก็คือ 1.การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะช่วยให้เต้านมผลิตฮอร์โมนโปรแลคตินมาแทนที่ฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน 2.มีบุตรคนแรกก่อนอายุ 30 ปี เพราะระหว่างตั้งครรภ์ร่างกายผู้หญิงไม่ต้องผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน 3.ไลฟ์สไตล์ที่ดี กินอาหารที่มีประโยชน์ 4.งดดื่มแอลกอฮอล์ และ 5.ฟิตแอนด์เฟิร์มด้วยการออกกำลังกาย เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนมาจากไขมัน" นพ.วิชัย ให้ความรู้ทิ้งทาย






ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อึ้ง! สาวอายุน้อย-สาวออฟฟิศ เสี่ยงมะเร็งเต้านมสูงขึ้น อัปเดตล่าสุด 19 ตุลาคม 2555 เวลา 14:55:38 7,945 อ่าน
TOP
x close