แพทย์แผนไทยจัดแถลงข่าว สมุนไพรใกล้ตัวและผักพื้นบ้านต้านโรคเบาหวาน (กลุ่มสารนิเทศและวิเทศสัมพันธ์ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก)
แพทย์แผนไทย แนะ อย่ามองข้ามสมุนไพรใกล้ตัวและผักพื้นบ้านต้านโรคเบาหวาน ย้ำไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการก่อโรค เกิดภาวะแทรกซ้อนแน่นอน พบรุนแรงถึงเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 20 คน
นายแพทย์สมชัย นิจพานิช อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมคณะร่วมแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนว่า วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี องค์การอนามัยโลก (WHO) และสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (IDF) ได้กำหนดให้เป็นวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) จากข้อมูลของสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation: IDF) พบว่า โรคเบาหวานเป็นปัญหาสาธารณสุขที่เป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 ของโรคไม่ติดเชื้อที่เป็นอันตรายถึงชีวิต โดยมีโรคแทรกซ้อนที่สำคัญจากภาวะเบาหวานซึ่งเป็นสาเหตุการตายคือ โรคไตวาย โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน บางรายประสบปัญหาตาบอด เนื่องจากจอประสาทตาเสื่อม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคนปกติถึง 25 เท่า และมีโอกาสถูกตัดขา จากแผลเนื้อตายเน่าบริเวณเท้ามากกว่าคนปกติถึง 40 เท่า
จากข้อมูลในปี พ.ศ. 2553 พบว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยเบาหวานจำนวน 285 ล้านคน และคาดการณ์ว่าอีก 20 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 438 ล้านคน ทั้งนี้ผู้ป่วย 4 ใน 5 เป็นชาวเอเชีย สำหรับในประเทศไทย จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ. 2553 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานทั้งหมด 6,855 คน หรือวันละ 19 คน คิดเป็นอัตราตายด้วยโรคเบาหวานเท่ากับ 10.8 ต่อแสนประชากร หากไม่มีการควบคุมจริงจัง คาดว่าจะมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อน 107,225 คน คิดเป็นร้อยละ 10 โดยเป็นภาวะแทรกซ้อนทางตา ร้อยละ 38.5 ไตร้อยละ 21.5 และเท้าร้อยละ 31.6 ผู้ป่วยเบาหวานเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจหลอดเลือดและสมองสูงถึง 2-4 เท่าเมื่อเทียบกับคนปกติ และมากกว่าครึ่งพบความผิดปกติของปลายประสาทและเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
นอกจากพันธุกรรมแล้ว พฤติกรรมการบริโภคอาหารเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมหรือตัดวงจรการเกิดโรคเบาหวานได้ ตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทยใช้หลักการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงสิ่งแวดล้อม ดังนั้นผักพื้นบ้านอาหารเป็นยาจึงใช้ได้กับผู้ป่วยเบาหวาน
กรณีป่วยด้วยโรคเบาหวานแพทย์แผนไทยจะแนะนำให้ใช้รสชาติอาหารเป็นยาคือ รสขม ซึ่งปัจจุบันมีนักวิชาการจากองค์กรและสถาบันต่าง ๆ ทำการศึกษาวิจัยสมุนไพรและผักพื้นบ้านของไทยพบว่าหลายชนิดมีฤทธิ์ในการลดน้ำตาลในเลือด นำมาประกอบอาหารให้กับผู้ป่วยเบาหวาน ได้แก่ ตำลึง กระเทียม กะเพรา มะระขี้นก รากเตยหอม หอมใหญ่ ผักเซียงดา อบเชย หม่อน แห้ม ช้าพลู มะแว้งต้น มะแว้งเครือ อินทนิลน้ำ กรณีต้องการความหวานสามารถใช้หญ้าหวานแทนน้ำตาลได้ และสมุนไพรเร่งการหายของแผลคือ บัวบก
สำหรับคนปกติจะมีน้ำตาลในเลือด 70-100 มิลลิกรรมต่อเดซิลิตร แต่ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีระดับน้ำตาลในเลือดเกินกว่า 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานคือ รับประทานอาหารมากเกินความต้องการ ขาดการออกกำลังกาย รับประทานอาหารไขมันสูง เครียด สิ่งที่สำคัญและไม่ควรมองข้ามสำหรับผู้ป่วยเบาหวานคือการออกกำลังกาย เช่น การเดินแทนการใช้รถ การทำความสะอาดบ้าน และเพื่อให้ได้ผลดีคนไข้ไม่รู้สึกเบื่อหน่ายในการออกกำลังกาย ก็ควรเข้าชมรมออกกำลังกายในหมู่บ้าน เช่น การรำไทเก๊ก ฤาษีดัดตน เดินกะลา โยคะ หรืออื่น ๆ หากวันไหนไม่ได้ออกกำลังกายก็ควรขยับร่างกายให้มากที่สุด เช่น การเดินในสวน การรดน้ำต้นไม้
ทั้งนี้ ผู้ป่วยเบาหวานที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 400 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ไม่ควรออกกำลังกาย แต่ถ้าอยู่ช่วง 200-400 ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ นอกจากนี้กำลังใจของผู้ป่วยเป็นเรื่องสำคัญ ลูกหลาน และผู้เกี่ยวข้องต้องคอยให้กำลังใจ เพื่อไม่ให้คนป่วยเกิดอาการเครียดและท้อแท้ โดยอาจมีกิจกรรมอื่น ๆ เช่นการทำบุญตักบาตร นั่งสมาธิ ฟังเทศน์ เพื่อให้จิตใจสงบและผ่อนคลาย รวมถึงการนวดเท้ากระตุ้นให้ระบบไหลเวียนโลหิตเลี้ยงอวัยวะส่วนปลายลดอาการชา
เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก