รู้ไหม.. ไฟจ้าหน้าจอยามค่ำคืน เพิ่มความเครียด-กระทบการจดจำ


รู้ไหม.. ไฟจ้าหน้าจอยามค่ำคืน เพิ่มความเครียด-กระทบการจดจำ

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          ปัจจุบันนี้การใช้ชีวิตอยู่เบื้องหน้าหน้าจอสว่างจ้า ไม่ว่าจะเป็นจอคอมพิวเตอร์ จอแท็บเล็ต หรือแม้กระทั่งแสงจากหน้าจอของสมาร์ทโฟนทั้งหลาย ดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องปกติเสียแล้ว และเวลาที่เราโปรดปรานจะจ้องมองหน้าจอซึ่งส่องแสงสว่างแยงตาพวกนี้มากที่สุด ก็เห็นจะเป็นยามเย็นย่ำไปถึงค่ำมืด (สังเกตจากการเคลื่อนไหว อัพเดทสถานะในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่อาทิตย์ตกดินเมื่อไหร่ หน้า new feeds รีเฟรชตัวเองแทบทุก ๆ 2-3 นาที) แต่รู้ไหมว่าแสงเหล่านี้สามารถส่งผลให้คุณเกิดอาการเครียด และมีปัญหาด้านการเรียนรู้จดจำไปโดยไม่รู้ตัว 

          ทั้งนี้ เว็บไซต์เดลิเมล (14 พฤศจิกายน) ได้รายงานผลการศึกษาทดลองของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ นำโดยศาสตราจารย์ซาเมอร์ แฮตเทอร์ ผู้เป็นนักชีววิทยา ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature ค้นพบว่า การที่สายตาของคนเราสัมผัสกับแสงสว่างจ้าเป็นช่วงเวลาที่นานเกินสมควร ไม่ว่าจะเป็นแสงไฟจากหลอดไฟในบ้าน จากจอโทรทัศน์ จากอุปกรณ์ไอทีนานาชนิด หรือจะเป็นกลุ่มที่ทำงานเป็นกะ ที่ต้องตื่นและอยู่ในออฟฟิศที่เปิดไฟสว่างตลอดทั้งคืน ส่งผลให้บุคคลผู้นั้นกลายเป็นผู้ที่มีอาการเครียดหรือซึมเศร้า ไปจนถึงมีปัญหาเรื่องการเรียนรู้จดจำ ซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการทำงานที่บกพร่องของสมอง 

          อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์แฮตเทอร์ได้สรุปผลการทดลองนี้มาจากการสังเกตหนูทดลองในห็องแล็บ (หาได้ทดลองกับมนุษย์แต่อย่างใด) ซึ่งได้แบ่งหนูออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้ใช้ชีวิตกลางวัน-กลางคืน ตามปกติ ส่วนอีกกลุ่มทำการรบกวนวงจรกลางวัน-กลางคืนของมัน ด้วยการเปิดไฟในเวลากลางคืนยาวนานกว่าปกติ พบว่ากลุ่มหลังมีพฤติกรรมและระบบประมวลผลของสมองช้ากว่ากลุ่มแรกอย่างเห็นได้ชัด หนูกลุ่มที่ถูกแสงไฟจ้าในเวลากลางคืนกลายเป็นหนูไม่มีทีท่าสนใจต่อน้ำหวานที่นำมาให้ ไม่วิ่งเล่นไปรอบ ๆ กรง ไม่สนใจของเล่นที่วางไว้ภายในกรง และยังพบว่าร่างกายพวกมันมีฮอร์โมนความเครียด หรือคอร์ติซอล อยู่สูงอีกด้วย

          ส่วนเรื่องที่ผลการทดลองนี้สามารถเชื่อมโยงมาสู่คนเราได้อย่างไร ศาสตราจารย์แฮตเทอร์ ได้อธิบายเอาไว้ว่า ในดวงตาของทั้งหนูและมนุษย์มีเซลล์พิเศษ ซึ่งเป็นเซลล์ที่ถูกกระตุ้นได้ด้วยการมองเห็นแสง  เรียกว่า "intrinsically photosensitive retinal ganglion cells" หรือ ipRGC เมื่อได้รับแสงแล้ว จะสื่อประสาทไปยังสมองส่วนระบบลิมบิก (limbic system) ซึ่งเป็นส่วนที่ทำงานเกี่ยวเนื่องกับการจัดการอารมณ์ การเรียนรู้ และความทรงจำ เมื่อถูกกระตุ้นมากเกินไปด้วยแสงไฟที่สว่างจ้าผิดเวลา จึงนำมาซึ่งการทำงานที่ขาดตกบกพร่องไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่ควร 

          ไม่เพียงแต่ผู้ที่พบแสงจ้าในเวลากลางคืน ซึ่งทำให้มีช่วงเวลาที่ดวงตาได้จ้องมองแสงสว่างนานกว่าปกติ จะพบกับปัญหานี้เท่านั้น มันยังส่งผลเช่นเดียวกันกับกลุ่มผู้คนที่ได้รับแสงสว่างน้อยกว่าปกติด้วย เช่น ผู้ที่อยู่ประเทศเขตหนาวซึ่งมีฤดูที่กลางคืนยาวนาน ก็ถูกพบว่าเป็นโรคซึมเศร้าชนิดที่เรียกว่า seasonal affective disorder นั่นเอง 

          ศาสตราจารย์แฮตเทอร์ จึงได้แนะนำว่า เหล่าบรรดามนุษย์เงินเดือนที่ทำงานออฟฟิศ ควรออกมาเดินรับแสงยามเย็นบ้างในระหว่างเดินทางกลับบ้าน และเมื่อถึงบ้านแล้วก็ให้หรี่แสงไฟในบ้านให้สบายสายตา เลือกใช้หลอดไฟที่ให้กำลังวัตต์ไม่สูงเกินไป เปิดไฟเฉพาะดวงที่จำเป็น รวมถึงลดหรือเลี่ยงที่จะใช้เวลาอยู่หน้าจอทีวี จอคอมพิวเตอร์  หรือสมาร์ทโฟน ในยามก่อนนอนด้วย เพื่อเช้าวันรุ่งขึ้นคุณจะตื่นขึ้นมาด้วยความสดใส สมองสดชื่น พร้อมที่ไปทำงานอีกหนึ่งวัน นอกจากนี้ ผู้ปกครองก็จำเป็นต้องควบคุมการใช้เวลาอยู่หน้าจอในยามก่อนนอนของบุตรหลานด้วยนะคะ อย่างน้อยก็น่าจะช่วยให้เด็ก ๆ มีสมาธิและกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ที่โรงเรียนได้เช่นกัน


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้ไหม.. ไฟจ้าหน้าจอยามค่ำคืน เพิ่มความเครียด-กระทบการจดจำ อัปเดตล่าสุด 21 พฤศจิกายน 2555 เวลา 17:49:19 1,211 อ่าน
TOP
x close