x close

4 โรคยอดฮิตของผู้หญิง จะเลือกป้องกันหรือรักษา


สุขภาพผู้หญิง 

4 โรคยอดฮิตของผู้หญิง จะเลือกป้องกันหรือรักษา (Woman Plus)
เรื่อง : อักษราภัค

          คงไม่มีใครอยากให้โรคภัยไข้เจ็บมาเยือน แต่บางโรคยากเกินกว่าจะทันรู้ตัว แต่ไม่ยากเกินไปที่จะทำความเข้าใจมัน โดยเฉพาะโรคร้ายที่ผู้หญิงมีสัดส่วนของการเกิดโรคได้มากกว่า ไม่ว่าจะเป็น มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งปากมดลูก และออฟฟิศซินโดรม ถึงแม้นวัตกรรมการรักษาในปัจจุบันจะพัฒนาไปไกล แต่ก็ยังมีผู้หญิงทั่วโลกต้องเสียชีวิตจากโรคร้ายดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการไม่รู้และอายที่จะไปตรวจ รวมถึงการใช้ชีวิตในทุก ๆ วันให้เสี่ยงต่อการเกิดโรค

          มาดูกันว่า 4 เพชฌฆาตเงียบที่ว่า มีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง และตอนนี้มีนวัตกรรมอะไรใหม่ ๆ สำหรับการป้องกันก่อนเกิดโรค และ WP ยังได้รับเกียรติจากผู้หญิงที่เคยผ่านความเจ็บปวดจากโรคดังกล่าว พร้อมข้อคิดดี ๆ ที่จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ทันว่าจะหันมาดูแลป้องกัน หรือจะรอเวลารักษา


มะเร็งเต้านม

1. มะเร็งเต้านม

          แม้จะผ่านเดือนแห่งการรณรงค์ป้องกันโรคมะเร็งเต้านมไปแล้วก็ตาม แต่ความเป็นจริง โรคร้ายชนิดนี้ก็ไม่ได้เลยผ่านหายไปกับกาลเวลา กลับมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น จนแซงมะเร็งปากมดลูกเป็นที่เรียบร้อย และจากการสำรวจอายุของผู้หญิงไทยที่เป็นมะเร็งเต้านมก็เริ่มมีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ จากที่เมื่อก่อนกลุ่มเสี่ยงคือวัย 40 ปีขึ้นไป แต่ทุกวันนี้ไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงได้ทั้งนั้น จึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมวงการแพทย์ทั่วโลกถึงให้ความสำคัญตอการพัฒนานวัตกรรมการรักษา รวมไปถึงการคัดกรองผู้ป่วยที่ทำได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ก็เพื่อที่จะได้รักษาได้ทันท่วงที

          แล้วนวัตกรรมการคัดกรองที่ว่าคืออะไรและให้ผลแม่นยำแค่ไหน ไปหาคำตอบจาก รศ.นพ.วิชัย วาสนาสิริ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท และฉบับนี้เรายังได้รับเกียรติ จากคุณไอรีล ไตรสารศรี ผู้ก่อตั้งโครงการ Art for Cancer และเคยเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ยืนหยัดเพื่อตัวเองและคนอื่น ๆ เธอจะมาบอกเล่าถึงสิ่งดี ๆ ที่เธอทำ

          รศ.นพ.วิชัย วาสนาสิริ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท มาให้ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม และนวัตกรรมของเครื่องมือแพทย์ไว้อย่างน่าสนใจว่า "ตอนนี้ผู้หญิงไทยเป็นมะเร็งเต้านมมากเป็นอันดับ 1 แซงมะเร็งปากมดลูก ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการใช้ชีวิตแบบตะวันตกมากเกินไป ถึงแม้จะเป็นโรคร้ายก็จริง แต่เราไม่ควรกลัวจนเกินไป อย่าทำชีวิตให้ยุ่งยากถึงขั้นไม่รับประทานอะไรเลย แค่รู้จักกิน รู้จักอยู่ และหมั่นตรวจเต้านมของคุณอย่างสม่ำเสมอ หากสงสัยพบหมอทันที อย่าอายหมอ ยิ่งพบเร็วยิ่งรักษาเร็วก็มีโอกาสหายขาด"

          ปัจจุบันเรามีนวัตกรรมที่ช่วยวินิจฉัยเต้านมได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้นไปอีกขั้น สามารถช่วยคัดกรองและตรวจพบสิ่งผิดปกติในระยะแรก เรียกว่าการตรวจแบบ Mammogram โดยจะใช้วิธียิงลำแสงเอกซเรย์จากด้านหนึ่ง ทะลุเต้านมไปตกบนแผ่นรับรังสีที่อยู่อีกด้าน แล้วนำรังสีที่ตกบนแผ่นรับไปสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์เรียกว่า Digital Mammogram เป็นการตรวจคัดกรองที่สามารถค้นหาก้อนเนื้อ หรือมะเร็งที่มีขนาดเล็กมาก จึงเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการวินิจฉัยมะเร็งเต้านมระยะแรก ที่ได้เป็นมาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับ

          แต่ก็ยังมีจุดอ่อนกับผู้หญิงเอเชียและผู้หญิงไทยจะมีเต้านมแบบ Dense คือ เต้านมขาว อาจมีสิ่งผิดปกติซ่อนอยู่ทำให้การตรวจยากขึ้น ทำให้เกิดนวัตกรรมล่าสุด Digital Breast Tomosynthesis ซึ่งเป็นการตรวจด้วยระบบ 3 มิติ ในการตรวจ แพทย์จะได้ภาพออกมาทั้งหมด 200 ภาพ ทำให้มองเห็นเนื้อเต้านมที่เกยซ้อนกันอยู่ได้อย่างชัดเจน และละเอียดมากขึ้น แม้ว่าเต้านมจะมีความแน่นและหนาทึบ รวมทั้งผู้ป่วยที่ผ่าตัดเสริมเต้านม แนะนำว่า ควรใช้การอัลตราซาวด์เต้านมควบคู่ไปด้วย เพราะการใช้ลำแสงเอกซเรย์อย่างเดียว หากเต้านมหนาแน่นมาก อาจบดบังการทะลุผ่านของรังสี แต่การอัลตราซาวด์ แม้เนื้อเต้านมจะแน่น ก็ยังสามารถสร้างภาพจากเสียงสะท้อนได้อยู่ จึงทำให้ได้ผลที่ชัดเจนและแม่นยำมากขึ้น

ไอรีล ไตรสารศรี ผู้ก่อตั้งโครงการ Art for Cancer และ 1 ใน 9 พรีเซนเตอร์โครงการ Beauty and the Breast

          "โครงการ Art for Cancer เกิดขึ้นจากที่ตัวเองป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านม ตอนที่รู้อายุยังน้อย กะทันหันมาก ตอนนั้นกำลังจะไปเรียนต่อต่างประเทศ ก็ตกใจ แต่ก็ต้องตั้งสติ เพราะมันเป็นเรื่องจริงที่เราต้องเผชิญหน้า เราควรจะอยู่กับปัจจุบัน และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ฟูมฟายไป เศร้าไปมันก็ไม่มีประโยชน์ ตอนนั้นก็พยายามไม่คิดอะไร หันมาดูแลสุขภาพ พยายามหาข้อมูล คุยกับคุณหมอหลาย ๆ ท่าน และก็เลือกวิธีที่ดีที่สุดสำหรับเราในการรักษา เราได้กำลังใจจากคนในครอบครัวด้วย กำลังใจอีกส่วนหนึ่งก็ต้องสร้างจากตัวเองด้วย การเป็นโรคมันก็เป็นเรื่องปกติของคนที่มันต้องเจออยู่แล้ว เราแค่ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน

          เวลานั้นเราเข้าใจความรู้สึกของคนที่เป็นโรคนี้ว่า รู้สึกยังไง แล้วก็ต้องเข้าใจว่าคนที่ต้องเผชิญต้องอาศัยกำลังใจและความเข้มแข็งแค่ไหน เราเองก็อยากใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ให้มีประโยชน์ และจะดีมากถ้ามันจะมีประโยชน์กับผู้อื่นด้วย

          โครงการ Art for Cancer จึงเริ่มขึ้น เราทำผ่านเพจบนเฟซบุ๊ก จุดประสงค์คือเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ยากไร้ สิ่งที่กระทบใจเรามากที่สุดคือ คนที่เขาป่วยถ้าเขาไม่มีเงินรักษาเขาคงจะทุกข์มาก โครงการนี้จึงรวบรวมผลงานจากศิลปินที่ส่งผลงานเข้ามา หรือว่าบุคคลทั่วไปนำมาถ่ายรูปลงแฟนเพจในเฟซบุ๊ก แล้วก็ประกาศขายให้แก่ผู้ที่สนใจมาร่วมทำบุญ รายได้ก็นำมาช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ยากไร้ จะแบ่งให้ 3 มูลนิธิ ปีหนึ่งจะบริจาค 4 ครั้ง แต่ละไตรมาสเราก็จะหาร 3 ให้กับศิริราชมูลนิธิ มูลนิธิรามาธิบดี และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ โดยระบุว่าให้นำเงินส่วนนี้ไปช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ยากไร้

          ล่าสุดในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นเดือนแห่งมะเร็งเต้านมเราก็จะมีเสื้อการกุศลของโครงการออกมา ให้ช่วยกันใส่เพื่อให้ผู้หญิงหันมาใส่ใจและไปตรวจกัน ให้เฝ้าระวังไม่ประมาท

          "เราอยากส่งพลังใจ กำลังใจ อยากให้เข้มแข็ง อยากให้คิดว่าจริง ๆ แล้วสิ่งที่เจออยู่ไม่ใช่คุณคนเดียว อยากให้มองว่า การที่เราทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรา นั่นเป็นโอกาสที่จะให้เราหันมาดูแลตัวเองมากขึ้น ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ไม่อยากให้คิดมาก ตัวเราผ่านมาได้แล้วและมีอีกหลายคนที่หายแล้ว ทุกคนก็ต้องผ่านมันให้ได้เช่นกัน"

มะเร็งปากมดลูก

2.มะเร็งปากมดลูก

          ถึงแม้ว่ามะเร็งปากมดลูกจะเป็นโรคที่ป้องกันและรักษาให้หายได้ แต่ในแต่ละวันก็ยังมีอัตราการเสียชีวิตของมะเร็งปากมดลูกสูงถึง 7 คนต่อวัน ส่วนมากผู้ป่วยที่เสียชีวิตเนื่องจากไม่ได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ เพราะอายที่จะมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อมะเร็ง กว่าจะรู้ก็อยู่ในระยะลุกลามแล้ว

          โดยทั่วไปความเสี่ยงของการติดเชื้อ HPV เกิดขึ้นง่ายอยู่แล้ว เพราะเป็นเชื้อที่ทนต่อความร้อนและความแห้งได้ดี สามารถเกาะติดตามผิวหนัง อวัยวะเพศ หรือแม้แต่กระจายอยู่รอบตัวในรูปของฝุ่นละออง ซึ่งผู้หญิงทุกคนที่เคยมีเพศสัมพันธ์ย่อมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แต่การติดเชื้อดังกล่าวก็หายเองได้ด้วยภูมิต้านทานของร่างกาย มีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่สร้างความผิดปกติให้กับเยื่อบุปากมดลูก และทำให้กลายเป็นมะเร็งในเวลาต่อมา

          ปัจจุบัน มีวัคซีนที่ฉีดเพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก แต่ก็มีระดับการป้องกันที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่มาฉีดเคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนหรือไม่ รวมถึงอายุของผู้ฉีดด้วย


สุขภาพ

3.มะเร็งรังไข่

          ถูกขนานนามว่าเป็น เพชฌฆาตเงียบที่คร่าชีวิตผู้หญิงไปแบบไม่ทันรู้ตัว ด้วยความที่รังไข่เป็นอวัยวะที่อยู่ในอุ้งเชิงกราน ไม่เหมือนเต้านม หรือปากมดลูกที่ยังแสดงอาการออกมา แต่มะเร็งรังไข่มักถูกพบในระยะที่เป็นมากแล้ว และปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นมะเร็งรังไข่ยังคล้ายกับการเกิดมะเร็งเต้านม คือ พบให้ผู้หญิงอายุมากที่ยังไม่มีบุตร มีไลฟ์สไตล์แบบตะวันตก บริโภคอาหารไขมันสูง และกรรมพันธุ์

Did You Know?

          มีงานวิจัยโดยทีมจากประเทศอังกฤษพบว่า การรับประทานยาคุมกำเนิดมีผลต่อผู้หญิง ช่วยไม่ให้เป็นมะเร็งรังไข่นาน 30 ปี หรือนานกว่านั้น แม้เลิกใช้ยาแล้วก็ตาม


ออฟฟิศซินโดรม

4.ออฟฟิศซินโดรม

          โรคยอดฮิตของหนุ่มสาวออฟฟิศที่ต้องนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือนั่งในท่าเดิมนาน ๆ จนส่งผลต่อร่างกายโดยไม่รู้ตัว ซึ่งอาการปวดโดยทั่วปจะเกิดขึ้นจากสาเหตุหลัก 3 ประการ คือ กระดูกและข้อ เส้นประสาท และกล้ามเนื้อ ซึ่งทำงานประสานกันอยู่

          โดยอาการปวดที่เกิดจากกระดูกและข้อ เวลาขยับจะมีเสียงกร็อบแกร็บ หรือเจ็บเสียวแปลบ ๆ หากอาการปวดเกิดที่เส้นประสาทจะพบว่า กล้ามเนื้อไม่ค่อยมีแรง ชา กล้ามเนื้อกระตุก ส่วนอาการที่เกิดจากกล้ามเนื้อ อาทิ อ่อนล้า เพลีย ตึง ปวดไปที่ขมับ กล้ามเนื้ออักเสบ พังผืดสั่งสมบริเวณกล้ามเนื้อ รวมไปถึงอาการปวดกล้ามเนื้อต้นคอ ร้าวไปบริเวณขมับ

           หลายคนพอทราบว่าอาการเหล่านี้ คือ ออฟฟิศซินโดรม ก็รักษาจนคิดว่าหาย แต่จริง ๆ แล้ว การไม่มีอาการไม่ได้แปลว่าหายจากอาการปวดถาวร ซึ่งหากจะให้หายปวดถาวรต้องแก้กันที่ต้นเหตุ ให้สภาพกระดูกและข้อ กล้ามเนื้อ และเส้นประสาท คืนสู่สภาวะปกติ เรียกวิธีการนี้ว่า Active Therapy

ปิตินันท์ หล่อสมิทธิกุล...พนักงานบริษัทเอกชน ผู้ที่เคยทรมานจากอาการออฟฟิศซินโดรมจนถึงขั้นเดินไม่ได้!!!

          "ด้วยงานของเราในตอนนั้น ต้องนั่งทำงานหน้าคอมเป็นเวลานาน และยังต้องใส่ส้นสูงทุกวัน แย่ยิ่งกว่านั้น คือเป็นคนไม่ออกกำลังกายแถมยังสามารถนั่งทำงานติดต่อกัน 5 ชั่วโมงไม่ลุกไปไหน ไม่แม้แต่จะลุกขึ้นมาบิดตัว ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเป็น คิดแค่ว่าเป็นอาการปวดเมื่อยตัวตามปกติ

          เหตุการณ์มันเกิดขึ้นตอนทำงานอยู่ในออฟฟิศ กำลังเดินเอาเอกสารไปให้เพื่อนอีกโต๊ะ จู่ ๆ ก็รู้สึกเหมือนกระดูกที่หลังมันดัง ก็นิ่งไปเลย พยายามถอยมานั่งบนเก้าอี้ และก็ไม่สามารถลุกได้ จนเพื่อนต้องพาไปโรงพยาบาล หมอบอกว่าเป็นกล้ามเนื้อหลังอักเสบ ก็จัดการฉีดยาแก้ปวดให้ และให้นอนนิ่ง ๆ หลังจากวันนั้นอาการเราก็เริ่มแย่ลงเรื่อย ๆ ไม่สามารถที่จะลุกได้เอง พอยาหมดฤทธิ์ปุ๊บก็ปวดอีก เดินไม่ได้ เหมือนขาหมดเรี่ยวแรง กลางคืนจะเจ็บมาก นั่งตรง ๆ จะเจ็บร้าวจนทนไม่ได้ ตัดสินใจเปลี่ยนโรงพยาบาล

          ตอนที่ไปเริ่มมีอาการชาแปลบ ๆ ที่ตัว หมอบอกว่า มีโอกาสที่จะเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ก็ลองไปอีกโรงพยาบาลหนึ่งก็ได้คำตอบเหมือนกัน ทุกครั้งที่ไปหาหมอเราต้องทำกายภาพ ใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าทำอัลตราซาวด์ เพื่อลดอาการอักเสบของกล้ามเนื้อ หมอบอกว่า สาเหตุเกิดจากการที่กล้ามเนื้อไม่มีการขยับตัว เนื่องจากการนั่งเป็นเวลานาน ๆ จนกระทั่งมันสะสมเรื่อย ๆ

          ตอนนี้เข้าเดือนที่ 7 แล้ว อาการก็ค่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังต้องทำกายภาพบำบัดอยู่ ต้องออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อหลังแข็งแรง แล้วก็ทำอัลตร้าซาวด์ ทำเลเซอร์ ทำหลาย ๆ อย่างไปพร้อม ๆ กัน เคยถามหมอเหมือนกันว่าเมื่อไรจะหาย คำตอบที่ได้รับคือ โรคนี้ถ้าเป็นแล้วจะไม่หายขาด ถ้าเราไม่ดูแลตัวเองมันก็มีโอกาสกลับมาเป็นอีก อยู่ที่ตัวคนไข้ขยันทำกายภาพไหม ดูแลตัวเองหรือเปล่า ทุกวันนี้ตื่นเช้ามาจะต้องทำท่าบริหารสัก 5 นาทีและพยายามไปว่ายน้ำอาทิตย์ละ 3 ครั้ง

          อยากจะเตือนผู้หญิงทุกคนโดยเฉพาะสาวออฟฟิศ ควรจะป้องกันดีกว่าปล่อยให้เป็นแล้วมารักษา ค่าใช้จ่ายเยอะมาก และก็ไม่หายขาด แนะนำให้กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควรให้กล้ามเนื้อได้ขยับ และอย่าใส่ส้นสูงติดต่อกันนาน ๆ เพราะเวลาใส่ส้นสูงหลังจะแอ่น สลับมาใส่ส้นเตี้ยบ้างเพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อน"


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

 คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
4 โรคยอดฮิตของผู้หญิง จะเลือกป้องกันหรือรักษา อัปเดตล่าสุด 3 มกราคม 2556 เวลา 10:31:34 3,551 อ่าน
TOP