x close

นอนกรน รักษาได้


นอนกรน

นอนกรน รักษาได้ (ธรรมลีลา)

          เรื่องการนอนกรนนั้น ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ตนเองอาจนึกไม่ถึง แต่คนข้างเคียงร้อยทั้งร้อยต่างส่งสัญญาณว่าควรแก้ไขเถอะ.....

          ปัญหาการนอนกรน เป็นความผิดปกติของการนอนหลับที่พบบ่อย สำหรับในคนไทยแล้วยังไม่ปรากฏตัวเลขแน่ชัดแต่ในต่างประเทศ ช่วงอายุ 30-35 ปี พบว่าประมาณร้อยละ 20 ของเพศชาย และร้อยละ 5 ของเพศหญิงจะมีอาการนอนกรนและเมื่ออายุมากขึ้นถึง 60 ปี ประมาณร้อยละ 60 ของเพศชาย และร้อยละ 40 ของเพศหญิงจะกรนเป็นนิสัย ซึ่งถ้าดูกันแล้วจะเห็นได้ว่าอาการนอนกรนจะเพิ่มขึ้นตามอายุ

          การนอนกรนเป็นอาการที่บ่งบอกถึงการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบน มีความสัมพันธ์โดยตรงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งเป็นภาวะที่มีการอุดกั้นในทางเดินหายใจมาก จนกระทั้งทำให้เกิดการหยุดหายใจเป็นช่วง ๆ ขณะนอนหลับ ภาวะหยุดหายในขณะหลับพบได้ประมาณร้อยละ 4 ในเพศชายและร้อยละ 2 ในเพศหญิง

อาการนอนกรนนั้น มี 2 ประเภท

          1.  อาการนอนกรนธรรมดา (ไม่มีอันตรายเพราะไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย) มีผลกระทบต่อสังคม และคุณภาพชีวิตของผู้อื่นโดยเฉพาะกับคู่นอนบุคคลอื่น ๆ ในครอบครัว เพื่อนบ้าน หรือเพื่อนร่วมงานเช่นทำให้ผู้อื่นนอนหลับยาก หรืออาจมากจนกระทั่งมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลดังกล่าวได้ เช่น อาจทำให้กิดการหย่าร้างของคู่สามีภรรยา

          2.  อาการนอนกรนอันตราย (มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย) มีผลกระทบที่สำคัญต่อสุขภาพ คือผู้ป่วยที่มีภาวะนี้จะมีอาการง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน และมีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุในท้องถนน และในโรงงานอุตสาหกรรมได้ง่าย และมีอัตราเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคอื่น ๆ หลายโรค ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคความดันโลหิตในปอดสูง โรคหลอดเลือดในสมอง ตลอดจนการมีสมรรถภาพทางเพศที่เสื่อมลง

          วิธีแก้ปัญหาอาการนอนกรนในปัจจุบันนั้น สามารถแบ่งเป็นการรักษาที่ไม่ผ่าตัดและผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาวะอาการนอนกรนของผู้นั้น

  วิธีที่ไม่ผ่าตัด

          ได้แก่ การใช้เครื่องครอบฟัน ซึ่งเป็นเครื่องมือทันตกรรมที่สวมใส่ในปากขณะนอนหลับ เพื่อป้องกันไม่ให้ลิ้นหรือเนื้อเยื่ออ่อนในลำคอตกลงไปอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ เครื่องครอบฟันบางชนิดจะยึดขากรรไกรบนและล่างเข้าด้วยกัน และสามารถเลื่อนขากรรไกรล่างไปทางด้านหน้าขณะนอนหลับ ซึ่งจะทำให้สิ้นเลื่อนตำแหน่งไปทางด้านหน้าด้วย เนื่องจากลิ้นยึดติดอยู่กับขากรรไกรล่าง ทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้นขณะนอนหลับ วิธีนี้ช่วยให้อาการนอนกรนธรรมดาหาย หรืออันตรายลดลง

  ส่วนวิธีผ่าตัด

          ได้แก่  การใช้คลื่นความถี่วิทยุ ซึ่งเป็นการนำเข็มพิเศษเข้าไปในเนื้อเยื่ออ่อน เช่น เพดานอ่อน ต่อมทอนซิล โคนลิ้นหรือเยื่อบุจมก เพื่อส่งคลื่นความถี่สูง ที่สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนให้แก่เนื้อเยื่อรอบ ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการสูญเสียสภาพและการตายของเนื้อเยื่อขึ้นภาย 1-2 เดือน หลังจากนั้นจะเกิดเนื้อเยื่อพังผืด เกิดการหด และลดประมาตรของเนื้อเยื่อ

          วิธีนี้สามารถลดขนาดเนื้อเยื่อต่าง ๆ ที่อุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น เป็นผลให้อาการนอนกรนและ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับน้อยลง ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกขึ้น วิธีนี้ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อรอบ ๆ น้อย และยังทำให้อาการปวดหรือเจ็บแผลหลังผ่าตัดน้อยด้วย สามารถทำได้โดยใช้ยาชาเฉพาะที่ ผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ผลของการลดขนาดของเนื้อเยื่อดังกล่าวจะเห็นชัดเจนใน 4-6 สัปดาห์ อาจทำซ้ำได้อีก ถ้าผลยังไม่เป็นที่น่าพอใจวิธีนี้ง่ายในการทำ ผลข้างเคียงน้อยและได้ผลดี

          อีกวิธีหนึ่งคือ การฝังพิลลาร์ (Pillar) เข้าไปในเพดานอ่อน โดยสอดแท่งเล็ก ๆ 3 แท่ง (ขนาดยาว 1.8 ซม. กว้าง 2 มม.) ซึ่งทำมาจากโพลิเอสเตอร์อันอ่อนนุ่ม ที่ใช้เป็นวัสดุทางการแพทย์ชนิดที่สามารถสอดใส่ในร่างกายมนุษย์ได้อย่างถาวร ฝังเข้าไปในเพดานอ่อนในปาก (ไม่สามารถมองเห็นจากภายนอก) ด้วยเครื่องมือช่วยการใส่ที่ได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะ โดยที่ไม่ได้ตัดหรือทำลายเนื้อเยื่อของเพดานอ่อน

          พิลลาร์จะช่วยลดการสั่นสะเทือนหรือการสะบัดตัวของเพดานอ่อน และพยุงไม่ให้เพดาอ่อนในปากปิดทางเดินหายใจได้โดยง่าย และเมื่อเวลาผ่านไปเนื้อเยื่อของเพดานอ่อนรอบ ๆ จะตอบสนองต่อแท่งพิลลาร์โดยการเกิดพังผืด ช่วยเพิ่มความแข็งแรงสมบูรณ์ทางด้านโครงสร้างของเพดานอ่อนในปากมากขึ้น ทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น หายใจได้สะดวกขึ้น และอาการนอนกรนน้อยลง โดยไม่รบกวนการพูด การกลืน หรือการทำงานปกติของเพดานอ่อน มักนิยมใช้รักษาการนอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่เป็นไม่มาก

          ข้อดีของวิธีนี้คือ อาการปวดหรือเจ็บแผลหลังผ่าตัดน้อย การรักษาจะเสร็จสมบูรณ์ในครั้งเดียว และใช้เวลาไม่นานในการผ่าตัด สามารถทำได้โดยใช้ยาเฉพาะที่ ผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล

          ว่าแต่จะรักษาด้วยวิธีใด หายหรือไม่นั้นอย่าเพิ่งกังวล ขอให้มาพบแพทย์แต่เนิ่น ๆ เพื่อทำการวินิจฉัย ตรวจหาสาเหตุของโรค ประเมินความรุนแรงและพิจารณาแนวทางรักษาที่เหมาะสม เนื่องจากหากให้การรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที จะช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ และยังทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น

          ด้วยแนวทางใหม่ในการรักษาการนอนกรน จะทำให้ผู้ป่วยมีทางเลือกและร่วมมือในการรักษามากขึ้น


                     เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย

                               คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นอนกรน รักษาได้ อัปเดตล่าสุด 7 ตุลาคม 2552 เวลา 18:45:36
TOP