x close

รู้ไหม...โบท็อกซ์ (สารพิษโบทูลินัม) มีที่มาจากไส้กรอก

 
โบท็อกซ์

ที่มาของยา...สารพิษโบทูลินัม (หมอชาวบ้าน)

โดย นพ.ประวิตร พิศาลบุตร

           ขอเล่าถึงยาตัวหนึ่งที่นำมาใช้มากมายหลายอย่าง โดยจะเริ่มตั้งแต่ประวัติการค้นพบยาตัวนี้เพื่อเป็นตัวอย่างว่า ในวงการแพทย์นั้นบางครั้งกว่าจะได้ยาตัวใหม่ ๆ มา ต้องอาศัยความรู้และความช่างสังเกตของแพทย์และนักวิจัยต่อเนื่องกันมายาวนานทีเดียว และเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ "โบท็อกซ์" แต่ชื่อที่แท้จริงคือ "สารพิษโบทูลินัม"

การค้นพบยา "สารพิษโบทูลินัม"

           เชื่อไหมว่า สารพิษโบทูลินัมนี้มีจุดเริ่มต้นมาจาก "ไส้กรอก" และแรกเริ่มนั้นไส้กรอกก็เกิดจากความมัธยัสถ์ โดยพ่อค้าเนื้อสัตว์จะเก็บเศษเนื้อ เครื่องใน เลือด และไขมัน ซึ่งเป็นส่วนที่ขายไม่ได้แต่ยังกินได้ มาในวัตถุสำหรับหุ้มห่อ ซึ่งแต่เดิมมักเป็นไส้วัว ไส้ควาย ปัจจุบันมีไส้กรอกหลายอย่าง และเกิดจากการปรุงแต่งเนื้อสัตว์ นำมาบดรวมกับเกลือ สมุนไพร เครื่องเทศ หรือส่วนผสมอื่น ๆ แล้วบรรจุเข้าไปในไส้ของสัตว์ หรือวัสดุสังเคราะห์ และเก็บรักษาไว้ด้วยกรรมวิธีที่ไม่ทำให้เน่า

           ชนชาติแรกที่ทำไส้กรอกกินเมื่อราว 3,000 ปีก่อนคริสตกาลคือชาวสุเมเรียน ในยุคอาณาจักรโรมันและกรีก มีการเฉลิมฉลองด้วยการกินไส้กรอก โดยเฉพาะในเทศกาลลูเพอร์คาเลีย (Lupercalia) ของชาวโรมันในยุคที่จักรพรรดินีโรครองราชย์ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าแห่งความรักในวันที่ 14 ถึง 15 กุมภาพันธ์ โดยก่อนมีเทศกาล 1 วันจะมีการจับฉลากของหนุ่มสาว ใครได้ชื่อใครจะได้คนคนนั้นเป็นเพื่อนร่วมเที่ยวตลอดช่วงเทศกาล จึงเป็นที่มาของการพบปะของหนุ่มสาวและเกิดความรัก

           ต่อมามีการเปลี่ยนเทศกาลนอกรีตนี้ให้มาอยู่ในคริสต์ศาสนา ชื่อจึงถูกเปลี่ยนเป็นวันวาเลนไทน์ และจัดในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ (แสดงว่าที่ให้ดอกกุหลาบแดง ให้ช็อกโกแลตกันในวันแห่งความรักยุคนี้ก็ไม่ถูกต้อง น่าจะเปลี่ยนเป็นให้ไส้กรอกหรือให้กุนเชียงกันมากกว่า)

ไส้กรอก

มีคำสั่งห้ามกินไส้กรอก

           ค.ศ.325 จักรพรรดิคอนสแตนตินซึ่งเป็นจักรพรรดิโรมันที่เป็นคริสเตียนองค์แรกได้ห้ามจัดเทศกาลลูเพอร์คาเลีย และห้ามกินไส้กรอก... ต่อมาในยุคราว 1,200 ปีที่ผ่านมา จักรพรรดิลีโอที่ 5 แห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์มีราชโองการว่า "ผู้ใดที่ทำไส้กรอกจักต้องถูกโบยจนเนื้อแตก กร้อนผมให้โล้นเลี่ยน และเนรเทศออกไปเสียจากอาณาจักรแห่งนี้ตลอดกาล"

           ท้ายที่สุดพระองค์ก็ถูกลอบปลงพระชนม์ ต่อมาจักรพรรดิลิโอที่ 6 มีคำสั่งว่าการทำไส้กรอกเลือดเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่การสั่งห้ามครั้งนี้มีเหตุมีผลที่ฟังขึ้น เพราะทรงระบุว่า "การกินไส้กรอกที่มีเลือดเป็นส่วนผสมทำให้เกิดอาหารเป็นพิษได้"

           ออตโท ฟอน บิสมาร์ก (Otto von Bismatrck) ซึ่งเป็นผู้รวมเยอรมนีกับรัสเซียเข้าด้วยกัน และสถาปนาจักรวรรดิเยอรมนีขึ้น เป็นบุคคลที่มีบทบาทอย่างมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 บิสมาร์ก เคยกล่าวว่า "อย่าไปรู้เบื้องหลังของการทำไส้กรอกและการออกกฎหมายเลย มันก็สกปรกเละเทะพอกันนั่นแหละ"

จุดกำเนิดของยา "สารพิษโบทูลินัม"

           สมัยสงครามนโปเลียนมีผู้คนพากันล้มตายจากอาหารเป็นพิษ และมักเป็นหลังกินไส้กรอก จึงเรียกกันว่า "โรคพิษจากไส้กรอก"  ผู้ที่ให้ความสนใจศึกษาเรื่องนี้คือแพทย์ชาวยอรมนี ชื่อ คุณหมอจัสทินัส เคอร์เนอร์ (Justirus Kerner) ท่านเป็นคนแรกที่สงสัยว่าพิษจากไส้กรอกนั้นน่าจะมาจากการปนเปื้อนของเชื้อโรค ซึ่งได้ทดลองให้ลองกินไส้กรอกแก่สัตว์หลายชนิด และตัวท่านก็ลองกินไส้กรอกด้วยตนเอง

           การทดลองในตัวเองนั้นในยุคก่อนพอเป็นที่ยอมรับกันได้ แต่ในปัจจุบันมักถือว่าผิดจริยธรรมทางการแพทย์ ต่อมาใน ค.ศ.1815 จัสทินัส เคอร์เนอร์ จึงรายงานว่าไส้กรอกอาจก่อพิษจนเป็นอัมพาตได้

           โรคพิษจากไส้กรอกนี้มีชื่อทางการแพทย์ว่า botulism มาจากภาษาละตินว่า botulus ที่แปลว่า ไส้กรอก

           ค.ศ.1822 คุณหมอเคอร์เนอร์ได้ตีพิมพ์งานวิจัยหลายฉบับนำเสนอว่า พิษที่สกัดจากไส้กรอกทำให้เกิดอาการอ่อนแรงและเหงื่อไม่ออก และได้เสนอว่า สารพิษตัวนี้ในปริมาณเล็กน้อยอาจใช้รักษาความผิดปกติต่าง ๆ ของระบบประสาทได้ นับว่าเป็นพยากรณ์ที่แม่นยำมาก เพราะทำนายล่วงหน้าเกือบ 200 ปี ปัจจุบันมีการนำสารพิษนี้มาใช้ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงรักษาตาเหล่ ตาเข ต่อมาจึงนำใช้กับกล้ามเนื้อบนใบหน้า ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว รอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าจะลดลง และยังนำมาฉีดรักแร้ ฝ่ามือฝ่าเท้าในผู้ที่มีเหงื่อออกมาก

           นพ.จัสทินัส เคอร์เนอร์ จึงสมควรรับชื่อว่าเป็นบิดาแห่ง "สารพิษโบทูลินัม" ที่รู้จักกันดีในยุคนี้ เพราะเยอรมนีขึ้นชื่อเรื่องไส้กรอก และสารพิษตัวนี้ก็พบในอาหารไทยเหมือนกัน นั่นคือหน่อไม้บรรจุปี๊บ

           เล่ามาค่อนข้างยาว เพราะอยากให้รู้ภาพรวมของยาบางตัวนั้นเป็นผลขององค์ความรู้และงานวิจัยที่สะสมต่อเนื่องมานานนับ 200 ปี



  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้ไหม...โบท็อกซ์ (สารพิษโบทูลินัม) มีที่มาจากไส้กรอก อัปเดตล่าสุด 25 ตุลาคม 2560 เวลา 17:47:02 1,485 อ่าน
TOP