x close

ดูแลอย่างไร? เมื่อมีผู้ป่วยจิตเวชอยู่ร่วมครอบครัว


โรคซึมเศร้า


ดูแลอย่างไร? เมื่อมีผู้ป่วยจิตเวชอยู่ร่วมครอบครัว (กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข)

          จากข้อมูลการสำรวจสถานการณ์สุขภาพจิตคนไทยในทุก ๆ 5 ปี พบว่า อุบัติการณ์ของปัญหาสุขภาพจิตจากเล็กน้อยถึงรุนแรง ประมาณร้อยละ 20 ของประชากร หรือ 1 ใน 5 คน ส่วนใหญ่เกิดในช่วงอายุ 18-25 ปี เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง โรคทางจิตเวช 5 อันดับแรกที่คนไทยป่วย คือ

          1. โรคซึมเศร้า

          2. โรคจิตเภท

          3. โรควิตกกังวล

          4. โรคจิตเวชเนื่องมาจากสารเสพติด

          5. โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว 

          จากข้อมูลเบื้องต้นในสังคมไทยจะมีผู้ป่วยด้วยโรคจิตเภทอยู่มาก ซึ่งเป็นตัวเลขที่ได้จากการที่ผู้ป่วยมาตรวจรักษากับทางโรงพยาบาลทั้งโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลจิตเวช พบมีราว 650,000 คน และมีอาการที่น่าเป็นห่วง ถึงขั้นมีอาการคลุ้มคลั่งราว 65,000 คน

โรคซึมเศร้า

          นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าเป็นเรื่องจริงในสังคมไทยที่ปัจจุบันหลายครอบครัวมีผู้ป่วยโรคจิตอาศัยอยู่ร่วมชายคาด้วย ผู้ป่วยบางรายอาการยังไม่บ่งบอกคนในครอบครัวจึงยังไม่รู้ แต่บางรายอาจมีอาการให้เห็นอย่างชัดเจน ถ้าเราเป็นญาติหรือเป็นคนในครอบครัว เราสามารถสังเกตอาการของผู้ที่มีปัญหาทางจิตเวชได้ โดยดูจากอาการผิดปกติ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เป็นคนสดใสร่าเริง เช่น นอนไม่หลับ เดินไปเดินมา มีพฤติกรรมแปลก ๆ เช่น พูดคนเดียว หวาดระแวง เก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร นั่งนิ่งเป็นหิน ไม่เคลื่อนไหวและไม่พูดจาใด ๆ เป็นชั่วโมง ๆ หรืออาจเคลื่อนไหวช้า หรืออาจมีอาการประสาทหลอน คิดว่ามีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้น เช่น ได้ยินเสียงคนมาสั่งให้ตนทำโน่นทำนี่ ได้ยินคนมาพูดคุยกับตน มาเตือน หรือมาตำหนิในเรื่องต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่ความจริงไม่มีคนพูดหรือไม่มีต้นกำเนิดเสียงเหล่านี้เลย 

          ผู้ป่วยจะไม่สามารถคิดแบบมีเหตุมีผลได้อย่างต่อเนื่อง พูดคุยกับคนอื่นไม่ค่อยเข้าใจ ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยถูกแยกให้อยู่คนเดียว บางครั้งมีการแสดงทางอารมณ์ที่ไม่เหมาะสม มีอารมณ์แปรปรวนง่าย บ่นอยากตาย เหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณว่าเขาน่าจะมีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตเกิดขึ้นแล้ว และควรพาไปพบจิตแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาทันที

          ปัญหาของผู้ป่วยโรคจิตที่อาจพบได้ คือการแสดงพฤติกรรมรุนแรง หรือมีความเสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรงทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น หรือทำลายทรัพย์สิน ทั้งในระหว่างอยู่ในครอบครัวชุมชน หรือขณะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งพบว่าผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมรุนแรงจะเป็นผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต เนื่องจากอาการทางจิตมักเป็นความรุนแรงระดับสูง ทำให้สังคมปฏิเสธ หรือหวาดกลัวต่อการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยเหล่านั้น

โรคซึมเศร้า

          ญาติหรือผู้ดูแลจึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และต้องเฝ้าระวังอย่าให้มีการกระตุ้นอารมณ์หรือความคิดของผู้ป่วยจนขาดการควบคุมตนเอง หากมีความรู้ ทักษะในการประเมินอาการ สัญญาณเตือนความเสี่ยงและสามารถจัดการพฤติกรรมรุนแรงเบื้องต้นของผู้ป่วยขณะอยู่บ้านหรือในชุมชนได้ ก็จะช่วยลดพฤติกรรมรุนแรงของผู้ป่วยจิตเวช และเป็นการปกป้องครอบครัวและชุมชนให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น และช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ ผู้ป่วย ญาติ และผู้ดูแลมีความปลอดภัย
              
          อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวอีกว่า ผู้ป่วยโรคจิตเป็นผู้ที่มีความผิดปกติด้านความคิดและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง จำเป็นต้องได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นและต่อเนื่องเพื่อป้องกันอาการกำเริบ ถึงแม้จะได้รับการรักษาจนมีอาการดีขึ้น แต่มักจะมีอาการหลงเหลือและมีความสามารถถดถอยมากน้อยแตกต่างกันไปตามความเสื่อมที่มาจากพยาธิสภาพ ผู้ป่วยเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งด้านร่างกาย สังคมจิตใจ และอาชีพ เพื่อเพิ่มความสามารถในการดูแลตนเอง และดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป 
                       

          นอกเหนือจากการรักษาแล้ว สังคมหรือคนปกติทั่วไปควรมีมุมมองหรือทัศนคติที่ถูกต้องต่อผู้ป่วย รวมถึงการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อช่วยสนับสนุนให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ในสังคมอย่างปกติสุข เพื่อป้องกันไม่ให้เราต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต หรือโรคทางจิตเวช จึงควรฝึกสำรวจจิตใจตนเอง โดยหมั่นทำความเข้าใจอารมณ์ของตนเอง รู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น ยอมรับความเครียดที่เกิดขึ้น และหาวิธีจัดการกับความเครียดนั้น รวมถึงการพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ขอคำแนะนำ เพื่อป้องกันไม่ให้ความเครียดส่งผลกระทบต่อโรคทางกาย และเพื่อป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตใจซ้ำเติมอีกด้วย

          "ปัจจุบันประเทศไทยของเราได้มี พ.ร.บ.สุขภาพจิตเมื่อปี 2551 สำหรับดูแลผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งครอบคลุมถึงการดูแลผู้ป่วยจิตเภทและคนวิกลจริตที่เพิ่มมากขึ้น หากพบเห็นผู้ที่มีอาการทางจิตที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสาธารณะ สามารถแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ให้นำส่งโรงพยาบาลได้ทันที เพื่อให้โรงพยาบาลรักษาตามขั้นตอนต่อไป โดยไม่ต้องกลัวความผิดจากญาติของผู้นั้นจะมาฟ้องร้อง แต่ต้องสังเกตว่าคน ๆ นั้นเป็นเพียงคนเร่ร่อนที่แค่เนื้อตัวสกปรก หรือเป็นคนวิกลจริต เพราะส่วนใหญ่ที่พบมักเป็นเพียงคนเร่ร่อน ซึ่งจะมีพ.ร.บ.ขอทาน เป็นกฎหมายควบคุมดูแล ภายใต้การกำกับของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์" อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวปิดท้าย


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ดูแลอย่างไร? เมื่อมีผู้ป่วยจิตเวชอยู่ร่วมครอบครัว อัปเดตล่าสุด 26 ธันวาคม 2566 เวลา 16:45:27 20,265 อ่าน
TOP