x close

มะเร็งลำไส้ ท้องไส้ปั่นป่วนระวัง

มะเร็งลำไส้
มะเร็งลำไส้


ท้องไส้ปั่นป่วนสัญญาณเตือนโรคร้าย (เดลินิวส์)

          เมื่อย่างเข้าสู่วัย 50 ปี แล้วมักมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูกสลับกับท้องเสีย จำนวนครั้งในการขับถ่ายอุจจาระแปรปรวน ลักษณะของอุจจาระเปลี่ยนแปลงไป โดยมีเลือดปน สีคล้ำ และมีมูกปน รวมทั้งรู้สึกปวดเกร็งช่วงท้องน้อย อ่อนเพลีย น้ำหนักลด และโลหิตจาง... หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรื้อรัง แม้จะรักษาอาการเบื้องต้นด้วยตัวเอง โดยการรับประทานยาแล้วก็ยังไม่หาย อาจเป็นการส่งสัญญาณเตือนภัยสุขภาพให้ทราบว่า ลำไส้กำลังมีปัญหา และเป็นไปได้ว่ามี มะเร็งลำไส้ มาเยือน!

          หากย้อนคิดเพื่อหาสาเหตุให้เกิดโรคจะพบว่า ความนิยมรับประทานอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ไขมันสูง ในปริมาณมากกว่าอาหารที่มีกากใย เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด มะเร็งลำไส้ การเน้นรับประทานอาหารชนิดดังกล่าว จะส่งผลให้เซลล์ในเยื่อบุลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงเติบโตผิดปกติ เกิดติ่งเนื้อขนาดเล็ก นานวันเข้าติ่งเนื้อนั้นก็จะเปลี่ยนสภาพเป็นเซลล์มะเร็ง และปัจจุบันมะเร็งชนิดนี้เป็นสาเหตุให้คนไทยเสียชีวิตในอันดับ 4

          ถ้าป่วยเป็น มะเร็งลำไส้ สามารถรักษาได้โดยการผ่าตัด แพทย์จะตัดลำไส้บริเวณที่มีเซลล์มะเร็งออก และเชื่อมต่อส่วนที่ไม่มีเซลล์ มะเร็งเข้าด้วยกัน และเกิดขึ้นใกล้ทวารหนัก แพทย์อาจใช้วิธีเย็บปิดทวารหนักเดิม แล้วทวารเทียมขึ้นบริเวณหน้าท้องไว้ใช้ขับถ่ายอุจจาระแทน หากไม่ผ่าตัด ยังมีวิธีรักษาโดยรังสี และเคมีบำบัด จะเป็นวิธีเดียวหรือหลายวิธีร่วมกันขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

          สำหรับการตรวจวินิจฉัย มะเร็งลำไส้ นับเป็นความยากลำบากอีกจุดหนึ่งในการตรวจวินิจฉัยและรักษา เนื่องจากลำไส้จัดเป็นอวัยวะหนึ่งที่มีการเคลื่อนไหว…ด้วยเหตุนี้นวัตกรรมทางการแพทย์ที่ก้าวล้ำ จึงไม่ทำให้ใครผิดหวัง

          เริ่มจากขั้นตอนการตรวจด้วย เครื่องเพท-ซีที (Pet-Ct : Position Emission Tomography / Computer Tomography) สามารถเอกซเรย์อวัยวะภายในร่างกาย โดยสร้างภาพตัดขวางพร้อมกันครั้งละ 64 ภาพ ต่อการหมุน 1 รอบ ด้วยความเร็ว 0.33 วินาที ทั้งยังให้ความละเอียดทั้ง 2 มิติ และ 3 มิติ

          เครื่องเพท-ซีที ตรวจหาความผิดปกติในระดับโมเลกุลของเซลล์ร่างกาย ที่เปลี่ยนสภาพเป็นมะเร็ง โดยสามารถระบุตำแหน่ง ระยะ และทิศทางการลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยและวางแผนการรักษาได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว

          มาถึงการรักษาโดยการฉายรังสีจากภายนอกร่างกายของเครื่องไอจีอาร์ที (IGRT : Image Guided Radiation Therapy) ด้วยการใช้ระบบภาพนำร่องจาก Cone Beam CT เพื่อตรวจหาตำแหน่งที่แท้จริงของก้อนมะเร็งในขณะนั้น เนื่องจากก้อนมะเร็งมักมีการเคลื่อนที่ตามอวัยวะ เช่น จากการหายใจ การย่อยอาหาร ปริมาณปัสสาวะ หรือน้ำหนักตัวที่ลดลง เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อตำแหน่งของก้อนมะเร็ง ดังนั้นเครื่องฉายรังสีชนิดนี้ จึงทำหน้าที่ฉายภาพนำร่องเพื่อให้แพทย์กำหนด ตำแหน่งที่ชัดเจนที่สุดก่อนการฉายรังสีทำลายเซลล์มะเร็ง ไอจีอาร์ที โดยมีอัตราคลาดเคลื่อนเพียง 0.5-1 มิลลิเมตร จึงช่วยลดการเกิดผลกระทบต่อเนื้อเยื่อปกติรอบเซลล์มะเร็ง และทำให้ผู้ป่วยฟื้นสภาพได้เร็วขึ้น

          ส่วนการป้องกัน มะเร็งลำไส้ ในเบื้องต้น ควรปรับพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร เน้นผักและผลไม้ ในการตรวจร่างกายทุก ๆ ปี ให้ตรวจหาเลือดตกค้างในอุจจาระ ส่วนการส่องกล้องเช็คลำไส้ใหญ่ควรตรวจทุก ๆ 5 ปี โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป.




ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มะเร็งลำไส้ ท้องไส้ปั่นป่วนระวัง อัปเดตล่าสุด 14 ตุลาคม 2552 เวลา 13:39:21 1,675 อ่าน
TOP