x close

แพทย์ เผย พบคนอายุน้อย ป่วยพาร์กินสันเพิ่มขึ้น


โรคพาร์กินสัน 

พบพาร์กินสันคนอายุน้อยเพิ่มขึ้น (ไทยโพสต์)

          แพทย์เผยพบผู้ป่วยโรคพาร์กินสันอายุน้อยเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความเข้าใจและเข้าถึงการรักษามากขึ้นนั่นเอง ระบุ 20% เกิดจากกรรมพันธุ์ 80% เกิดจากปัจจัยเสี่ยงด้านอายุ แนะออกกำลังกายลดโรค นักวิจัยเผยกว่า 75% เกิดอาการตอนกลางคืน รุนแรงถึงขั้นหยุดหายใจ  
   
          รศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์พาร์กินสัน รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า โรคพาร์กินสัน หรือที่คนไทยเรียกว่า โรคสันนิบาต เกิดจากระบบประสาทส่วนกลางบริเวณก้านสมองเสื่อม ซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหว ทำให้ผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวร่างกายช้าลงในระยะเริ่มต้น 100 ทั้ง 100 ของผู้ป่วย ก่อนจะเคลื่อนไหวเร็วขึ้นในลักษณะของคนที่ไม่สามารถควบคุมจังหวะได้ แข็งเกร็ง และภาวะสั่นข้างเดียว แต่ไม่จำเป็นว่าต้องเกิดขึ้นในผู้ป่วยทุกราย ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งซ้ำ ๆ นอกจากนี้ยังพบว่ามีการอาการท้องผูก มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ ความรุนแรงของโรคจะเพิ่มขึ้นตามอายุของผู้ป่วย
   
          ทั้งนี้ โรคพาร์กินสันเกิดจากกรรมพันธุ์ 20% ส่วนที่เหลืออีก 80% ต้องยอมรับว่าไม่ทราบสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยงคืออายุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจะมีอัตราการเกิดอยู่ที่ 1 ต่อ 100 ประชากร เป็นในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย และยังพบว่าเกิดในคนที่อายุน้อยได้เช่นกัน โดยจากสถิติพบว่า 8.1% เกิดในคนที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี หรือคิดเป็น 1 ใน 10 ของผู้ป่วยทั้งหมด และในอนาคตยังมีแนวโน้มว่าอัตราการเกิดโรคนี้จะมากขึ้นด้วย

         
ทั้งนี้ การที่พบว่าโรคดังกล่าวเกิดขึ้นในคนอายุน้อยนั้น เป็นเพราะเกิดความเข้าใจในอาการของโรคมากขึ้น เข้าถึงการรักษามากขึ้น ยังมีปัจจัยเสี่ยงอีกตัวมาจากการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชเป็นระยะเวลานานต่อเนื่อง และกรณีที่ศีรษะได้รับการกระแทก

          "คนไข้พาร์กินสันที่อายุน้อยประมาณ 20 กว่าปี ส่วนใหญ่จะมาด้วยเรื่องไหล่ติด กล้ามเนื้อเกร็ง แต่จากการรวบรวมข้อมูลพบว่าคนไข้จะถูกวินิจฉัยและเสียเวลาไปกับการรักษาโรคอื่น ๆ เช่น โรคเกี่ยวกับกระดูกนานถึง 2 ปี" รศ.นพ.รุ่งโรจน์กล่าว และว่า "ถ้าไม่อยากจะเป็นโรคที่เกี่ยวกับสมองก็ต้องหมั่นออกกำลังกาย อย่างน้อยก็ตั้งแต่อายุ 35 ปี และถ้าไม่อยากเป็นโรคที่เกี่ยวกับความจำก็ต้องหมั่นคิด"
   
พาร์กินสัน

          ด้าน นพ.พาวุฒิ เมฆวิชัย หน่วยประสาทวิทยา กลุ่มงานอายุรกรรม รพ.นครราชสีมา ผู้ทำการวิจัยปัญหาอาการพาร์กินสันตอนกลางคืน กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน 300 ราย เป็นระยะเวลา 600 เดือน พบว่าประมาณ 74.3% จะมีอาการตอนกลางคืน ในจำนวนนี้ 50% มีปัญหาตื่นขึ้นมาปัสสาวะบ่อยประมาณ 4-6 ครั้ง 40% นอนกรน บางครั้งหยุดหายใจ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่อันตรายมาก ในบางรายพบว่านอนละเมอ จนบางครั้งเผลอทำร้ายตัวเองหรือคนรอบข้างโดยไม่รู้ตัว และ 30.7% นอนหลับไม่สนิท เพลียในตอนเช้า หรือสั่น ตัวเกร็ง ปวดแขน-ขา เคลื่อนไหวช้า

          "โรคพาร์กินสันที่มีอาการตอนกลางคืนนั้น ผู้ดูแลมีส่วนสำคัญมากในการรักษาด้วย เพราะบางครั้งการที่ผู้ป่วยมีอาการอาจจะเป็นเพราะยาหมดฤทธิ์ จำเป็นต้องได้รับเพิ่ม นอกจากนี้ยังต้องคอยสังเกตและบันทึกอาการของผู้ป่วยด้วย เพื่อที่จะได้อธิบายให้หมอฟัง ซึ่งจะได้แนะนำวิธีการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมกับระยะของโรคได้" นพ.พาวุฒิกล่าว




ขอขอบคุณข้อมูลจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แพทย์ เผย พบคนอายุน้อย ป่วยพาร์กินสันเพิ่มขึ้น อัปเดตล่าสุด 8 มีนาคม 2556 เวลา 10:06:51 13,165 อ่าน
TOP