สารพันประโยชน์ของหลากสีสันในอาหาร



Colour in your food (MODERNMOM)
เรื่อง : มะขามเปียก

          สีสัน มักจะถูกนำมาใช้ในการแทนอารมณ์ในงานศิลปะ ส่งให้ผู้ชมดูภาพแล้วรู้สึกอย่างไร สีฟ้า เขียว ที่มักปรากฏในภาพวิวธรรมชาติ ก็จะทำให้คุณรู้สึกถึงความเย็น ความสงบ หรือสีแดง ส้ม เหลือง ที่จะทำให้รู้สึกถึงความร้อนแรง แต่สำหรับสีสันในอาหารนั้น จะบ่งบอกถึงอะไร และควรเลือกกินอย่างไร มาดูกันค่ะ

สีสันในอาหารบอกอะไร

          สีที่เห็นผักและผลไม้นั้น แสดงให้เห็นถึงพฤกษเคมีธรรมชาติที่มีอยู่ในผักผลไม้ เช่น เบต้าแคโรทีน ไลโคปีน ซิลิเนียม วิตามินอี ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) ที่ยับยั้งการเสื่อมสภาพของเซลล์ ช่วยต่อต้านมะเร็ง เพิ่มระบบภูมิคุ้มกันโรค ไขมันต่ำ อุดมด้วยวิตามินและเกลือแร่ เช่น วิตามินซี โฟเลต ธาตุเหล็ก โพแทสเซียม และเส้นใยอาหาร ช่วยป้องกันโรคลดอาการท้องผูก


ผลไม้สีแดง

1. สีแดง

          ผักผลไม้ต่าง ๆ ที่มีสีแดง จะมีไลโคปีน วิตามินซี ธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็ง ชะลอความเสื่อมของเซลล์ และช่วยลดปริมาณไขมัน LDL ในเลือด ทำให้ลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด

          Red Food : มะเขือเทศ พริกแดง แตงโม สตรอว์เบอร์รี มะเขือเทศ พริกแดง แตงโม กระเจี๊ยบแดง บีทรูท เชอร์รี เมล็ดทับทิม หอมแดง


ผลไม้สีส้ม

2. สีเหลือง-ส้ม

          สำหรับผักผลไม้สีส้มเหลืองจะอุดมไปด้วยเบต้าแคโรทีนและวิตามินเอ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชั้นยอด ลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง ช่วยบำรุงสายตา ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อกระจก บำรุงกระดูก ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ลดความเสี่ยงการเกิดหลอดเลือดสมองตีบตัน และช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

          Orange Food : แครอท ขนุน ลูกพลับ สับปะรด มะนาว มะยม มะม่วงสุก มะละกอสุก ทุเรียน ขมิ้นชัน เสาวรส ฟักทอง ส้มเขียวหวาน ลูกพีช แอปริคอต ข้าวโพด พริกเหลือง


ผลไม้สีขาว

3. สีขาว

          มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีใยอาหารสูง แร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น กำมะถันที่ได้รับจากกระเทียมและหอมหัวใหญ่จะช่วยบำรุงผมและเล็บให้แข็งแรง ส่วนวิตามินซีจากหัวไชเท้า และผลไม้ต่าง ๆ ในธัญพืชที่ส่วนใหญ่มีสีขาว จะอุดมไปด้วยโปรตีน และเส้นใยอาหาร

          White Food : ไชเท้า กระเทียม ผักกาดขาว หอมหัวใหญ่ กล้วย สาลี่ พุทรา ลางสาด ลองกอง เงาะ ลิ้นจี่ ลูกเดือย ขิง ข่า งาขาว เนื้อแอปเปิล เนื้อฝรั่ง หน่อไม้ แห้ว ละมุด


ผักสีเขียว

4. สีเขียว

          ผักผลไม้ส่วนใหญ่ที่นิยมบริโภคมักจะมีสีเขียวต่าง ๆ เช่น สีเขียวเข้ม เขียวอ่อน เขียวปนเหลือง และเขียวขาว ซึ่งมีสารอาหารสำคัญ เช่น คลอโรฟิลล์ โพแทสเซียม เบต้าแคโรทีน ลูทีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันการเสื่อมของร่างกาย ช่วยในการมองเห็นให้มีประสิทธิภาพที่ดี และมีใยอาหารสูง

          Green Food : ชะอม ผักคะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง ผักโขม ผักปวยเล้ง ผักกาดหอม แตงกวาทั้งเปลือก ถั่วแขก ถั่วลันเตา ผักกาดเขียว บวบ ถั่วฝักยาว หน่อไม้ฝรั่ง ใบชะพลู ใบทองหลาง ใบย่านาง สะตอ ขึ้นฉ่าย กุยช่าย ตั้งโอ๋

ผักสีม่วง

5. สีม่วง

          อาหารที่มีสีน้ำเงินและสีม่วง จะมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยมีสารประกอบของแอนโธไซยานิน (Anthocyanin) ช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกาย ช่วยขยายเส้นเลือดลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดอุดตัน ชะลอความเสื่อมของดวงตา บำรุงสมอง

          Purple Food : กะหล่ำปลีม่วง มันสีม่วง องุ่นแดง ชมพู่มะเหมี่ยว ชมพู่แดงอื่น ๆ ลูกหว้า ลูกไหน ลูกพรุน ลูกเกด ข้าวแดง ข้าวนิล ข้าวเหนียวดำ ถั่วแดงและถั่วดำ มะเขือม่วง หอมแดง หอมหัวใหญ่สีม่วง ราสป์เบอร์รี บลูเบอร์รี ลูกหม่อน (มัลเบอร์รี) ดอกอัญชัน เผือก ดอกกระเจี๊ยบ

          ที่สำคัญควรกินอาหารให้หลากหลายสี ไม่ไปหนักที่สีใดเกินไป เพื่อความสมดุลของสารอาหารที่จะได้รับนะคะ ว่าแล้วอย่าลืมดูจานอาหารของคุณด้วยว่าวันนี้กินอาหารไปครบทุกสีหรือยัง





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สารพันประโยชน์ของหลากสีสันในอาหาร อัปเดตล่าสุด 28 พฤศจิกายน 2556 เวลา 15:34:20 14,076 อ่าน
TOP
x close