x close

ผู้หญิง หัวล้าน

หัวล้าน

ผู้หญิง \'หัวล้าน\'
(เดลินิวส์)

          เวลาพูดถึงคนศีรษะล้าน หรือ "หัวล้าน" เรามักจะพุ่งเป้าไปที่ผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ แต่ใครจะรู้บ้างว่า ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยก็ประสบปัญหาศีรษะล้านเช่นกัน
   
          เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.พญ.พรทิพย์ ภูวบัณฑิตสิน สาขาตจวิทยา (ผิวหนัง) ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผู้หญิงก็ศีรษะล้านได้ แต่จะไม่ล้านเลี่ยนเหมือนผู้ชายศีรษะล้าน ที่พบมาก คือ บริเวณตรงกลางศีรษะ
   
          ในปัจจุบัน ผมบาง หรือศีรษะล้าน ซึ่งมีสาเหตุจากกรรมพันธุ์ พบเพิ่มขึ้นทั้งชายและหญิง และพบในคนอายุน้อยลงในหญิงอายุ 20 กว่า ๆ หรือ 30 ต้น ๆ อาจพบผมน้อยแบบลักษณะศีรษะล้านระยะแรกถึงร้อยละ 2-5 และเมื่อวัยสูงขึ้น เป็นวัยหมดประจำเดือนจะพบเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40 เนื่องจากระดับฮอร์โมนหญิงเอสโตรเจนลดลง ฤทธิ์ฮอร์โมนชายจากต่อมหมวกไตจะเด่นชัดขึ้น  
   
          ปัญหาศีรษะล้าน เกิดจากรากผมบริเวณหน้าผากและกลางกระหม่อม ไวต่อฮอร์โมนชายแอนโดรเจน คือ เทสโทสเตอโรน บริเวณรากผมดังกล่าวนอกจากมีตัวรับสัญญาณฮอร์โมนชายแล้ว ยังพบมีเอนไซม์เพิ่มขึ้น เอนไซม์จะย่อยให้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเป็นดีไฮโดรเทสโทสเตอโรน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้เซลล์ไฟโบรบลาสต์สร้างสารกดการสร้างเส้นผม อายุเส้นผมจะสั้นและเส้นผมมีขนาดเล็กลงและค่อย ๆ ฝ่อหายไปในที่สุด
   
          ในหญิงศีรษะล้าน ลักษณะผมร่วงอาจไม่เด่นชัดเช่นในชาย ส่วนใหญ่พบผมร่วงกระจายเกือบทั่วศีรษะและบางมากบริเวณกลางกระหม่อม จึงต้องวินิจฉัยแยกโรคแอบแฝงที่ทำให้ผมร่วงแบบกระจายทั่ว เช่น การขาดธาตุเหล็กเรื้อรัง หรือโรคไทรอยด์ทำงานลดลง ดังนั้นถ้าลักษณะผมบางไม่ชัดเจนว่าเป็นศีรษะล้านโดยพันธุกรรม ควรตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อแยกโรคดังกล่าว
   
          ศีรษะล้านในหญิงยังบ่งบอกว่า อาจมีโรคเนื้องอกต่อมหมวกไตชนิดสร้างฮอร์โมนแอนโดรเจนผิดปกติ หรือมีโรคในรังไข่ทำให้สร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง แต่ผู้ป่วยจะมีขนแบบเพศชาย เช่น หนวด เคราร่วม ผู้ป่วยจะมีความผิดปกติของประจำเดือน สิวรุนแรง และรอยดำบริเวณรักแร้ และคอร่วมด้วย
   
          ศีรษะล้านเป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมอุปนิสัยการใช้ชีวิต และการบริโภค ทำให้พันธุกรรมซึ่งแอบแฝงแสดงออกมา ผมน้อยศีรษะล้านไม่มีปัญหาสุขภาพกาย แต่สุขภาพใจกลายเป็นปมด้อย จึงมีธุรกิจเพื่อป้องกันรักษา หรือเสริมสร้างเส้นผมใหม่เกิดขึ้นตามมามากมาย 
   
  การรักษาก็เพียงช่วยบรรเทาการหลุดร่วงของเส้นผมเท่านั้น ซึ่งบางวิธีก็ได้ผลบ้าง หรืออาจจะไม่ได้ผลเลย ยกตัวอย่าง เช่น
   
          1.ยาทาไมนอกซิดิล ร้อยละ 2-5 ทาเช้า- เย็น เฉพาะบริเวณ จะช่วยให้เส้นผมหนาขึ้นร้อยละ 10-18
   
          2.ยารับประทานฟีแนสเตอไรด์ ซึ่งใช้ในชาย ไม่แนะนำให้ใช้ในหญิง ถ้ารับประทานขณะตั้งครรภ์ทารกจะมีอวัยวะเพศผิดปกติ
   
          3.ยารับประทานต่อต้านฤทธิ์ฮอร์โมนชาย เช่น ไซโปรเตอโรน หรือ สไปโนแลคโตน ยังไม่ได้ผลแน่นอน
   
          4.ยาทากลุ่มฮอร์โมนเอสโตรเจน เพื่อยืดอายุเส้นผม ยังพิสูจน์ได้ไม่ชัดเจนว่าได้ผลจริง
   
          5.การปลูกผมทางศัลยกรรม จะพิจารณาเป็นราย ๆ เพราะยุ่งยากและสิ้นเปลือง
   
          6.สเต็มเซลล์ ขณะนี้มีการศึกษาค้นคว้าหา สเต็มเซลล์ของรากผม คงต้องรออีกนาน ก็ไม่แน่ว่า เมื่อถึงยุคนั้นจริงอาจเป็นยุคแฟชั่นไร้ผม เพราะทุกคนเข้าใจสัจธรรมแล้วว่าเส้นผมไม่มีประโยชน์ มีผมก็มีทุกข์ คงไม่ต้องปลูกเส้นผมให้เสียเวลา
    
          7.สำหรับผู้ซึ่งไม่ชอบการรักษาแผนปัจจุบัน  ก็อาจลองใช้วิธีของแพทย์แผนจีนหรืออายุรเวช คือ กระตุ้นบริเวณหนังศีรษะ (เคาะกะโหลก) โดยใช้นิ้วมือทั้งสิบเคาะแรง ๆ 5–10 นาที เพราะบริเวณหนังศีรษะมีจุดลมปราณมากกว่าร้อยจุด คงจะโดนจุดลมปราณบางจุด การเคาะนอกจากช่วยกระตุ้นรากผมยังกระตุ้นลมปราณของอวัยวะอื่น ช่วยส่งเสริมสุขภาพกายและใจได้พร้อม ๆ กัน
   
          ท้ายนี้คงต้องบอกว่า ผู้หญิงศีรษะล้าน สาเหตุหลักมักจะมาจากกรรมพันธุ์ ใครที่ประสบปัญหานี้หากไปพบแพทย์แล้ว ไม่ได้มีโรคอื่นแทรกซ้อน ก็คงต้องทำใจ แทนที่จะขวนขวายหาทางป้องกันและรักษา จนเสียเงินเสียทองโดยใช่เหตุ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผู้หญิง หัวล้าน อัปเดตล่าสุด 16 ธันวาคม 2556 เวลา 16:53:03 6,060 อ่าน
TOP