x close

สัญญาณเตือนภัย สาววัยเลข 4 ไม่ควรมองข้าม

สุขภาพ ผู้หญิง

สัญญาณเตือนภัย สาววัยเลข 4 ไม่ควรมองข้าม (Woman & home)

          ลูอิส แอทคินสัน พาเราไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาข้อมูลว่า อาการเช่นใดบ้างที่ควรรีบไปพบแพทย์ และอาการเช่นใดที่เรารับมือด้วยตัวเองได้

อาการ: น่องบวมและปวด

โชคดี: กล้ามเนื้อเคล็ด

โชคร้าย: ลิ่มเลือดอุดตันที่ขา

          อาการปวดน่องนั้นเป็นอาการของโรคลิ่มเลือดอุดตัน ในหลอดเลือดดำที่ขาด ซึ่งพบได้บ่อยที่สุด แม้มันจะทำให้ขาคุณเจ็บปวด แต่ส่วนที่น่ากลัวที่สุดของโรคนี้ก็คือ ลิ่มเลือดที่ว่าอาจแตกออกและไหลที่ปอด ทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด

สัญญาณอันตรายเพิ่มเติม:

          นอกจากขาของคุณจะปวดและบวมแล้ว มันยังร้อน (จับแล้วรู้สึกอุ่น) และเปลี่ยนสี (มักจะเป็นสีน้ำเงินหรือสีม่วง)

          "ยิ่งคุณอายุมากขึ้น โอกาสที่จะเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำนี้ ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นด้วย เพราะเลือดของคุณจะข้นขึ้น" เบเวอร์ลี่ย์ ฮันต์ ศาสตราจารย์ด้านโลหิตวิทยาแห่งโรงพยาบาลเซนต์โธมัส ลอนดอน กล่าว "อัตราเสี่ยงของคุณจะยิ่งพุ่งสูงขึ้นอีกเมื่อเข้าสู่วัยทอง ซึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลง แต่ถ้าคุณทานฮอร์โมนทดแทนเสริมด้วย อัตราเสี่ยงก็จะยิ่งเพิ่มเป็น 2 เท่า" นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ การนั่งอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ (รวมถึงการเดินทางเป็นระยะไกล ๆ) ความอ้วน หรือการผ่าตัดช่องท้อง สะโพก หรือหัวเข่าก็เป็นปัจจัยเสี่ยงเช่นกัน

ควรพบแพทย์เมื่อใด:

          โทรศัพท์เรียกรถพยาบาลทันทีถ้ารู้สึกปวดขึ้นมาโดยเฉียบพลัน "แม้ภาวจะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำอาจจะไม่มีอาการแสดงออกใด ๆ แต่อาการที่พบได้บ่อยก็คืออาการปวดขาฉับพลันร่วมกับหายใจขัด ซึ่งอาจแสดงว่าลิ่มเลือดแตกตัวและไหลไปยังปอดแล้ว"

          ศาสตราจารย์ฮันท์ อธิบาย "หากคุณรู้สึกปวดแค่ที่ขา ก็อาจจะถือว่าไม่ฉุกเฉินเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ควรมองข้าม คุณจึงควรไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง"

          การตรวจหาลิ่มเลือดนั้นทำได้โดยการเจาะเลือด อัลตราซาวนด์ หรือการทำวีโนแกรม ซึ่งเป็นการฉีดสีเข้าไปในหลอดเลือดดำใหญ่ การรักษาประกอบด้วยการฉีดยาละลายลิ่มเลือดทันที จากนั้นจึงทาน warfarin ซึ่งเป็นยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด เพื่อไม่ให้ลิ่มเลือดไหลไปถึงปอด

อาการ: ตาพร่า

โชคดี: สายตายาวตามอายุ

โชคร้าย: ต้อหิน

          กว่า 2 เปอร์เซ็นต์ของประชากรที่มีอายุมากกว่า 40 ปีต้องเผชิญกับโรคจากการเสื่อมของเส้นประสาทตานี้ ซึ่งอาจทำให้ตาบอดได้ในที่สุด

สัญญาณอันตรายเพิ่มเติม:

          คุณอาจจะเห็นแสงรุ้งรอบหลอดไฟ และมีอาการตาลายร่วมกับอาการปวดศีรษะและคลื่นไส้อาเจียน นอกจากนี้รูม่านตาของดวงตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ก็อาจจะขยายใหญ่ผิดปกติ แต่เนื่องจากสมองของเราจะพยายามปรับตัว ให้เข้ากับการมองเห็นที่เปลี่ยนแปลง ผู้ป่วยโรคต้อหินเรื้อรังจึงอาจสูญเสียความสามารถในการมองเห็นไปถึง 40 เปอร์เซ็นต์โดยไม่สามารถแก้ไขได้ก่อนจะรู้ตัวว่ามีบางอย่างผิดปกติ

ควรพบแพทย์เมื่อใด:

          "หากคุณสงสัยว่าตัวเองเกิดอาการต้อหินเฉียบพลันล่ะก็ รีบไปที่แผนกฉุกเฉินทันที ยิ่งคุณได้รับการรักษาเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีเท่านั้น" เฮเลน โด พยาบาลด้านจักษุวิทยาประจำสมาคมต้อหินสากลกำชับ "จักษุแพทย์สามารถตรวจพบอาการต้อหินเรื้อรังได้ในการตรวจตาตามปกติ คุณจึงควรเข้ารับการตรวจตาเป็นประจำ"

อาการ: พูดไม่ชัด

โชคดี: อ่อนเพลีย

โชคร้าย: โรคหลอดเลือดสมอง

          โรคนี้เกิดจากการตีบตันหรือแตกของหลอดเลือดในสมอง เลือดจึงไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอทำให้เซลล์สมองเสียหายในที่สุด แม้คนทุกเพศทุกวัยจะมีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราวมักจะถูกมองข้าม ทั้งที่มันเพิ่มความเสี่ยง ในการเกิดภาวะสมองขาดเลือดอย่างรุนแรงได้มากทีเดียว

สัญญาณอันตรายเพิ่มเติม:

          การพูดจาไม่ชัด เช่น ลิ้นพันกัน นึกคำพูดไม่ออก พูดผิดพูดถูก หรือไม่เข้าใจคำพูดของคนอื่นนั้น ล้วนเป็นสัญญาณบอกเหตุที่ชัดเจน นอกจากนี้ ภาวะกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง (ยิ้มไม่ได้) และแขนอ่อนแรง ก็เป็นสัญญาณที่สำคัญเช่นกัน

ควรพบแพทย์เมื่อใด:

          "หากคุณพบว่าใครมีอาการของโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันหนึ่งอย่าง หรือมากกว่านั้นล่ะก็ขอให้โทรศัพท์เรียกรถพยาบาลทันที" นพ.โทนี่ รัดด์ แพทย์ที่ปรึกษาประจำโรงพยาบาลเซนต์โธมัส ลอนดอน กล่าว "การไปถึงโรงพยาบาลให้ทันท่วงทีนั้นสำคัญมาก เพราะการให้ยาละลายลิ่มเลือดต้องทำภายใน 3 ชั่วโมงหลังจากเกิดอาการ และสามารถช่วยให้ผู้ป่วยบางรายฟื้นตัวได้ดีมากทีเดียว"

          แม้อาการจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว คุณก็ยังควรไปที่แผนกฉุกเฉินเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยว่า เป็นเพราะภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราวหรือไม่

อาการ: อ่อนเพลียตลอดเวลา

โชคดี: นอนไม่พอ หรือความเครียด

โชคร้าย: โรคไทรอยด์

          "ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำกว่าปกติเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้หญิงวัย 40 กลาง ๆ" ศาสตราจารย์นาเดียร์ฟาริด แห่งคลินิกต่อมไร้ท่อ ลอนดอน บอก

สัญญาณอันตรายเพิ่มเติม:

          ถ้านอกจากจะอ่อนเพลียแล้วคุณยังมีความต้องการทางเพศต่ำ ผิวแห้ง น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ มึนงง ท้องผูก ซึมเศร้า และปวดศีรษะร่วมด้วย

ควรพบแพทย์เมื่อใด:

          ถ้าคุณรู้สึกไม่สบายใจ ลองขอให้แพทย์ประจำตัวเจาะเลือดตรวจดู หากระดับฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ของคุณต่ำกว่า 2.5 ก็ถือว่าปกติ คุณอาจจะวัดระดับ T4 (ปริมาณไทร็อกซินที่ต่อมไทรอยด์ผลิต) ด้วยก็ได้

อาการ: ชาและปวดแปลบที่ปลายเท้า

โชคดี: สวมรองเท้าที่รัดเกินไป

โชคร้าย: โรคเบาหวาน

          มีผู้ป่วยถึง 500,000 ราย ที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองป่วยเป็นโรคนี้ โรคเบาหวาน ประเภทที่พบได้มากกว่า เมื่อร่างกายของคุณผลิตอินซูลินได้ไม่เพียงพอนั้น มักจะเกิดกับผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปี

สัญญาณอันตรายเพิ่มเติม: 

          "อาการอ่อนเพลีย ตาลาย น้ำหนักลด และหิวน้ำบ่อยนั้น มักจะถูกว่าเป็นเพียงผลลัพธ์จากชีวิตที่วุ่นวายของเรา โดยเฉพาะในผู้หญิงวัย 40 ปีขึ้นไป จึงมักจะถูกมองข้าม" แคธี่ มูลตัน พยาบาลวิชาชีพ และผู้ให้คำแนะนำจากมูลนิธิโรคเบาหวานแห่งสหราชอาณาจักรเล่า อาการชาเจ็บแปลบ หรือแสบร้อนที่ปลายเท้านั้น เป็นสัญญาณว่าระดับกลูโคสในเลือดเพิ่มสูงขึ้น จนกระทั่งส่งผลกระทบ และทำลายปลายประสาทที่เท้า

ควรพบแพทย์เมื่อใด:

          หากคุณพบอาการใด ๆ ข้างต้น คุณควรไปพบแพทย์ประจำตัวเพื่อขอเจาะเลือด "ร้านยาบางแห่งหรือพยาบาลวิชาชีพบางราย สามารถเจาะเลือดที่ปลายนิ้วเพื่อตรวจหาโรคเบาหวานอย่างง่ายได้ แต่อาการรุนแรง เช่น อาการเจ็บแปลบหรือชาที่เท้า แสดงว่าคุณอาจจะเป็นโรคเบาหวานมาระยะหนึ่งแล้ว จึงควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด" มูลตันสรุป

อาการ: ท้องอืดและปวดอุ้งเชิงกราน

โชคดี: อาหารเป็นพิษ

โชคร้าย: 
         
          ตอนนี้พบว่าอาการท้องอืดเป็นประจำ ร่วมกับปวดท้องนั้นเป็นสัญญาณบ่งชี้โรคมะเร็งรังไข่ในระยะแรกเริ่ม

สัญญาณอันตรายเพิ่มเติม: 

          หากคุณรู้สึกแน่นท้องตลอดเวลาท้องบวมและป่องอย่างเห็นได้ชัด ปวดหรืออึดอัดอุ้งเชิงกราน ทานอาหารได้น้อยและรู้สึกอิ่มอยู่ตลอดเวลา

ควรพบแพทย์เมื่อใด:

          ฌอน เคโฮ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้องอกในระบบสืบพันธุ์สตรี ที่โรงพยาบาลจอห์น แรดคลิฟฟ์ ออกซฟอร์ดแนะนำ "คุณควรได้รับการเอกซเรย์อุ้งเชิงกรานและช่องท้อง และอาจจะทำอัลตราซาวนด์หรือเจาะเลือดเพื่อวัดระดับสารที่ชื่อว่า CA-125 อันเป็นสารที่พบในปริมาณมาก ในเลือดของผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งรังไข่หลายราย ประวัติผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งรังไข่หลายราย ประวัติผู้ป่วยโรคมะเร็งชนิดนี้ หรือมะเร็งทรวงอกในครอบครัวจะทำให้ความเสี่ยงของคุณสูงกว่าปกติ สรุปก็คือ คุณควรปรึกษาแพทย์หากรู้สึกกังวล"

อาการ: ปวดขากรรไกร

โชคดี: ฟันผุ

โชคร้าย: โรคหัวใจวาย

          ในผู้หญิงมักแสดงออกด้วยอาการแน่นหน้าอกและปวดขากรรไกรอาการอื่น ๆ ที่พบได้บ่อย เช่น รู้สึกเหนื่อยผิดปกติ นอนไม่หลับ และหายใจขัด ฮอร์โมนเอสโตรเจนช่วยป้องกันผู้หญิงจากโรคหัวใจ แต่ระดับของฮอร์โมนดังกล่าวจะลดลงเมื่อย่างเข้าสู่วัย 40 ปี

สัญญาณอันตรายเพิ่มเติม:

          "อาการปวดหรืออึดอัดหน้าอก ร่วมกับอาการปวดคอ ขากรรไกรหรือหัวไหล่ ไม่ว่าจะเป็นแบบใดก็ตามก็น่าเป็นห่วงทั้งนั้น" แคธี่ รอสส์ พยาบาลโรคหัวใจจากมูลนิธิโรคหัวใจแห่งสหราชอาณาจักร บอก

ควรพบแพทย์เมื่อใด:

          หากคุณเกิดอาการที่ไม่เคยเป็นมาก่อนอย่างเฉียบพลัน หรือหากมีอาการเดิมร่วมกับอาการหน้ามืดหรือคลื่นไส้ โปรดรีบโทรศัพท์เรียกรถพยาบาล ผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไปทุกคน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินสภาวะของหัวใจ

  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

 คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Woman & home


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สัญญาณเตือนภัย สาววัยเลข 4 ไม่ควรมองข้าม อัปเดตล่าสุด 6 พฤษภาคม 2558 เวลา 13:28:27 20,397 อ่าน
TOP