x close

เตรียมดันยาหม้อสมุนไพร รักษาตับแข็ง-สะเก็ดเงิน เข้าบัญชียาหลักฯ


ยาหม้อสมุนไพร

สธ. เตรียมผลักดัน 2 ตำรับยาหม้อสมุนไพร รักษาโรคตับแข็ง โรคสะเก็ดเงิน เข้าบัญชียาหลักฯ (กระทรวงสาธารณสุข)

          สธ. เตรียมผลักดันตำรับยาหม้อ "พัทธะปิตตะ" รักษาโรคตับแข็ง และตำรับยา "วรรณฉวี-เทพรังษี" รักษาโรคสะเก็ดเงิน เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติหลังมีผลการวิจัยการรักษาโรคทั้ง 2 ชนิด พบได้ผลดีมาก เป็นความหวังในการลดการใช้ยาแผนปัจจุบัน

          เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานมหกรรมสุขภาพถ้วนหน้าภาคพื้นบูรพา และงานมหกรรมสุขภาพดีวิถีบูรพา ซึ่งจัดโดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยของ 8 จังหวัดภาคตะวันออก ให้ประชาชนได้รับความรู้ ความเข้าใจการใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย

          นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้นำการแพทย์แผนไทยมาใช้ในโรงพยาบาล และส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาแปรรูปสมุนไพรมาเป็นยาที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล ในรูปแบบที่ทันสมัย ใช้ง่าย เพื่อนำมารักษาอาการเจ็บป่วย ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้มีมูลค่าตกปีละกว่า 2 แสนล้านบาท 

          ทั้งนี้ จากการติดตามผลการรักษาด้วยการแพทย์แผนไทย ของคลินิกแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลพระปกเกล้าในรอบ 1 ปี  พบว่าได้ผลน่าพอใจ ประชาชนมีแนวโน้มใช้บริการเพิ่มขึ้น และมีข่าวดีสำหรับผู้ป่วยโรคตับแข็ง และโรคสะเก็ดเงิน โดยผลการศึกษาวิจัยการใช้ยาหม้อตำรับ "พัทธะปิตตะ" ซึ่งมีสมุนไพร 8 ชนิด รักษาโรคตับแข็ง และการใช้ยาหม้อตำรับ "วรรณฉวี-เทพรังษี" รักษาโรคสะเก็ดเงิน ระหว่างการแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบัน พบว่าได้ผลดี เป็นข้อพิสูจน์ยืนยันถึงประสิทธิภาพของยาสมุนไพรไทยในการรักษาโรคเรื้อรัง ขณะนี้นักศึกษาแพทย์ระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล อยู่ระหว่างการวิจัยคุณสมบัติตัวยาสมุนไพรที่ใช้ในตำรับทางวิทยาศาสตร์ คาดว่าจะสำเร็จในปีนี้

          นายแพทย์ชลน่าน กล่าวต่อไปว่า ขั้นต่อไป กระทรวงสาธารณสุขจะผลักดันตำรับยาหม้อรักษาโรคทั้ง 2 โรคนี้ เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนทุกสิทธิการรักษาใช้ได้ เนื่องจากขณะนี้มีเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยในสิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการ ใช้ได้เพียงกลุ่มเดียว อีก 2 สิทธิ์คือโครงการ 30 บาทและประกันสังคมยังไม่สามารถใช้ได้ นอกจากนี้ อาจจะมีการวิจัยต่อยอดพัฒนารูปแบบตัวยาให้ใช้ได้สะดวกขึ้น เป็นความหวังในการลดการใช้ยาแผนปัจจุบัน ซึ่งการรักษาโรคตับแข็ง หากใช้ยาแผนปัจจุบันจะใช้ประมาณ 6-7 รายการ ค่ารักษารายละประมาณ 2,000 บาทต่อเดือน   

สมุนไพรไทย

          ทางด้านนายแพทย์ฉัตรชัย สวัสดิไชย นายแพทย์เชี่ยวชาญ ประจำคลินิกแพทย์แผนไทย รพ.พระปกเกล้า จันทบุรี กล่าวว่า โรคตับแข็ง เป็นโรคเรื้อรัง เกิดจากเนื้อตับมีการอักเสบ เกิดเนื้อเยื่อพังผืดรัดแข็ง มีคนไทยเสียชีวิตประมาณ 21,833 รายต่อปี มักพบในเพศชายและอยู่ในวัยแรงงาน ส่วนใหญ่มักมีประวัติเกี่ยวข้องกับการดื่มสุรา มักมีอาการตัวตาเหลือง ท้องโต แน่นท้อง ขาบวม กินไม่ได้

          จากการศึกษาใช้ยาสมุนไพรตำรับ "พัทธะปิตตะ" รักษาโรคนี้  ซึ่งมีสมุนไพร 8 ชนิดเป็นหลัก เช่น หัวเต่ารั้ง หัวเต่าเกียด กำแพง 7 ชั้น หัวข้าวเย็นเหนือ หัวข้าวเย็นใต้ เป็นต้น แต่อาจเปลี่ยนสมุนไพรบางตัวให้เหมาะสมกับผู้ป่วยบางคน โดยต้มยา 1 ห่อ ต่อ 1 สัปดาห์ กินติดต่อกันเป็นเวลา 8  สัปดาห์ ผลการรักษาปรากฎว่า ท้องและขายุบบวม ผลตรวจเลือดพบการทำงานของตับดีขึ้น และดีขึ้นจนเข้าสู่ระดับปกติในเดือนที่ 5 และต้องกินยาสมุนไพรต่อเนื่องจนครบ 8 เดือนจึงหยุดยาต้ม และยังคงให้รับประทานยาบำรุงตับต่อ ซึ่งเป็นยาสมุนไพรตำรับต่อไป

          ในปี 2555 มีผู้ป่วยโรคตับแข็งมารับการรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบัน ที่รพ.พระปกเกล้า จำนวน 3,171 ราย รับการรักษาที่คลินิกแพทย์แผนไทย 456 ราย หรือร้อยละ 14 จากการติดตามผลการรักษาเกือบทั้งหมดอาการดีขึ้น ค่าใช้จ่ายในการรักษาตามหลักการแพทย์แผนไทย จำนวน 12 ครั้ง ๆ ละ 1,424 บาท ตลอดการรักษารายละประมาณ 17,088 บาท หากรักษาโดยใช้ยาแผนปัจจุบัน จะตกประมาณ 24,000 บาท

          สำหรับโรคสะเก็ดเงิน ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังเช่นกัน เกิดจากความผิดปกติของยีนที่ควบคุมการสร้างผิวหนัง ทำให้ผิวหนังอัดแน่นและหนา ตกสะเก็ดเร็วประมาณ 3-4 วัน โรคนี้รักษาไม่หายขาด แต่ช่วยให้อาการดีขึ้นทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทย หากผู้ป่วยมีอาการเครียด ดื่มสุราเป็นประจำ หรือรับประทานของดอง ของคาว ก็อาจทำให้โรคกำเริบขึ้นได้ 

          ในปี 2555 มีผู้ป่วยที่รักษากับแพทย์แผนปัจจุบันประมาณ 3,000 ราย มีผู้ป่วยรักษาที่คลินิกแพทย์แผนไทย จำนวน 422 ราย โดยใช้ยาสมุนไพรตำรับชื่อว่า "วรรณฉวี-เทพรังษี" ซึ่งมีสมุนไพร 7-14 ชนิด  เช่น โกฐหัวบัว โกฐกระดูก เทียนดำ เทียนข้าวเปลือก หัวตะเพียด หัวหนอนตายหยาก หัวข้าวเย็นเหนือ หัวข้าวเย็นใต้ เป็นต้น ผลการรักษาส่วนใหญ่ร้อยละ 72 อาการดีขึ้น และอาการดีมาก รอยโรคสะเก็ดที่ผิวหนังทั่วตัวหายไปทั้งหมดประมาณร้อยละ 20 สร้างความพึงพอใจผู้ป่วยมาก ค่ารักษาตกรายละประมาณ 1,000 บาทต่อเดือน ใช้เวลา 6-8 เดือน หากใช้ยาแผนปัจจุบันรักษาจะตกรายละ 10,000- 16,800 บาทต่อปี


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เตรียมดันยาหม้อสมุนไพร รักษาตับแข็ง-สะเก็ดเงิน เข้าบัญชียาหลักฯ อัปเดตล่าสุด 28 พฤศจิกายน 2556 เวลา 14:28:38 7,439 อ่าน
TOP