x close

ฮอร์โมนทดแทน ใช้อย่างไรในสตรีวัยทอง

ฮอร์โมนทดแทน

ฮอร์โมนทดแทน ใช้อย่างไรในสตรีวัยทอง
(เดลินิวส์)

         วันนี้มาพูดถึงฮอร์โมนทดแทนในสตรีวัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือน ซึ่งเป็นวัยที่รังไข่ จะผลิตฮอร์โมนเพศน้อยลงจนกระทั่งหยุดการผลิต ทำให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น ร้อนวูบวาบ ผมร่วง ช่องคลอดแห้ง นำไปสู่ความเครียดจนเป็นผลเสียที่กระทบกับจิตใจ

          ยามที่ฮอร์โมนเพศ 2 ตัวสำคัญอย่าง "เอสโตรเจน" เสริมการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ หัวใจ กระดูกแข็งแกร่ง บำรุงผิว ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว และ "โปรเจสเตอโรน" ที่ทำให้ผู้หญิงสามารถตั้งครรภ์และมีประจำเดือนนั้นกำลังจากลาคุณผู้หญิงไป ทางการแพทย์สามารถให้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อลดอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ การกินเป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด แต่อาจสร้างความสับสนให้กับผู้หญิงขี้ลืม เนื่องจากแผงของฮอร์โมนทดแทนมักมีวันเป็นตัวกำหนด โดยมีการแบ่งรูปแบบการให้ฮอร์โมนทดแทนเป็น 2 ลักษณะแตกต่างกัน คือ

          ในผู้หญิงที่ผ่านการตัดมดลูกและรังไข่ทั้งสองข้างออกไปแล้วนั้นไม่ค่อยยุ่งยาก เพราะไม่จำเป็นจะต้องได้รับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน จึงให้รับประทานแต่เพียงฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยให้รับประทานทุกวัน ส่วนเวลาที่เหมาะสมนั้นควรเป็นหลังอาหารมื้อเย็น หรือก่อนเข้านอน ในกรณที่ลืม ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ แบบไม่ต้องข้ามเม็ดหรือรับประทานควบทั้งเม็ดที่ลืมกับเม็ดปัจจุบัน

          ส่วนผู้หญิงที่ยังมีมดลูกอยู่นั้น ยังมีการรับประทานฮอร์โมนที่ต่างกันแยกย่อยเป็น 3 รูปแบบ ตามที่แพทย์แนะนำ เริ่มจากการรับประทานรอบละ 21 วัน หยุด 7 วัน โดยมีเลือดประจำเดือนออกเป็นรอบ หมายถึง การรับฮอร์โมนเอสโตรเจน 21 วันต่อเดือน และรับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในช่วง 10 วันสุดท้าย แล้วจึงหยุดรับทั้งสองชนิดนาน 7 วัน ในระยะการหยุดนี้ผู้หญิงส่วนใหญ่มักมีเลือดประจำเดือนออก แต่เป็นปริมาณที่น้อยจนกระทั่งหมดไป หากลืมก็ให้รับประทานเม็ดที่ลืมเมื่อนึกได้ ไม่ต้องข้ามหรือรับประทานควบ

          รูปแบบต่อมา รับประทานรอบละ 28 วัน คือ การรับฮอร์โมนเอสโตรเจน 28 วันต่อเดือน ส่วนฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะรับนาน 10 ไม่เกิน 14 วัน และจะมีประจำเดือนออกมาเป็นรอบ โดยเลือดประจำเดือนมักมาในช่วงที่มีการรับฮอร์โมนเอสโตรเจน ถือเป็นข้อดี เพราะไม่ทำให้เกิดการขาดฮอร์โมนระหว่างมีรอบประจำเดือน หากลืมรับประทาน เมื่อนึกขึ้นได้ให้รับประทานต่อไม่ต้องข้าม

          รูปแบบสุดท้าย เป็นการรับประทานฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนพร้อม ๆ กันทุกวัน ช่วง 1-3 เดือนแรก จะมีเลือดประจำเดือนออกเล็กน้อย แบบกะปริดกะปรอย เมื่อใช้ไปในระยะยาว เลือดประจำเดือนจะหมดไป กรณีที่ลืมรับประทาน เมื่อนึกได้ให้รับประทานต่อ ไม่ต้องข้ามหรือเว้น

          ทั้งนี้ การรับประทานฮอร์โมนทดแทน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการเลือดออกผิดปกติที่ช่องคลอด อย่างไม่ทราบสาเหตุ หรือกำลังป่วยเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ภาวะเลือดออกในสมอง คนไข้โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเกี่ยวกับเลือด และโรคตับ ไม่ควรหาซื้อฮอร์โมนทดแทนมารับประทานด้วยตนเองเป็นอันขาด




ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฮอร์โมนทดแทน ใช้อย่างไรในสตรีวัยทอง อัปเดตล่าสุด 16 ธันวาคม 2556 เวลา 16:54:41 4,550 อ่าน
TOP