ห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิต 4 ขั้นตอน ช่วยเหลือผู้ป่วยยามฉุกเฉิน



 
ห่วงโซ่ของการรอดชีวิต

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก wikidoc.org, thaicpr.com

           ในภาวะฉุกเฉินที่อยู่ระหว่างความเป็นกับความตาย เรามักพบว่า มีผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้นจำนวนไม่มากนัก ที่ได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกต้อง และทันท่วงที ซึ่ง "การช่วยเหลือ"  ในความเข้าใจของคนทั่วไป คือ การนำส่งผู้ป่วยให้ถึงมือแพทย์ หรือการรอรถพยาบาล แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรามีเวลาเพียงแค่ 4 นาทีเท่านั้นที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น เพราะหากช้ากว่านั้นอาจทำให้สมองตายได้ ซึ่งการนั่งรอความช่วยเหลือจากทีมรถพยาบาล เจ้าหน้าที่กู้ชีพ หรือแม้แต่การนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเองนั้น ก็อาจสายเกินไป

           เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการสูญเสีย และเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตให้ผู้ป่วยมากเท่าที่จะทำได้ สิ่งที่ควรทำเป็นคือ "คนแรก" ที่พบผู้ป่วย "หมดสติ" ควรลงมือช่วยเหลือเบื้องต้นทันที แน่นอนว่า การช่วยเหลือเบื้องต้นนั้น ก็ต้องทำอย่างถูกต้องตามหลักการแพทย์ โดยอาศัย ห่วงโซ่ของการรอดชีวิต (Chain of Survival) เข้าช่วย แต่ว่า...ห่วงโซ่ของการรอดชีวิตคืออะไร เรามาทำความรู้จักกับคำดังกล่าวไปพร้อม ๆ กันค่ะ

ความหมายของ ห่วงโซ่ของการรอดชีวิต

           ห่วงโซ่ของการรอดชีวิต (Chain of Survival) คือ ปัจจัยที่จะเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด โดยปัจจัยสำคัญใน "ห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิต" ประกอบด้วย 4 ห่วง ดังนี้ :

 

Chain of Survival
 

Chain of Survival



           1. เมื่อพบผู้ป่วยให้โทรศัพท์ขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยกู้ชีพ เบอร์ 1669 และแจ้งขอเครื่องช็อกไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) สำหรับผู้ใช้ที่ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับคลื่นหัวใจ

           2. ทำการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (Basic Life Support) ในระหว่างรอความช่วยเหลือจากทีมกู้ชีพ

           3. ทำการกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า โดยใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) หรือ เครื่องช็อกไฟฟ้า (Defibrillator)

           4. ทำซ้ำข้อ 2 และ 3 ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้รับการช่วยเหลือขั้นสูงโดยทีมกู้ชีพ


การทำ CPR

การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (Basic life support)


           สำหรับการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน ควรเริ่มต้นทำทันทีเมื่อพบผู้ป่วยอยู่ในภาวะหัวใจหยุดเต้น โดยมีขั้นตอนดังนี้

     1. C : Chest compression

           เริ่มกดหน้าอก 30 ครั้ง โดยต้อง

           - กดให้ลึก (อย่างน้อย 5 เซนติเมตร) และกดเร็ว (อย่างน้อย 100 ครั้ง/นาที)

           - ถอนมือจนสุด

           - กดให้ต่อเนื่อง

           - ห้ามช่วยหายใจมากเกินไป

     2. A : Airway

           คือการเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง ด้วยการเชิดหัว-เชยคาง (Head Tilt-Chin Lift) หรือ ยกกราม (Jaw Thrust) ของผู้ป่วย   

     3. B : Breathing

           คือการช่วยหายใจ 2 ครั้ง โดย

           - อ้าปากคร่อมไปบนปากผู้ป่วยจนสนิท (ถ้าไม่รู้จักผู้ป่วย หรือผู้ป่วยมีโรคที่ติดต่อได้ ต้องใช้แผ่นพลาสติกเจาะรูเล็ กๆ วางคร่อมปากและจมูกผู้ป่วยก่อน)

           - บีบจมูกผู้ป่วยให้แน่น

           - เป่าลมเข้าไปในปากผู้ป่วยช้า ๆ (1-1.5 วินาที) สังเกตที่หน้าอกจะยกขึ้นตามจังหวะการเป่า

           - ถอนปากออก แล้วเริ่มทำใหม่อีกครั้ง
 
           เมื่อทำครบ 2 ครั้งแล้ว ให้กลับไปกดหน้าอกในข้อ 1 ต่อ เพื่อให้อัตราการกดหน้าอกต่อการช่วยหายใจเป็น 30 : 2 (หมายถึงกดหน้าอก 30 ครั้ง สลับกับการเป่าปาก 2 ครั้ง)

    4. ทำขั้นตอน C-A-B ไปเรื่อย ๆ 

            คือ กดหน้าอก 30 ครั้ง แล้วเปิดทางเดินหายใจผู้ป่วยให้โล่ง สลับกับการเป่าปาก 2 ครั้ง แล้วกลับมากดหน้าอกใหม่อีก 3 ครั้ง สลับไปเรื่อย ๆ จนกว่า เครื่องช็อกไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) หรือ เครื่องช็อกไฟฟ้า (Defibrillator) จะมาถึง

           จากข้อมูลในข้างตนจะเห็นได้ว่า การช่วยชีวิตผู้ป่วยหมดสติ ที่อาจมีการอาการหัวใจหยุดเต้นไปแล้วนั้น คนธรรมดาทั่ว ๆ ไปอย่างเรา ๆ ก็อาจมีส่วนสำคัญ ที่จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสการรอดชีวิตเพิ่มมากขึ้น จากการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยตั้งแต่แรกพบ จนกระทั่งทีมกู้ชีพมาถึง

           อย่างไรก็ตาม เมื่อพบผู้ป่วยหมดสติควรโทรแจ้งเบอร์ 1669 ซึ่งเป็นสายด่วนของหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน กู้ชีพ กู้ภัย กระทรวงสาธารณสุข จากนั้นให้ทำ CPR ซึ่งเป็นการแก้ไขความผิดปกติของทางเดินหายใจและการหายใจ ตามขั้นตอนห่วงโซ่ของการรอดชีวิต ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยมากขึ้นนั่นเอง



  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 



 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

- thaicpr.com
- nmkhospital.net





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิต 4 ขั้นตอน ช่วยเหลือผู้ป่วยยามฉุกเฉิน อัปเดตล่าสุด 21 ตุลาคม 2560 เวลา 08:04:09 12,240 อ่าน
TOP
x close