x close

เมื่อไรจึงควรไปพบ จิตแพทย์



เมื่อไรจึงควรไปพบจิตแพทย์ (infomental)

โดย นพ.สเปญ อุ่นอนงค์

         เมื่อมีใครบอกว่าเราควรไปพบจิตแพทย์ เรามักเป็นเดือดเป็นร้อนเพราะบังอาจมาหาว่าเราบ้าหรือนี่ แต่ในความเป็นจริงผู้ป่วยที่มาพบจิตแพทย์ส่วนใหญ่ไม่ได้ "บ้า" โดยเฉพาะในปัจจุบันจะมีผู้ป่วยคนไทยเดินเข้ามาขอพบจิตแพทย์เองเป็นจำนวนมาก เพราะผู้คนมีการศึกษาดีขึ้น

ไม่ได้บ้าแล้วทำไมเขาต้องมาพบจิตแพทย์กันด้วยล่ะ ?

         ปัญหาที่ทำให้ต้องมาพบจิตแพทย์โดยไม่ได้เป็นบ้าได้แก่

         มีเรื่องกลุ้มใจคิดไม่ตก ทำให้เครียด ปวดหัว นอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย

         อยู่ ๆ ก็เกิดอาการเบื่อหน่าย ท้อแท้ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ร้องไห้ง่าย อยากตาย โดยที่ไม่ได้มีเหตุการณ์อะไรมาทำให้เครียด

         เกิดอาการใจสั่น หายใจไม่ทัน กลัวตายชึ้นมาเฉย ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีอะไรน่ากลัวเกิดขึ้น ไปหาหมอทีไรก็ตรวจไม่พบความผิดปกติ

         กลัวความสูง กลัวลิฟท์ กลัวแมลงสาบ ประหม่ากลัวคนมอง

         ย้ำคิดย้ำทำ ปิดประตูแล้วต้องดูซ้ำ ๆ หลาย ๆ เที่ยว หรือกลัวความสกปรก ล้างมือตั้งหลายเที่ยวก็ยังรู้สึกไม่สะอาดอยู่ดี

         เป็นคนอมทุกข์ หาความสุขไม่ค่อยได้ ทั้ง ๆ ที่อะไร ๆ ก็เพียบพร้อม

         คบกับใครไม่ได้นาน จะต้องมีปัญหาร่ำไป และมักเป็นปัญหาคล้าย ๆ กันซ้ำ ๆ

แล้วที่เป็น "บ้า" จริง ๆ ล่ะเป็นยังไง ?

         คนที่เป็น "บ้า" "เพี้ยน" ซึ่งเราเรียกว่า "โรคจิต" หรือ "Psychosis" คือคนที่แยกแยะความเป็นจริงไม่ได้ทำให้เกิดอาการระแวง หลงเชื่อผิด เช่น คิดว่ามนุษย์ต่างดาวจะมาจับตัว  คิดว่าคนในโทรทัศน์มาด่าตน  คิดว่ามีจระเข้อยู่ในท้อง บางคนจะมีประสาทหลอนด้วย เช่น ได้ยินเสียงคนที่ตายไปแล้วมาชวนไปอยู่ด้วย หรือเห็นภูติผีปีศาจ หรือทำอะไรประหลาด ๆ เช่น ออกไปยืนเพ่งพระอาทิตย์ ออกมาแก้ผ้าแก้ผ่อนออกมาตะโกนโหวกเหวกตามท้องถนน

         จะเห็นว่าอาการของคน "บ้า" นั้นต่างจากพวกเราและคนทั่วไปมาก ในขณะที่อาการของคนที่ไม่ได้บ้านั้นมีหลายอย่าง ที่บางครั้งเราเองก็เคยเป็นแต่ก็ไม่ได้มาพบจิตแพทย์ นั่นเป็นเพราะอาการของโรคทางจิตเวชที่ไม่ได้ "บ้า" นั้นเป็นอาการที่คนทั่วไปก็เป็นได้แต่ไม่รุนแรงมาก แต่ถ้าเราเกิดอาการต่าง ๆ นี้มากจน

         1. รู้สึกเป็นทุกข์ทรมานมาก (distressed)

         2. เสียงานเสียการ (dysfunction)

         3. ให้เราต้องทำอะไรที่อาจเกิดผลร้ายตามมา (maladaptive)  เช่น ทำร้ายตนเอง ทำลายข้าวของ เสพยาเสพติด

         แบบนี้เราจึงจะจัดว่าสุขภาพจิตไม่ดี ป่วยทางจิตเวชแล้ว และแม้จะเป็นการป่วยที่ยังไม่ "บ้า" แต่ก็ควรพบจิตแพทย์ครับ

มาพบจิตแพทย์แล้วจิตแพทย์ทำอย่างไร ?

         การพบจิตแพทย์ก็คล้าย ๆ กับพบแพทย์ทั่ว ๆ ไปล่ะครับ จะมีการถามประวัติความไม่สบายที่ต้องมาพบแพทย์และมีการตรวจสภาพจิต และอาจตรวจร่างกายด้วยถ้าแพทย์คิดว่ามีอะไรที่จะต้องตรวจดู แพทย์จะถามประวัติเกี่ยวกับอาการทางร่างกายที่เกิดขึ้น เช่น ปวดหัว เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เรี่ยวแรงไม่ค่อยมี นอนหลับยาก ตื่นกลางดึกแล้วหลับต่อยาก ฯลฯ ประวัติเกี่ยวกับอาการทางจิตใจ เช่น หงุดหงิด โมโหง่าย ร้องไห้ง่าย คิดอะไรซ้ำ ๆ วนเวียน หรือความคิดไม่แล่นคิดอะไรไม่ออก ฯลฯ

         นอกจากนี้แพทย์จะถามถึงความเป็นอยู่เช่น เป็นใคร ทำอาชีพอะไร บ้านอยู่ไหน แต่งงานแต่งการหรือยัง มีลูกกี่คน ถามถึงว่าช่วงนี้มีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ ทั้งที่ดี และที่ไม่ดี และผู้ป่วยรู้สึกอย่างไรกับเรื่องนั้นและทำอย่างไรไป ถามประวัติส่วนตัวในอดีตเช่น พ่อแม่ทำอาชีพอะไร ชีวิตวัยเด็กเป็นอย่างไร ฯลฯ เพื่อจะได้เข้าใจว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญนั้นขึ้น ทำไมผู้ป่วยจึงตัดสินใจทำแบบนั้น หรือทำไมจึงเกิดความรู้สึกแบบนั้น

         ในการตรวจสภาพจิต จิตแพทย์จะดูตั้งแต่ท่าทาง การแต่งเนื้อแต่งตัว การพูดจา เพราะแค่นี้ก็พอบอกอะไรได้ตั้งหลายอย่างแล้ว เช่น คนที่เป็นโรคซึมเศร้ามักไม่ค่อยแต่งตัวไม่ค่อยแต่งหน้า คนที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำอาจจดที่หมอพูดทุกคำหรืออัดเทปไว้ด้วย คนที่เป็นโรคอารมณ์ดีผิดปกติมักพูดมาก เสียงดัง พูดไปหัวเราะไป คนที่เป็นโรคจิตคุยไปอาจต้องเอานิ้วมาทัดหูไป เพื่อเป็นเสาอากาศไว้ส่งกระแส ฃจิต ฯลฯ นอกจากนี้แพทย์อาจถามคำถามบางอย่างเพื่อตรวจดูความคิด ความจำ สมาธิ การตัดสินใจของผู้ป่วยด้วยเช่น ให้จำของ 3 อย่าง ให้ทำ 100-7 ถามคำพังเพย ฯลฯ และเมื่อได้ข้องมูลมากพอจิตแพทย์จะเริ่มให้การรักษา 

แล้วผู้ป่วยต้องทำอย่างไรบ้าง ?

         สิ่งที่เราต้องทำเมื่อพบจิตแพทย์คือเล่าปัญหาให้แพทย์ฟัง ทั้งอาการไม่สบายที่เกิดขึ้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ทำให้เราเครียด ชีวิตส่วนตัวทั้งในปัจจุบันและในอดีต สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้แพทย์จะค่อย ๆ ถามให้ผู้ป่วยเล่าออกมาได้เองโดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นจะต้อง "ท่องมา" หรือ "เรียบเรียง" เอาไว้ก่อน ผู้ป่วยเพียงแต่เล่าตามที่แพทย์ถามเท่าที่จะเล่าได้ เรื่องที่ลำบากใจยังไม่อยากเล่าก็เก็บไว้ก่อน เอาไว้พร้อมที่จะเล่าแล้วค่อยเล่าก็ได้ จิตแพทย์จะไม่คาดคั้นเอาให้ได้ครับ

         จากนั้นก็ให้ฟัง!เมื่อแพทย์ได้ข้อมูลมากพอแพทย์จะอธิบายว่าท่านป่วยเป็นอะไร จะต้องปฏิบัติอย่างไร ตรงนี้ให้ตั้งใจฟัง อาจถามแพทย์ตรงที่ไม่ค่อยเข้าใจหรือให้ข้อมูลเพิ่ม ในกรณีที่ฟังแล้วมันไม่ใช่ไม่เห็นด้วยก็ได้ แต่งานหลักในช่วงนี้คือ ฟัง เพราะการพูดแทรกเกินจำเป็นจะทำให้เสียเวลามาก และแพทย์อาจตัดทอนเรื่องที่จะอธิบายบางเรื่องออกไปทำให้ผู้ป่วยเสียประโยชน์

จิตแพทย์เอาแต่ให้ยาใช่หรือไม่ ?

         การรักษาทางจิตเวชนั้นมีทั้งการรักษาด้วยยาและการรักษาทางจิตวิทยา (ให้คำปรึกษา จิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด ฯลฯ) โรคบางโรคเรารักษาด้วยวิธีทางจิตวิทยาเป็นหลัก แต่ในบางโรคต้องรักษาด้วยยาเป็นหลัก และบางโรครักษาด้วยทั้ง 2 วิธีร่วมกัน โดยทั่วไปจิตแพทย์จะให้การรักษาทางจิตวิทยาด้วยทุกครั้ง สั้นบ้างยาวบ้าง ขึ้นกับความจำเป็น และสถานการณ์ เช่น ถ้ามีเวลามากแพทย์อาจให้คำปรึกษา หรือทำจิตบำบัดรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งค่อนข้างนาน แต่ในกรณีที่ข้างนอกยังมีผู้ป่วยรออีกหลายคน แพทย์อาจเพียงให้คำแนะนำสั้น ๆ แต่ถ้าผู้ป่วยกำลังมีอาการมาก และจำเป็นต้องให้การบำบัดทางจิตวิทยา แพทย์ก็อาจจะจำเป็นจะต้องปล่อยให้คนข้างนอกรอนานหน่อย

         ผู้ป่วยหลาย ๆ คนมักกลัวว่าจิตแพทย์จะให้กินยาแล้วจะติดยา เลิกไม่ได้ หรือกลายเป็น "ซอมบี้" ไป ยานั้นอาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาทั้งหมดของผู้ป่วยก็จริง แต่ยามีประโยชน์และช่วยให้ผู้ป่วยสบายเร็วขึ้น ยาทางจิตเวชในปัจจุบันมีความปลอดภัยสูง มีทั้งชนิดที่ทำให้ง่วงและชนิดที่ไม่ทำให้ง่วง และยาส่วนใหญ่ไม่เสพติดโดยเฉพาะเมื่อใช้ให้ถูกวิธี


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
infomental.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เมื่อไรจึงควรไปพบ จิตแพทย์ อัปเดตล่าสุด 12 พฤศจิกายน 2552 เวลา 17:51:17 27,320 อ่าน
TOP