"หัวเฉียว"เผยคนกรุง ชอบกินวิตามิน-อาหารเสริม (ข่าวสด)
"หัวเฉียว" สำรวจพฤติกรรมการบริโภควิตามิน-อาหารเสริมของคนกรุง แนะภาครัฐจับมือเอกชนให้ข้อมูลผู้บริโภครอบด้านทั้งคุณและโทษ
ดร.วรางคณา วิเศษมณี ลี หัวหน้าทีมสำรวจและผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขจากคณะสาธารณสุขศาสตร์และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยว่า จากการออกแบบสำรวจ "หัวเฉียวโฟกัส" พบว่า ประชาชนในกรุงเทพฯ ร้อยละ 60 เคยรับประทานวิตามินและอาหารเสริม
โดยในส่วนของวิตามินนั้น ร้อยละ 66.2 บริโภควิตามินซี ขณะที่ร้อยละ 73.8 บริโภคอาหารเสริมเพื่อบำรุงร่างกาย
นอกจากนั้นพบด้วยว่า ประชาชนร้อยละ 38.6 ทานอาหารเสริมหรือวิตามินอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้งหรือมากกว่า และร้อยละ 30.7 รับประทานเป็นประจำทุกวัน ในเรื่องค่าใช้จ่าย ร้อยละ 60.8 มีค่าใช้จ่ายเดือนละไม่เกิน 1,000 บาท
ผลสำรวจทัศนคติที่มีต่อวิตามินและอาหารเสริม ผู้บริโภคร้อยละ 54.2 คิดว่าการทานวิตามินและอาหารเสริมเป็นสิ่งมีประโยชน์ เพราะร่างกายอาจได้รับสารอาหารไม่ครบทุกประเภท อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 21.6 ไม่บริโภควิตามินและอาหารเสริม เพราะคิดว่าไม่มีประโยชน์ และก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายเพราะการรับวิตามินหรืออาหารเสริมที่มากไป อาจเกิดสารตกค้างและเป็นอันตรายต่อร่างกาย ควรรับจากธรรมชาติดีกว่าของที่สังเคราะห์ขึ้นมา
ดร.วรพจน์ กนกกันฑพงษ์ หนึ่งในผู้ร่วมทำการสำรวจ อธิบายว่า เหตุผลที่คนส่วนใหญ่เลือกบริโภค "วิตามินซี" มากเป็นพิเศษ น่าจะเกิดขึ้นเพราะว่าประเทศไทยอยู่ในเขตอากาศร้อนชื้น มีความผันแปรของอากาศอยู่ตลอดเวลา ทำให้คนเป็นหวัดบ่อยครั้ง คนส่วนมากทราบคุณประโยชน์ของวิตามินซีว่า สามารถช่วยเสริมภูมิคุ้มกันโรคภูมิแพ้ และป้องกันการเป็นโรคหวัดได้ แต่ร่างกายไม่สามารถสร้างวิตามินซีขึ้นเองได้ จึงต้องรับประทานเสริม อีกทั้งวิตามินซีสามารถรักษาอาการอักเสบ อันเนื่องมาจากแบคทีเรียและไวรัสได้ด้วย
"แต่การป้องกันโรคใด ๆ ต้องใช้หลายวิธีการร่วมกัน และเราสามารถรับวิตามินซีได้จากอาหารประเภทผักและผลไม้" ดร.วรพจน์ ระบุ
ด้าน ดร.ศิริวรรณ ตันตระวาณิชย์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ความเห็นเรื่องตลาดของอาหารเสริมในอนาคตว่า น่าจะมีการเจริญเติบโตในระดับที่สูง
เนื่องจากปัจจุบันประชาชนหันมาใส่ใจกับเรื่องของสุขภาพมากขึ้น ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ผู้คนยังคงต้องการมีสุขภาพที่ดี และ "โฆษณา" ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตลาดอาหารเสริมยังอยู่ได้ และมีแนวโน้มการเติบโตสูงขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ทั้งภาคราชการและผู้ประกอบการจึงควรให้ข้อมูลการบริโภควิตามิน-อาหารเสริม กับประชาชนทั้งคุณและโทษ รวมถึงปัจจัยความคุ้มค่าในเรื่องราคาด้วย
เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก