ตรวจวัด พีเอสเอ หาความเสี่ยง มะเร็งต่อมลูกหมาก

ตรวจร่างกาย

ตรวจวัด พีเอสเอ หาความเสี่ยง มะเร็งต่อมลูกหมาก (เดลินิวส์)
นท.ดร.นพ.สมพล  เพิ่มพงศ์โกศล หน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

          เป็นอีกโรคหนึ่งที่น่ากลัวที่สุดไปแล้ว สำหรับ มะเร็งต่อมลูกหมาก  ซึ่งเชื่อว่า คุณผู้ชายแทบทุกคน ควรจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกันอย่างจริงจังเสียที

          ที่กล่าวเช่นนี้เป็นเพราะว่า ส่วนมากแล้วมะเร็งทุกชนิด มักไม่แสดงอาการในระยะแรกเริ่มให้เห็น แต่จะมารู้ตัวว่าเป็น ก็แสดงอาการในระยะที่  2 ที่ 3 เข้าไปแล้ว ดังนั้น วิธีการตรวจคัดกรองหรือตรวจหาว่ามีความผิดปกติของการเกิดมะเร็ง จึงน่าจะเป็นวิธีที่ดีในการระมัดระวังตัวเอง ให้ห่างไกลจากมะเร็ง

          เช่นเดียวกัน มะเร็งต่อมลูกหมาก ก็มีวิธีในการตรวจคัดกรองเพื่อหาความเสี่ยง วิธีการดังกล่าวเรียกว่า พีเอสเอ (Prostate-specific antigen; PSA) ซึ่ง พีเอสเอ เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ผลิตขึ้นจากเซลล์ของต่อมลูกหมาก พีเอสเอ นั้นเป็นส่วนหนึ่งของต่อมอสุจิที่ทำให้มีลักษณะเป็นน้ำ ส่วนใหญ่ พีเอสเอ มักจะออกจากร่างกายระหว่างการหลั่งน้ำอสุจิ แต่มีปริมาณน้อยที่จะสามารถเข้าสู่กระแสเลือด

          การตรวจวัดค่า พีเอสเอ ก็เหมือนกับการตรวจเลือดทั่วไปกล่าวคือ ค่า พีเอสเอ สามารถวัดได้จากการเจาะเลือด ระดับค่า พีเอสเอ จะถูกวัดโดยวิธีการทางห้องปฏิบัติการที่เรียกว่า การวิเคราะห์ภูมิคุ้มกันทางเคมี ซึ่งวัดค่าเป็นนาโนกรัมต่อมิลลิลิตร ผลระดับค่า พีเอสเอ ที่สูงขึ้นหมายถึงสัญญาณของความผิดปกติของต่อมลูกหมาก

          โดยทั่วไป ผู้ชายอายุ 70 ปีขึ้นไป มักมีค่า พีเอสเอ สูงกว่าผู้ชายอายุ 40 ปี สิ่งที่สำคัญของการมีค่า พีเอสเอ สูงขึ้นไม่จำเป็นต้องหมายถึงการมีมะเร็งต่อมลูกหมากทุกราย ซึ่งจะเน้นว่าการวินิจฉัย มะเร็งต่อมลูกหมาก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการตรวจเลือดหา ค่า พีเอสเอ เพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องยึดหลักการตรวจร่างกายและซักประวัติครอบครัว ตลอดจนวัดผลจากการทดสอบต่อมลูกหมากต่อไป และแม้ว่าผู้ชายที่ไม่ได้เป็นมะเร็ง ค่า พีเอสเอ ก็อาจจะค่อย ๆ สูงขึ้นตามอายุได้เช่นกัน

ผลจากการวัดค่า พีเอสเอ มีความหมายอย่างไร

          ถ้าการตรวจทางทวารหนักและค่า พีเอสเอ ปกติเป็นที่น่าพอใจ ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจโรคเพิ่มเติม แพทย์อาจจะแนะนำให้มาตรวจทั้งทางทวารหนักและค่า พีเอสเอ ปีละหนึ่งครั้ง ถ้าค่าพีเอสเอสูงหรือการตรวจทางทวารหนักพบว่าต่อมลูกหมากมีความผิดปกติ แพทย์ก็จะนำชิ้นเนื้อมาทำการตรวจ

          ย้ำอีกครั้งว่า การตรวจวัดค่า พีเอสเอ เพียงอย่างเดียว อาจไม่ใช่หนทางที่เพียงพอนัก จึงอาจต้องมีการตรวจเพิ่มเติมทางทวารหนัก และพิจารณาจากอายุ ซึ่งทั้งหมดจะถูกนำมาประเมินความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากต่อไป

อะไรเป็นสาเหตุให้พีเอสเอมีการเปลี่ยนแปลง

          บางครั้งค่า พีเอสเอ ที่สูงขึ้น หรือมีการเปลี่ยนแปลงอาจเกิดจากเหตุผลอื่น ๆ นอกเหนือจากมะเร็งก็ได้ เพราะการมีต่อมลูกหมากโต ต่อมลูกหมากอักเสบ การมีเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ หรือการออกกำลังกายอย่างหนัก ทำให้ส่งผลต่อระดับ พีเอสเอ ซึ่งรวมทั้งการตรวจทางทวารหนัก และการรับประทานยาก็อาจทำให้ค่า พีเอสเอ เปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะยาที่มีผลต่อฮอร์โมน เป็นต้น
      
ควรได้รับการตรวจค่าพีเอสเอหรือไม่

          ในประเทศสหรัฐอเมริกาและในยุโรป มีการแนะนำให้มีการตรวจต่อมลูกหมากปีละครั้ง สำหรับผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และคาดหวังว่าจะสามารถมีชีวิตอยู่โดยปราศจากโรค มะเร็งต่อมลูกหมาก ได้อย่างน้อย 10 ปี สำหรับผู้ชายที่มีอัตราเสี่ยงของ มะเร็งต่อมลูกหมาก จากการมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ควรได้รับการตรวจเริ่มต้นที่อายุ 45 ปี ส่วนผู้ชายอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหา มะเร็งต่อมลูกหมาก ในระยะเริ่มแรก การตรวจเพื่อหามะเร็งควรทำทันทีเมื่อมีอาการทางระบบปัสสาวะ

          สิ่งสำคัญที่ควรมีการตระหนักคือ การตรวจ พีเอสเอ เป็นเครื่องมือในการตรวจโรคของ มะเร็งต่อมลูกหมาก ที่ไม่สมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม การตรวจร่างกายประจำปีสามารถช่วยให้หลีกเลี่ยงการมีภาวะแทรกซ้อนของโรค มะเร็งต่อมลูกหมากได้

ควรตรวจค่าพีเอสเอบ่อยแค่ไหน

          ถ้าค่าพีเอสเอและการตรวจทางทวารหนัก ได้ผลเป็นปกติตั้งแต่เริ่มแรก แพทย์ผู้มีประสบการณ์ส่วนใหญ่จะแนะนำให้มีการตรวจทั้งสองวิธีทุกปี

มาถึงบรรทัดนี้แล้ว หลายคนคงเกิดคำถามขึ้นว่า แล้ววิธีการตรวจทางทวารหนัก ทำอย่างไร

          การตรวจทางทวารหนักร่วมกับการตรวจค่าพีเอสเอ จะทำเมื่อมีการตรวจโรคหามะเร็ง หรือเมื่อมีการประเมินคนไข้ชายสำหรับปัญหาการถ่ายปัสสาวะ

          การตรวจทางทวารหนักเป็นการตรวจที่ง่ายและมีความสำคัญ คนไข้ที่ได้รับการตรวจทางทวารหนักจะนอนหงายงอตัวบนเตียงตรวจ หรือนอนตะแคงบนเตียง แล้วงอขาขึ้นให้เข่าชิดหน้าอก แพทย์จะใช้นิ้วมือที่สวมถุงมือที่ทาสารหล่อลื่นด้านนอกสอดเข้าไปในทวารหนัก เพราะต่อมลูกหมากอยู่หน้าต่อมทวารหนัก

          แพทย์จะตรวจได้ความรู้สึกว่าต่อมลูกหมากโตมากผิดปกติหรือไม่ รวมทั้งการมีก้อนนูน มีรูปร่างหรือเนื้อผิวของต่อมลูกหมากที่บ่งบอกความเป็นไปได้ของการเป็น มะเร็ง ถึงแม้การตรวจทางทวารหนักทำให้คนไข้รู้สึกไม่สะดวก แต่ก็จะใช้เวลาไม่กี่นาทีเท่านั้นต่อการตรวจหนึ่งครั้ง

          การตรวจวัดค่าพีเอสเอ ร่วมกับการตรวจทางทวารหนัก เป็นวิธีการที่ใช้กันมากในปัจจุบัน จุดประสงค์เดียวคือเพื่อตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก แต่หากสงสัยว่าตัวเองเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่ หนทางที่ดีที่สุดก็คือ การตรวจคัดกรองอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง สำหรับผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป

          ฉะนั้น อย่านิ่งนอนใจ หันมาเตรียมความพร้อมก่อนที่มะเร็งจะถามหากันดีกว่า ในงาน "มาดูแลสุขภาพชาย เพื่อวันพ่อกันเถิด" งานที่หน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดขึ้น โดยกิจกรรมภายในงาน นอกจากจะมีการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพเพศชายแล้ว ยังมีบริการตรวจสุขภาพ วัดความดัน วัดความหนาแน่นของมวลกระดูก วัดความแรงของปัสสาวะ วัดรอบเอว เจาะเลือดตรวจไขมัน รวมทั้งตรวจวัดสมรรถภาพทางเพศ เรียกได้ว่าฟรี!! ตลอดทั้งงาน...

          อย่าพลาดพบกันในวันเสาร์ที่ 28 พ.ย.นี้ ตั้งแต่เวลา 06.30-12.30 น. ที่ห้องประชุมชั้น 5 อาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ ติดต่อลงทะเบียนล่วงหน้าได้ที่หมายเลข 0-2201-2790


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตรวจวัด พีเอสเอ หาความเสี่ยง มะเร็งต่อมลูกหมาก อัปเดตล่าสุด 20 พฤศจิกายน 2552 เวลา 17:06:20 4,021 อ่าน
TOP
x close