x close

ปูเป้ กับฉายา เจ้าแม่เอดส์






เรียกเธอว่า เจ้าแม่เอดส์ (กรุงเทพธุรกิจ)

          จากอาชีพแม่ค้าไอศกรีม ไม่มีใครคิดว่า วันหนึ่ง หญิงสาวร่างท้วม ช่างพูด และยิ้มแย้มแจ่มใสคนนี้ จะกลายเป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน ในฐานะของผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคเอดส์

          ความเชี่ยวชาญที่ว่านั้น ขยายตัวไปไกลในภูมิภาคต่าง ๆ ทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีจำนวนไม่น้อยเดินทางมาเพื่อขอคำปรึกษาในการดูแลตัวเอง และใช้บ้านของเธอเป็นที่พักพิงอาศัย เพื่อสร้างกำลังใจก่อนจะออกสู่โลกภายนอก

1.ยอมรับตัวเอง

          "คนส่วนใหญ่มองว่า ถ้าเป็นเอดส์แล้วจะต้องตาย แต่ครอบครัวเราอยู่ได้ จุดนั้นทำให้พี่เกิดความรู้สึกว่า ทำอย่างไรถึงจะช่วยคนอื่นให้รอดได้ เหมือนครอบครัวเรา"

          "สมบูลย์  ไชยสาส์น หรือ "ปูเป้" เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการก่อตั้งศูนย์ ให้คำปรึกษาเรื่องโรคเอดส์ ที่อำเภอกุมภวาปี  จังหวัดอุดรธานี  โดยใช้พื้นที่บ้านส่วนหนึ่งเป็นศูนย์ให้คำปรึกษา ใช้องค์ความรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านการอบรมเรื่องโรคเอดส์ และจากประสบการณ์ตรงในการดูแลสามีที่ติดเชื้อเอชไอวี มาใช้ในกระบวนการให้คำปรึกษา

          จุดเริ่มต้นในการตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาเกิดขึ้นเมื่อปี 2535 ปูเป้ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อรายแรก จากที่คนในชุมชนคาดว่าผู้ติดเชื้อรายนี้ อีกไม่นานก็อาจเสียชีวิตเหมือนผู้ป่วยคนอื่น ๆ แต่แล้วการบำบัดของปูเป้ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อมีกำลังใจ กำลังใจกลายเป็นยาชูกำลังชั้นดี ผู้ป่วยหันกลับมาต่อกรกับโรคร้าย กระทั่งสามารถดำรงชีวิตได้ ไม่ต่างจากคนปกติทั่ว ๆ ไป

          ต่อมาในปี 2544  เธอพบข่าวร้ายว่า สามีของเธอติดเชื้อเอชไอวี แน่นอนว่า นำมาซึ่งความเสียใจให้กับคนในครอบครัว ปูเป้ยอมรับว่า ใช้เวลาไม่นานนักในการยอมรับกับโรคร้ายที่เกิดกับสามี แต่สำหรับตัวสามี ต้องใช้เวลานานนับปี กว่าจะยอมรับความจริงได้

          "ตอนแฟนพี่ติดเชื้อมา พี่ก็ต้องคุยกันว่า เราจะอยู่กับโรคนี้ยังไงต่อไป จากประสบการณ์ที่ไปช่วยเหลือคนอื่น จนตอนนี้มาเกิดกับคนใกล้ตัวก็ทำให้เราต้องเข้มแข็งให้มากที่สุด" น้ำเสียงของปูเป้กล่าวจริงจัง

          ปูเป้เริ่มวิธีแรกด้วยการเปิดใจพูดคุยกับสามี และทำให้เขายอมรับในสิ่งที่เป็น เพื่อจะได้ร่วมกันหาทางเยียวยารักษา จนกระทั่งสามียอมรับ และกล้าเปิดเผยตัวเองกับคนรอบข้าง จากความกดดันในตัวเอง กลับกลายเป็นความผ่อนคลายสบายใจ

          เมื่อถามว่า แล้วชุมชนรอบข้างมีปฏิกิริยาอย่างไรกับการเปิดเผยตัวว่าเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี หญิงวัย 39 ปีคนเดิมตอบว่า

          "เป็นธรรมดาที่คนอื่นก็ต้องตั้งข้อสังเกตบ้าง เพราะโรคนี้ยังถูกมองว่าเป็นตัวประหลาด แต่เมื่อเราแสดงให้เขาเห็นว่า โรคนี้อยู่ร่วมกับคนอื่นได้ ชุมชนก็เริ่มปรับตัวและเข้าใจ มันเป็นการช่วยเยียวยาคนป่วยไปในตัว"

          ปูเป้ ย้อนความเก่า ๆ ว่า เมื่อชาวบ้านในชุมชนทราบว่า สามีของเธอเป็นผู้ติดเชื้อ จากความคิดที่เคยเชื่อว่า เป็นเอดส์แล้วจะตาย น่ารังเกียจ แต่เมื่อเห็นสามีของเธอสามารถมีชีวิตอยู่ได้ อีกทั้ง สามีก็ยังสามารถอยู่ร่วมบ้านเดียวกับเธอ และลูก ๆ อย่างปลอดภัย คนในชุมชนจึงปรับความเข้าใจว่า ผู้ป่วยเอดส์ก็คือโรค ๆ หนึ่งที่อยู่ร่วมกันได้  

2. คนรอบข้างต้องเปิดใจ

          ในกระบวนการบำบัดและให้คำปรึกษาของปูเป้ นอกจากการรักษาทางด้านร่างกาย ด้วยการใช้สมุนไพรและยาต้านเชื้อจากโรงพยาบาลเข้าช่วยแล้ว ปูเป้ยังมองว่า การรักษาและบำบัดภายในจิตใจก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยในช่วงเวลานั้นปูเป้ได้รับการถ่ายทอดกระบวนการส่วนหนึ่งจากนักวิจัยด้านสุขภาวะ โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

          "ขั้นตอนการดูแลของพี่คือรับฟังเขาก่อน ผู้ติดเชื้อยังไม่ใช่ผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อคือรับเชื้อเข้ามาอยู่ในร่างกาย  ยังไม่ได้เจ็บป่วย หรือมีความผิดปกติอะไร จากการบำบัดก่อนหน้านี้ค่าเม็ดเลือดของสามีพี่ต่ำกว่ามาตรฐานของคนปกติทั่วไป แต่ตอนนี้มีค่าเม็ดเลือดสูงขึ้น"

          อีกทางเลือกหนึ่งที่ปูเป้ให้คำปรึกษา คือการเลือกที่จะเปิดตัวว่าตัวเองติดเชื้อ เพื่อให้ทำการรักษาทางร่างกาย  และการบำบัดทางจิตใจได้อย่างตรงจุด

          "เวลามีคนขอคำปรึกษา พี่ก็อธิบายให้เขาฟัง ถ้าเปิดตัวมีข้อดียังไง ไม่เปิดตัวมีข้อดียังไง ตรงนี้ให้เขาเลือกว่าจะเลือกแบบไหน อย่างสามีพี่ก็เลือกที่จะบอกคนในชุมชน ยอมรับว่าตัวเองติดโรค ก็ยังอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้ เพราะยอมรับตัวเองแล้วรู้จักวางตัว ถ้าเราไม่ทำตัวว่าติดโรคแล้วดูน่ารังเกียจ สังคมเขาก็จะไม่มองเราแบบนั้น ต้องเริ่มที่เรายอมรับความจริงก่อน" ปูเป้เล่ายิ้ม ๆ

          นอกจากนี้ มีการจัดการสันทนาการให้แก่ผู้ป่วยติดเชื้อ โดยนำมาเข้ากลุ่มและจัดกิจกรรมสันทนาการร่วมกัน เพื่อให้เกิดความสนุกสนานและเสริมสร้างกำลังใจให้แก่กัน

          บทบาทหน้าที่ของปูเป้ นอกจากเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์ และคอยให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยติดเชื้อเอดส์แล้ว เธอยังเป็นตัวกลางในการติดต่อส่งผู้ติดเชื้อไปยังโรงพยาบาลของรัฐเพื่อให้เกิดการช่วยเหลือต่อไป

          การมีบทบาทเป็นทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และได้ประกวด อสม. ระดับประเทศ ในสาขาโรคเอดส์ ทำให้ปูเป้เป็นที่รู้จักของคนในเขตภาคอีสานและนอกภูมิภาคมากขึ้น หลายคนเดินทางไกลเพื่อมาขอคำปรึกษา และขออาศัยด้วยเพื่อรักษาตัว ก่อนจะออกไปเผชิญโลกความเป็นจริง จึงไม่แปลกอะไรที่เธอจะได้รับฉายาว่า "เจ้าแม่เอดส์"

          "พี่ดูแลผู้ติดเชื้อดูแลเอง ไม่ได้สังกัดกับหน่วยงานไหน ทำด้วยใจ ดูแลผู้ติดเชื้อไม่ใช่ง่าย ๆ เพราะผู้ป่วยบางคนผิวหนังเปื่อยมากเลย เราต้องส่งเข้าไปรักษา แล้วก็ดูแลเรื่องกำลังใจ ต่อครอบครัวยอมรับเรื่องโรคเอดส์ สังคมก็ยอมรับ พี่ไม่ได้ทำงานเฉพาะกับผู้ที่ติดเชื้อ ยังทำหน้าที่ในการปรับทัศนคติกับคนในชุมชน  คนรอบข้าง คนในครอบครัวของเขาให้เข้าใจในเรื่องโรคนี้ด้วย"

3.ทำความเข้าใจกับสังคม

          เมื่อทำความเข้าใจกับผู้ติดเชื้อให้ยอมรับและดูแลตัวเองไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น ปูเป้จึงเดินหน้าทำความเข้าใจกับชุมชน เพื่อนำเสนอความรู้ว่า เอดส์ก็อยู่ร่วมกันได้ โดยยกตัวอย่างจากครอบครัวของเธอ

          บรรจบ (นามสมมติ) สามีของปูเป้ ผู้เป็นแรงผลักดันให้ปูเป้ก่อตั้งศูนย์ให้คำปรึกษา เขาย้อนกลับไปวันที่พบว่าตัวเองเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีว่า ทำใจไม่ได้  แต่ได้รับกำลังใจและร่วมกิจกรรมกับกลุ่มผู้ติดเชื้อด้วยกัน จึงได้เห็นมุมมองของการใช้ชีวิต
          
          "ตอนนั้นกินเหล้าเยอะ เลยช็อกส่งโรงพยาบาล ตอนนั้นเลยตรวจเจอว่าติดเชื้อเอชไอวีที่โรงพยาบาล ตอนแรกเขาก็บอกดี ๆ นะ ว่ารับได้มั้ย ก็คิดอยู่หลายวัน แต่เป็นไปแล้ว ก็ต้องยอมรับได้ มันก็ไม่มีใครอยากเป็นหรอก แต่มันเป็นไปแล้ว"


          แต่กำลังใจจากคนรอบข้าง ก็ส่งผลให้เขามีกำลังใจ  และคิดที่จะมีชีวิตอยู่ต่อเพื่อเอาชนะโรคร้าย

          "ตอนนั้นก็ได้รับกำลังใจจากพี่ชาย พี่ชายก็บอกว่า ต้องกระโดดข้ามคลองให้ได้ ถ้าโดดพ้นก็รอด" คำว่าคลองของบรรจบหมายถึง การก้าวพ้นความกลัว และเอาชนะโรคร้ายด้วยการทำใจยอมรับและดูแลตัวเองให้ดีที่สุด

          หลังจากนั้นสามีของปูเป้ก็ไปรับยาต้าน ที่โรงพยาบาลในขอนแก่น จากการช่วยเหลือของภรรยา อีกทั้งยังมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมกับผู้ติดเชื้อด้วยกัน ทำให้ได้พบว่าชีวิตที่เหลืออยู่ของเขา ไม่ได้สั้นอย่างที่คิด

          "การติดโรคนี้มันก็ไม่ใช่ง่าย ๆ เชื้อโรคมันกระโดดไปหากันไม่ได้ ถ้าคนเรามีความรู้ก็จะเข้าใจมันมากขึ้น ต้องเปลี่ยนทัศนคติของคน แต่สมัยนี้ก็เปลี่ยนไปแล้วแหละ คนเข้าใจกันมากขึ้น" เขากล่าว

          เช่นเดียวกับ สมคิด (นามสมมติ) หญิงวัย 59 ปี  ผู้เข้ารับการรักษาที่ศูนย์ให้คำปรึกษาแห่งนี้ ได้เล่าว่า เริ่มแรกเธอติดเชื้อเอชไอวีจากสามีโดยไม่รู้ตัว หลังจากทราบว่าตัวเองป่วยและได้รับเชื้อ ก็ได้รับคำแนะนำให้มารับคำปรึกษาที่ศูนย์ฯ แห่งนี้ ซึ่งได้เข้ารับการดูแลมา 2 ปีแล้ว จากตอนนั้น มีภาวะโรคแทรกซ้อนทำให้เชื้อราขึ้นสมอง ส่งผลต่อการมองเห็นและการรับฟังเสียง ปัจจุบันอาการดังกล่าวได้ทุเลาลง เพราะการให้คำแนะนำของปูเป้

4. ขยายฐานสู่เยาวชน 

          นอกจากการให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้ว ปูเป้ยังได้ดึงเยาวชนมาเพื่อร่วมรณรงค์การป้องกันโรคเอดส์ด้วยโครงการป้องกันตนเอง โดยอบรมให้เยาวชนในโครงการสามารถเป็นวิทยากรได้ และนำทีมไปแจกถุงยางในวันต่าง ๆ อย่าง วันเอดส์โลก วันวาเลนไทน์  และคาดว่า การดึงเยาวชนเหล่านี้มาร่วมโครงการ จะทำให้เกิดพลังจากเยาวชน และช่วยลดปัญหาโรคเอดส์ ที่แพร่ไปยังกลุ่มวัยรุ่นอย่างรวดเร็ว

          "พี่มองว่าการใช้ถุงยางอนามัย เป็นการป้องกันโรคเอดส์ที่ดีที่สุด ถ้าหากเราห้ามไม่ได้ก็ควรที่จะป้องกัน นอกจากป้องกันเรื่องเอดส์ยังป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ อย่างพวกหนองในได้ด้วย  แต่เราก็ต้องสื่อให้กับพ่อแม่เด็กเข้าใจ สังคมเข้าใจ ว่าการพกถุงยางอนามัยไม่ใช่เรื่องสำส่อน"

          นอกจากนี้ พี่ปูเป้ยังมองว่า สื่อโฆษณาในปัจจุบัน ควรจะมีการสนับสนุนทัศนคติการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ด้วยการสวมถุงยางอนามัยให้ถูกจุด เพื่อให้เกิดทัศนคติแง่บวกในการใช้ถุงยางอนามัย

          "ก่อนมาถึงตรงนี้ ใช้เวลา 10 กว่าปี พี่ไม่ได้เรียนมาหรอก พี่จบ ป.6  ไม่ได้เงินเดือน ทำจนไม่มีเวลา แต่พี่คิดว่ามันเป็นโอกาสของครอบครัวพี่ เห็นคนอื่นมีความสุข ครอบครัวมีความสุข ได้ช่วยคนอื่นเราก็มีความสุข ขนาดหมอ พยาบาลเห็นคนป่วยเขายังช่วยเลย เราเป็นแค่ชาวบ้าน เราก็อยากช่วยบ้าง" ปูเป้บอก

         ผศ.ดร.กิตติยาภรณ์ โชคสวัสดิ์ภิญโญ อาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ  มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี  ได้ศึกษาวิจัยโครงการเสริมสร้างพลังอำนาจเพื่อดูแลในครอบครัว ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอดส์ โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งได้ทำงานร่วมกับปูเป้ ในฐานะต้นแบบของผู้เสริมสร้างอำนาจในการดูแลผู้ป่วย

         ผศ.ดร.กิตติยาภรณ์ กล่าวว่า เหตุผลที่โครงการนี้ ดึงปูเป้มาร่วมเป็นโมเดลของการเสริมพลัง เพราะปูเป้มีคุณสมบัติที่ตรงกับคอนเซปต์ การเสริมสร้างพลังอำนาจในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นความเป็นคนอัธยาศัยไมตรีดี การทำอาชีพค้าขายทำให้คนรู้จักจำนวนมาก ถือเป็นสื่อกลางของชุมชนที่ดี

         นอกจากนี้ นักวิชาการคนเดิมย้ำว่า การใช้กระบวนการเสริมพลังในการฟื้นฟูผู้ป่วย ก็ถือว่าเป็นกระบวนการที่สำคัญ  เนื่องจากช่วยเสริมสร้างให้ผู้ป่วยมีความแข็งแรงจากภายใน โดยแรงนั้นต้องเสริมมาจากคนใกล้ชิดในครอบครัว และสังคม

         "การเสริมสร้างพลังอำนาจ ต้องพร้อมทั้งคนให้และคนรับ คนให้ต้องให้ด้วยใจ ส่วนคนรับ ถ้ามีอคติจากเดิม ว่าสังคมคงรังเกียจเค้าอยู่ ในจุดนี้จะทำให้ไม่สามารถรับกันได้อย่างเต็มที่ ในระยะแรกเป็นระยะโกรธ คนที่เพิ่งรู้ว่าตนเองติดเชื้อก็ยังโกรธอยู่ ก็ทำให้เค้าอยู่กับตัวเอง เราต้องเข้าใจ แต่เมื่ออยู่ในระยะที่สอง เป็นระยะ Social support ตอนนี้เราต้องเริ่มเข้าไปเยียวยาให้เขาเข้าใจ"

          ผศ.ดร.กิตติยาภรณ์ เห็นว่า ในเรื่องร้าย ๆ มักจะมีเรื่องดีเกิดขึ้นเสมอ เช่น ครอบครัวของปูเป้ ก่อนหน้าที่จะพบว่า สามีติดเชื้อเอชไอวี สามีของปูเป้แทบจะไม่อยู่บ้าน เพราะเป็นคนชอบสังสรรค์ กระทั่งพบว่าติดเชื้อ จึงกลับมาอยู่กับครอบครัว และได้รับการดูแลอย่างดีจากคนรอบข้าง

         "ปูเป้พูดขึ้นมาคำหนึ่งว่า เขาดีใจที่สามีเป็นเอดส์ เพราะเขาได้สามี ลูกไม่เคยกอดพ่อ ไม่เคยกินข้าวร่วมกัน แต่เมื่อสามีเขาเป็นปุ๊บกำลังใจที่ได้ เขาได้จากใคร ก็ปูเป้  คนที่ดูแลเขาก็ปูเป้ เขาก็ไม่คิดว่าเอดส์ต้องมาทำลายความเป็นสามีภรรยา แต่เอดส์ทำให้สามีเขากลับคืนมา" ผศ.ดร. กิตติยาภรณ์ เล่า

         วันนี้ แม้การพัฒนายาจะทำให้คนเราสามารถอยู่ต่อสู้กับเอดส์ได้มากขึ้น แต่สิ่งนั้นคงไม่สำคัญเท่ากับ การยอมรับตนเองของผู้ป่วย และกำลังใจที่หยิบยื่นจากคนรอบข้าง เหมือนที่ปูเป้มอบให้กับคนรอบ ๆ




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปูเป้ กับฉายา เจ้าแม่เอดส์ อัปเดตล่าสุด 2 ธันวาคม 2558 เวลา 17:37:00 4,360 อ่าน
TOP