ภัยแฝงของหญิงยุคใหม่ เสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองตีบ (ไทยรัฐ)
เผยสถิติผู้หญิงมีโอกาสตายจากหลอดเลือดสมองแตกมากกว่าผู้ชาย แนะวิธีป้องกันพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารครบ 5 หมู่ ออกกำลังกาย และตรวจสุขภาพประจำปี...
ภัยแฝงของผู้หญิงยุคใหม่ ที่ต้องรับผิดชอบทำงานหนักทั้งในบ้านและนอกบ้าน กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อ "โรคหลอดเลือดสมองแตก-ตีบตัน" อย่างไม่รู้ตัว ทั้งนี้ นพ.ชาญพงศ์ ตังคณะกุล ผู้อำนวยการศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาล กรุงเทพ เปิดเผยว่า จากสภาพแวดล้อมรอบตัวผู้หญิง ในยุคนี้ ล้วนมีภัยเงียบที่แฝงตัวคอยทำร้าย ทั้งความเครียดจากการทำงาน การพักผ่อนไม่เพียงพอ การรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา ไม่มีเวลาออกกำลัง จึงมีรูปร่างอ้วน รวมไปถึงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ เหล่านี้ล้วนเป็นผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย และหากมีอายุมากกว่า 50 ปี มีอาการเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงหรือโรคหัวใจ หรือมีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งล้วนเป็นความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองแตก-ตีบตัน จากสถิติพบว่า ผู้หญิงมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองแตก-ตีบตันถึง 60% ในขณะที่ผู้ชายมีโอกาส 40%
คุณหมอชาญพงศ์กล่าวต่อว่า อาการเตือนภัยของโรคหลอดเลือดสมองแตก-ตีบตัน สังเกตได้จาก เช่น แขนขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง หรือชาบริเวณใบหน้าซีกใดซีกหนึ่ง ตาข้างใดข้างหนึ่งพร่ามัว หรือมองเป็นภาพซ้อน มีปัญหาด้านการพูดหรือการเข้าใจ บทสนทนา ปวดศีรษะเฉียบพลันแบบไม่มีสาเหตุ รวมถึงอาการวิงเวียนหรือวูบแบบเฉียบพลัน หากมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อไรให้ไปพบแพทย์ทันที เพราะความแตกต่างระหว่างรายที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต กับรายที่มีอาการไม่รุนแรงนัก ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยถึงมือแพทย์ได้เร็วเพียงใดอย่างเดียวเท่านั้น
ส่วนวิธีการป้องกันโรค คุณหมอชาญพงศ์แนะนำว่า วิธีที่ดีที่สุดคือการดูแลตัวเองแบบง่ายๆ และทำอย่างสม่ำเสมอ คือ การพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และเลือกที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ออกกำลังกายและตรวจสุขภาพประจำปีจะช่วยได้อย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะเป็นการตรวจเพื่อหาปัจจัยเสี่ยง ถ้าเจอแล้วคุมได้นั่นหมายถึงการซื้ออนาคตที่จะไม่ให้ตัวเองเป็นอัมพาตได้ในภายหน้า โรคบางอย่างในระยะแรกๆ ไม่มีอาการบ่งบอกเลย เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เพราะฉะนั้นอย่ารอให้มีอาการแล้วค่อยไปตรวจ
คุณหมอชาญพงศ์กล่าวต่ออีกว่า เช่นเดียวกับอาการโรคหลอดเลือดสมองแตก-ตีบตัน สามารถตรวจได้โดยวิธีการตรวจสมองด้วยคอมพิวเตอร์ (CT Scan) เป็นการตรวจดูความผิดปกติของหลอดเลือดสมองว่า มีการแตก-ตีบตัน หรือไม่ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเฉียบพลันมาถึงโรงพยาบาลภายใน 3 ชม.แรกที่มีอาการ และการตรวจสมองด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) เป็นการถ่ายภาพเอกซเรย์สมองแม่เหล็กที่สามารถให้รายละเอียดของสมองได้ดีและชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมถึงสามารถบอกได้ว่า หลอดเลือดอุดตันและเนื้อสมองที่ตายเกิดมานานหรือยัง การรักษาสามารถช่วยให้เนื้อตายกลับฟื้นมาใหม่ได้หรือไม่ การตรวจนี้ยังตรวจสภาพหลอดเลือดได้โดยไม่ต้องฉีดสีเข้าร่างกายอีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก