x close

มะเร็งเต้านม หายได้ ถ้าพบแต่เนิ่น ๆ

มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านมไม่ใช่ฝันร้าย หายได้ถ้าพบแต่เนิ่นๆ (Lisa)

          "มะเร็งเต้านม" โรคที่คร่าชีวิตผู้ป่วยมาก ทั้ง ๆ ที่มีการรณรงค์มาอย่างต่อเนื่องทุกปี แต่เปอร์เซ็นต์ผู้ป่วยกลับเพิ่มสูงขึ้น นั่นเป็นเพราะสาเหตุอันใด?

          ความรู้สึกแรกที่ไฮโซสาวอย่าง แหวนแหวน-ปาวริศา เพ็ญชาติ ตรวจพบก้อนเนื้อบริเวณหน้าอก และเมื่อไปหาหมอจึงพบว่าตัวเองป่วยเป็นมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกนั้น ช่างเป็นฝันร้ายของสาววัยหวาน เพราะขณะนั้นเธอมีอายุแค่ 23 ปี ในทางกลับกัน นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณา หงสกุล เพื่อเด็กและสตรี เริ่มรู้ตัวว่าป่วยเป็นมะเร็งเต้านมเมื่ออายุ 53 ปี โดยเธอเก็บงำความลับไว้คนเดียวโดยไม่แพร่งพรายให้สื่อได้รู้ กระทั่งไปตรวจและรักษาอย่างจริง ๆ จัง ๆ กับทางศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถเพื่อโรคมะเร็งเต้านมโรงพยาบาลจุฬาฯ และได้รับเลือกเป็นทูตโครงการรณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านมในปี 2552

          แม้โรคร้ายนี้จะคุกคามสาว ๆ ได้เกือบทุกวัย แต่อย่างน้อยการตรวจเจอโรคนี้เสียแต่เนิ่น ๆ ก็ช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตมากยิ่งขึ้น

ทำไมจึงมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น

          เหตุที่ตรวจพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เพราะวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ทันสมัยและมีความละเอียดมากขึ้น ทำให้มีการตรวจพบโรคในระยะเริ่มต้นมากขึ้น บวกกับคนสมัยนี้ดูแลตัวเองมากขึ้น บางคนก็หมั่นมาตรวจสุขภาพทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีอาการ และส่วนหนึ่งก็อาจตรวจเจอโรคและได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ

อะไรหนอเป็นสาเหตุ

          ส่วนใหญ่เป็นเพราะได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป นอกจากนั้น ยังพบว่าผู้ป่วยมีประวัติญาติใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้มาก่อน หรืออาหารการกิน เช่น อาหารไขมันสูง การสูบบุหรี่ รวมทั้งดื่มแอลกอฮอล์ ก็ช่วยเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้มากยิ่งขึ้น และถ้าผู้นั้นมีญาติป่วยเป็นโรคมะเร็งรังไข่ โดยเฉพาะถ้าป่วยตั้งแต่อายุน้อย ๆ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมด้วยเช่นเดียวกัน

มีอาการอย่างไรบ้าง

          มีก้อนที่เต้านม จับแล้วไม่เจ็บ แต่ก้อนนั้นจะโตเร็วมาก ๆ อย่างไรก็ดี เพียง 15-20% ของก้อนที่คลำได้คือมะเร็งเต้านม ของก้อนที่คลำได้คือมะเร็งเต้านม

          มีการเปลี่ยนแปลงขนาดและรูปร่างของเต้านม

          ผิวหนังบริเวณเต้านมเปลี่ยนแปลง เช่น ย่น หดตัว มีรอยบุ๋ม บางคนเป็นสะเก็ด หรือมีเนื้อหนาผิดปกติ

          มีเลือดหรือน้ำออกจากหัวนม

          รักแร้บวม เพราะต่อมน้ำเหลืองโต

          หัวนมและลานหัวนมมีผื่นแดงหรือมีน้ำเหลือง

แล้วการตรวจเต้านมมีกี่วิธีล่ะ

          คลำด้วยตัวเอง ให้นอนราบยกแขนขวาเหนือศีรษะ เพื่อให้เต้านมแบนราบจะได้คลำได้ง่ายขึ้นจากนั้น ใช้กึ่งกลางของนิ้วชี้ กลาง และนางคลำให้ทั่วเต้านมและรักแร้ โดยอย่าบีบเนื้อเต้านม เพราะจะทำให้รู้สึกว่าเจอก้อนอะไรบางอย่าง ซึ่งความจริงไม่ใช่ หลังจากนั้นใช้วิธีเดียวกันนี้กับเต้านมข้างซ้าย

          ให้หมอคลำ เพื่อความแม่นยำมากขึ้น

          ตรวจด้วยอัลตร้าซาวนด์และเมมโมแกรม ซึ่งตามโรงพยาบาลใหญ่ ๆ จะมีเครื่องพวกนี้อยู่ ซึ่งคุณภาพจะแตกต่างกันไป ยิ่งเป็นเครื่องรุ่นใหม่ ก็จะยิ่งให้ความคมชัดมากขึ้นเท่านั้น

รักษาด้วยวิธีไหนเหรอ

          หมอจะรักษาด้วยวิธี Multi-Modalities คือใช้หลายวิธีควบคู่กัน แต่วิธีหลัก ๆ คือผ่าตัดเพื่อเอาเนื้อร้ายออกจากร่างกาย

          ผ่าตัด ซึ่งจะรวมถึงการผ่าตัดเต้านมทิ้ง หรือคว้านเอาก้อนมะเร้งออก โดยไม่ตัดเต้านม รวมถึงการคว้านเอาเต้านมออกทั้งเต้า แต่เก็บผิวหนังไว้ และเอาเนื้อที่อื่นมาใส่ไว้ข้างในแทน

          ฉายแสง ใช้ในกรณีไม่ได้ตัดเต้านมแต่จะฉายแสงบริเวณเต้านมที่เหลืออยู่ หรือใช้เป็นการรักษาเสริมในกรณีที่ผู้ป่วยมีก้อนเนื้องอกใหญ่มาก หรือมะเร็งกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองมากทั้ง ๆ ที่ผู้ป่วยถูกผ่าตัดเต้านมออกแล้วก็ตาม

          เคมีบำบัดกับฮอร์โมนบำบัด (ให้ยาต้านฤทธิ์ฮอร์โมนเข้าไป) จะไปการรักษาทั่วตัว เพราะธรรมชาติของมะเร็งพอโตขึ้นมาถึงจุดหนึ่ง มันจะเริ่มเกาะตัวกันไม่แน่นเหมือนเซลล์ปกติ ดังนั้น จึงมีโอกาสหลุดเข้าไปในกระแสเลือดและกระจายไปที่กระดูก สมอง หรืออวัยวะอื่น ๆ ได้

ถ้าต้องตัดเต้านมทิ้ง ทำยังไงดี

          ถึงแม้ว่าทางศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถฯ จะพยายามเก็บเต้านมไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเห็นถึงความสำคัญของเต้านมที่มีต่อผู้หญิง แต่ในบางครั้งถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ก็จำเป็นต้องตัดเต้านมออก แต่ด้วยเทคนิคการผ่าตัดในปัจจุบัน ทำให้เราสามารถผ่าตัดเพื่อสร้างเต้านมขึ้นใหม่ได้ในทันที โดยนำเนื้อจากส่วนอื่นมาทำเป็นเต้านมหลังผ่าตัด จึงรู้สึกเหมือนไม่ได้ถูกตัดเต้านมออกไป

          แต่สำหรับผู้ป่วยรายไหนที่ไม่พร้อมหรือยังไม่อยากผ่าตัดสร้างเต้านม ทางศูนย์ฯ ก็มีกิจกรรมที่จะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของผู้ป่วยหลังผ่าตัดเต้านม โดยมีกลุ่มอาสาสมัครช่วยกันเย็บเต้านมเทียม เพื่อใช้ในการเสริมภายนอก นอกจากนั้น ยังมีการสอนและแนะนำเกี่ยวกับการใส่วิก การโพกผ้า เมื่อมีปัญหาผมร่วงหลังจากได้รับยาเคมีบำบัดด้วย

          แม้โรคนี้จะดูน่ากลัว แต่ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ได้พัฒนาไปมากแล้ว และไม่เพียงแต่จะหาโรคนี้เจอได้แต่เนิ่น ๆ แต่ยังสามารถรักษาให้หายขาดได้...ถ้าเพียงแค่คุณใส่ใจกับตัวเองเร็วกว่านี้อีกสักนิด

          (ขอขอบคุณ : ผศ.ดร.นพ.โสภาคย์ มนัสนยกรณ์ ศัลยแพทย์ทั่วไป ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถฯ เอื้อเฟื้อข้อมูล)

ใครเข้าข่ายเป็นมะเร็งเต้านมบ้าง

          ผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม และที่พบบ่อยคือผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป

          ผู้หญิงที่มีประวัติคนในครอบครัว ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมจะมีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติ

          ผู้หญิงที่เคยป่วยเป็นมะเร็งเต้านมมาแล้วครั้งหนึ่ง มีอัตราเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นอีกสูงมากกว่าคนปกติ

          ผู้หญิงที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปและไม่เคยมีลูกมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มมากขึ้น

          ผู้หญิงที่มีประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปี และประจำเดือนหมดหลังอายุ 55 ปี จะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมง่ายกว่าคนปกติ

          ผู้หญิงที่กินยาคุมเป็นระยะเวลานาน อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น

Must Know…

          ผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป ควรหมั่นตรวจเต้านมด้วยตัวเองอย่างน้อยเดือนละครั้ง

          ควรตรวจเต้านมในช่วงที่ประจำเดือนหมดไปแล้ว 3 ถึง 10 วัน ส่วนคนวัยหมดประจำเดือนไปแล้วให้เลือกวันที่จดจำได้ง่าย และตรวจในวันเดียวกันของทุกเดือน

          ถ้าพบสิ่งผิดปกติบริเวณเต้านมและรักแร้ให้ปรึกษาหมอโดยด่วน

          ถ้าญาติใกล้ชิดมีประวัติป่วยเป็นมะเร็งเต้านม คุณควรรีบไปตรวจเต้านมแต่เนิ่น ๆ เช่น ถ้าญาติป่วยเมื่ออายุ 45 ปี คุณควรรีบไปตรวจตั้งแต่อายุ 35 ปี

รู้จักศูนย์มะเร็งเต้านมแบบครบวงจรกันหน่อย

          รศ.นพ.กฤษณ์ จาฎามระ หัวหน้าศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ ร.พ.จุฬาฯ สภากาชาดไทย เล่าถึงความเป็นมาของศูนย์มะเร็งเต้านมแบบครบวงจรให้ฟังว่า ศูนย์นี้เปิดมาได้ 3 ปีกว่าแล้ว โดยพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ต้องการให้เป็นศูนย์ที่ให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมแบบครบวงจร ซึ่งเหตุผลของการดำเนินงานของศูนย์นี้ ก็เพื่อเป็นศูนย์กลางการรักษามะเร็งเต้านมที่มีคุณภาพดีที่สุด โดยบุคลากรทั้งแพทย์ พยาบาล และอาสาสมัครจะได้รับการฝึกฝนอย่างเชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ซึ่งอุปกรณ์ในการรักษาก็มีประสิทธิภาพสูงสุดไม่แพ้ต่างประเทศ

          รศ.นพ.กฤษณ์เล่าว่า เหตุผลที่ต้องใช้เครื่องมือทรงประสิทธิภาพ ก็เพื่อให้ตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เพราะเมื่อตรวจเจอแต่เนิ่น ๆ การรักษาจะเป็นไปอย่างรวดเร็วและไม่ลุกลามไปจนถึงขั้นตัดเต้านมทิ้ง โอกาสที่จะรักษาเต้านมไว้ได้ก็มีมากถึง 80-90% ทีเดียว

          อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ที่สนใจจะตรวจมะเร็งเต้านมสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ ร.พ.จุฬาฯ สภากาชาดไทย โทร. 0-2256-4991-2

คำแนะนำจาก ผศ.ดร.นพ.โสภาคย์ มนัสนยกรณ์ ศัลยแพทย์ทั่วไป ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถเพื่อโรคมะเร็งเต้านม ร.พ.จุฬาฯ

          "การดูแลตัวเองนั้นคนไข้จะต้องทำจิตใจให้เบิกบาน และมีความหวังว่าจะต้องหาย เพราะถ้ากำลังใจดีร่างกายก็จะดีตามไปด้วย ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็จะแข็งแรงตามไปอีก ซึ่งความจริงเราก็รู้นะว่า คนที่เป็นมะเร็งค่อนข้างจะมีความเครียด บางคนที่รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งก็เหมือนกับได้รับคำตัดสินโทษประหารไปแล้ว ซึ่งจะทำให้ชีวิตเครียดขึ้นไปอีก แต่ปัจจุบันวิวัฒนาการทางการแพทย์ก้าวหน้าไปไกลมาก จึงทำให้ผลการรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น"

Did You Know

          ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่า มะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของผู้หญิงทั่วโลก ในปี 2548 มีผู้หญิงเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมถึง 502,000 ราย และคาดว่าจะมีผู้ป่วยรายใหม่มากถึงปีละ 1.2 ล้านคน สำหรับตัวเลขผู้ป่วยในไทยพบว่ามีจำนวน 5,845 ราย แต่ในปี 2551 เพิ่มเป็น 12,000 ราย แซงหน้ามะเร็งปากมดลูกที่มีผู้ป่วยประมาณ 8,000 ราย


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

 คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มะเร็งเต้านม หายได้ ถ้าพบแต่เนิ่น ๆ อัปเดตล่าสุด 9 ธันวาคม 2552 เวลา 17:23:15 6,766 อ่าน
TOP