x close

ดูแลจิตใจให้ดี ก่อนป่วยโรคเครียดทางการเมือง



ภาพประกอบโดย PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP


กรมสุขภาพจิต แนะ...เมื่อการเมืองป่วน คนไทยจะดูแลจิตใจอย่างไร? ไม่ให้เครียด !! (กรมสุขภาพจิต)

          ความวุ่นวายและความตึงเครียดทางการเมืองในขณะนี้ ที่สืบเนื่องมาจากความตื่นตัวของประชาชนคนไทยจากภาคส่วนต่าง ๆ ออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หากสถานการณ์ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น อาจส่งผลให้คนไทยเกิดภาวะความเครียดทางการเมืองที่นำมาสู่ "โรคทางจิตเวช" ได้

          นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ความตื่นตัวทางการเมืองของคนไทยที่มีมากขึ้นในปัจจุบันถือเป็นเรื่องที่ดีและเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ แต่เชื่อว่าคงไม่มีใครที่ต้องการให้เกิดความรุนแรงขึ้น เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นนอกจากจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมทั้งประเทศแล้ว ยังกระทบต่อสภาพจิตใจของคนไทยและอาจทำให้เกิด "โรคเครียดทางการเมือง" (Political Stress Syndrome : PSS) ขึ้นได้

          โดยผู้ที่เป็นโรคเครียดทางการเมืองจะมีอาการแสดงทั้งทางกาย ทางใจ และทางพฤติกรรม ซึ่งอาการทางกาย ได้แก่ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ตึงบริเวณขมับ ต้นคอหรือตามแขน ขา นอนไม่หลับ หลับ ๆ ตื่น ๆ หรือหลับแล้วตื่นกลางคืนไม่สามารถหลับต่อได้ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ทั้ง ๆ ที่อยู่ในสภาพปกติ หายใจไม่อิ่ม อึดอัดในช่องท้อง แน่นท้อง ปวดท้อง ชาตามร่างกาย

          อาการทางใจ ได้แก่ วิตกกังวล ครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา หงุดหงิดง่าย โกรธ ฉุนเฉียว ก้าวร้าว เบื่อหน่าย ท้อแท้ หมดหวัง สิ้นหวัง รู้สึกไม่มีทางออก สมาธิไม่ดี ฟุ้งซ่านหรือหมกมุ่นมากเกินไป และปัญหาพฤติกรรมและสัมพันธภาพกับผู้อื่น คือไม่สามารถยับยั้งตนเองได้ มีการโต้เถียงกันกับผู้อื่น หรือคนในครอบครัว มีความคิดที่จะตอบโต้โดยใช้กำลังในการเอาชนะ มีการลงมือทำร้ายร่างกายเพื่อการเอาชนะแม้กับคนที่เคยดีกันมาก่อน จนทำให้เกิดปัญหาด้านสัมพันธภาพ ซึ่งความเครียดลักษณะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกกลุ่ม ทั้งผู้ชุมนุม นักการเมือง ผู้ติดตามข่าวสาร และกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพจิต


ปวดหัว


          นพ.เจษฎา กล่าวต่อว่า ผู้ที่มีความเครียดรุนแรงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลดอารมณ์รุนแรงนั้นลง ด้วยการปฏิบัติ ดังนี้

          1. บริหารเวลาให้เหมาะสม โดยแบ่งเวลาในการติดตามข่าวสารบ้านเมือง การดูแลครอบครัว  การทำงานและการพักผ่อน และไม่ควรติดตามข่าวสารต่อเนื่องนานเกิน  2 ชั่วโมง หรือควรติดตามจากคนใกล้ชิดแทน

          2. ลดการรับข้อมูลข่าวสารจากสื่อที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์โกรธ เช่น สื่อที่ให้ข้อมูลด้านเดียวหรือสื่อที่มีภาพและเสียงที่เร้าให้เกิดอารมณ์รุนแรง เพราะจะยิ่งทำให้มีความเครียดสูง ควรรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อที่สะท้อนความคิดที่หลากหลาย และมุ่งเน้นการหาทางออก

          3. ควรมีวิธีการลดความเครียด เช่น การออกกำลังกาย สวดมนต์  ทำสมาธิ  หายใจคลายเครียด  ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น

          นอกจากนี้อธิบดีกรมสุขภาพจิตยังได้แนะวิธีปฏิบัติสำหรับการช่วยเหลือสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนในชุมชนหรือสถานที่ทำงานที่มีความเครียดทางการเมืองสูงโดยใช้หลักการ ดังนี้

          1. รับฟัง การรับฟังด้วยความเห็นใจว่าเขามีความเครียด จะช่วยให้คนเราสงบลงได้เพราะการโต้แย้งด้วยเหตุผลไม่สามารถลดอารมณ์รุนแรงทางการเมืองได้ เนื่องจากแต่ละคนที่มีความเครียดจะยึดถือในความเชื่อของตนเอง การโต้แย้งจึงไม่ช่วยสร้างความสงบ ขณะเดียวกันการหลีกเลี่ยงไม่พูดคุยกัน ก็ไม่ได้ช่วยลดอารมณ์ลง

          2. ชื่นชม ควรแสดงความชื่นชมในประเด็นที่ดีของเขาก็จะทำให้เกิดการยอมรับกันและนำไปสู่ความไว้วางใจและช่วยให้เขาอารมณ์เย็นลงได้ เพราะความเครียดทางการเมืองที่รุนแรง ล้วนเริ่มต้นจากความรักในบ้านเมือง ความหวังดีต่อสังคม เพียงแต่ความขัดแย้งมาจากการให้ความสำคัญในประเด็นที่ต่างกัน
 
          3. ห่วงใย คือการแสดงความเป็นห่วงใยต่อสุขภาพและภาพพจน์ของผู้มีความเครียดทางการเมืองรุนแรง เพื่อช่วยให้เขากลับมามองตนเอง รวมทั้งเป็นห่วงตนเองและผลที่จะเกิดขึ้นกับคนใกล้ชิดด้วย

          4. ให้คำแนะนำ ซึ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ทีมีความเครียดทางการเมืองรุนแรง แต่ควรนำมาใช้ลำดับท้ายสุด หลังจาก 3 วิธีข้างต้น


ม็อบ
ภาพประกอบโดย PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP


          ทั้งนี้ ภาคส่วนต่าง ๆ ในระดับสังคมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีส่วนร่วมในการลดอารมณ์ทางการเมืองที่รุนแรงลงด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้

          1. สื่อและผู้เกี่ยวข้องจะต้องลดการนำเสนอข่าวที่สร้างความโกรธ ความเครียดของคู่ขัดแย้ง และเพิ่มการเสนอข่าวของฝ่ายต่าง ๆ ที่ช่วยสร้างความเข้าใจคนแต่ละฝ่ายที่ขัดแย้งกันและเสนอข่าวที่มุ่งเน้นการหาทางออก

          2. เครือข่ายสังคมในอินเทอร์เน็ต ผู้ที่มีการสื่อสารในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตควรเพิ่มความระมัดระวังในการออกความคิดเห็นไม่ส่งต่อความคิดเห็นที่รุนแรงออกไป รวมทั้งช่วยกันตักเตือนการแสดงออกที่รุนแรง เพราะการแสดงออกในสื่อใหม่เหล่านี้ไม่ต้องแสดงตนจึงขาดการควบคุมตนเองและจะส่งผลกระทบให้เกิดบรรยากาศของสังคมที่รุนแรงมากขึ้น 

          3. ทุกคนในสังคมไทยสามารถช่วยให้วิกฤติครั้งนี้ผ่านพ้นไปได้ ด้วยการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่สร้างความโกรธ ความเกลียดชัง ลดการเผชิญหน้าและร่วมกันหาทางออกให้กับประเทศ

          นพ.เจษฎา กล่าวต่ออีกว่า ท่ามกลางความวุ่นวายและความตึงเครียดทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ที่สำคัญคือประชาชนต้องรู้เท่าทันและหมั่นสังเกตอารมณ์ตนเอง โดยสามารถใช้แบบประเมินความเครียดทางการเมืองด้วยตนเองดังนี้

ข้อ
 คำถาม ไม่มี (0)
มีบางครั้ง (1)
มีบ่อย (2)
มีทุกวัน (3)
 1  ท่านรู้สึกกังวลเมื่อต้องแสดงความเห็นทางการเมือง
       
 2  ท่านรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น  
       
 3  การรับรู้เหตุการณ์ทางการเมืองทำให้ท่านรู้สึกหงุดหงิด/โกรธ/โมโหง่าย 
       
 4  เหตุการณ์ทางการเมืองทำให้ท่านนอนไม่หลับ หรือหลับยาก    
       
 5  ท่านไม่มีสมาธิในการทำงาน หรือทำกิจวัตรต่าง ๆ เมื่อนึกถึงการเมือง
       
 6  การเมืองทำให้ท่านทะเลาะหรือโต้เถียงกับคนอื่น        
 7  ท่านรู้สึกใจสั่นเมื่อรับรู้เหตุการณ์ทางการเมือง      
       
 8  ท่านคิดวนเวียนเรื่องสถานการณ์ทางการเมือง 
       
           

          หากได้คะแนนรวมตั้งแต่ 9 ขึ้นไป ถือว่าท่านมีความเครียดรุนแรง ควรได้รับคำแนะนำจากบุคลากรด้านสุขภาพจิต หรือ ปรึกษาสายด่วน 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

          กรมสุขภาพจิตหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คำแนะนำและข้อปฏิบัติข้างต้นนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้ผู้คนในสังคมไทยหันกลับมาดูแลใจตนเองและคนใกล้ชิด เพื่อบรรเทาวิกฤตและสร้างความสุขให้เกิดขึ้นกับสังคมไทยต่อไป

 

  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ดูแลจิตใจให้ดี ก่อนป่วยโรคเครียดทางการเมือง อัปเดตล่าสุด 12 พฤศจิกายน 2556 เวลา 18:08:06 1,136 อ่าน
TOP