10 เหตุผลที่กลายเป็นคนอ้วน (รักลูก)
เรื่อง : นพ.อุดม เพชรสังหาร
โรคอ้วนกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปี ประเทศที่เจริญแล้ว และที่กำลังพัฒนาล้วนเจอปัญหานี้ทั้งสิ้น กระทรวงสาธารณสุขของแต่ละประเทศใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อแก้ไข แต่ก็ดูเหมือนว่าแต่ละประเทศก็ยังไม่สามารถคลี่คลายปัญหานี้ได้
สหรัฐฯ ก็เป็นประเทศหนึ่งที่ต้องต่อสู้กับปัญหาโรคอ้วน รัฐบาลอเมริกันทุ่มเทงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคอ้วนให้แก่ประชาชนของตนเองตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ผลก็คือปัญหาโรคอ้วนกลับเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม
การมีความรู้ทางด้านโภชนาการเพิ่มขึ้น ไม่ได้ทำให้คนอเมริกันเป็นโรคอ้วนน้อยลงแต่อย่างใด ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นก็คือ นักโภชนาการ นักวิทยาศาสตร์อาหาร และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยก็เป็นโรคอ้วนเหมือนกัน สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความสงสัยว่า มาตรการในการให้ความรู้แก่ประชาชนน่าจะไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องในการต่อสู้กับปัญหาโรคอ้วนเสียแล้ว
เคบอราห์ เอ โคเฮน แพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมชาติวิทยา (Natural Scientist) แห่ง RAND (Research and Development Corporation) เป็นองค์กรไม่แสวงกำไรของสหรัฐฯ ตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อค้นคว้าวิจัยหาแนวทางและความรู้ต่าง ๆ ในการพัฒนาสังคมอเมริกา ได้เสนอความเห็นว่าการเผยแพร่ความรู้เรื่องโรคอ้วนให้แก่ประชาชนไม่สามารถช่วยแก้ปัญหานี้ เพราะการกินเกินความจำเป็นจนกลายเป็นปัญหาสุขภาพนั้น ไม่ได้เกิดจากการขาดความรู้ มีหลายประเทศที่ประชาชนมีความรู้ทางด้านโภชนาการน้อยกว่าคนอเมริกัน แต่กลับไม่มีปัญหาเรื่องโรคอ้วนแต่อย่างใด
เคบอราห์ เอ โคเฮน เชื่อว่าปัญหาบริโภคเกินของคนอเมริกันจนเกิดปัญหาโรคอ้วนนั้น เกี่ยวข้องกับหลายเหตุปัจจัย ตั้งแต่ความสะดวกสบายในการเข้าถึงอาหาร กิจกรรมการตลาดหรือการโฆษณาอาหารของบริษัทผู้ผลิตอาหาร การออกแบบโฆษณาที่มีการใช้ความรู้ที่ซับซ้อนขึ้น รูปลักษณ์ของหีบห่อบรรจุอาหารที่ดึงดูดผู้บริโภค รวมทั้งธรรมชาติในการตัดสินใจของประชาชน
เคบอราห์ เอ โคเฮน ได้ศึกษาเรื่องนี้และสรุปว่า สาเหตุที่ทำให้คนเราบริโภคอาหารมากจนเกินความจำเป็นที่ร่างกายต้องการนั้นมีอยู่ 10 ประการด้วยกัน
1. ภาพของอาหารและอาหารที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าจะกระตุ้นสมองของเราให้หลั่งสารโดปามีนออกมา สารนี้จะกระตุ้นให้เราอยากอาหาร เกิดแรงจูงใจออยากหาอาหารมากิน แม้จะไม่หิวก็ตาม (การที่เราได้เห็นภาพโฆษณาอาหารจานสวย ๆ แล้วเกิดน้ำลายสอขึ้นมาทันทีก็ด้วยเหตุนี้)
2. การชอบ "รสหวาน" และ "รสมัน" คือธรรมชาติที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด และเมื่อได้กินเข้าไปจะทำให้เราเกิดความสุข เพราะไปกระตุ้นวงจรความสุข (Reward Circuit) ในสมองของเรา นอกจากนี้ "รสมัน" ยังสามารถยับยั้ง "ศูนย์ควบคุมความอิ่ม" ในสมองของเราได้อีกด้วย เราจึงเกิดพฤติกรรม "เคี้ยวเพลินเกินห้ามใจ" กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ "อ้วน" ซะแล้ว
3. สมองของคนเรามีนิสัยขี้เกียจโดยธรรมชาติ สมัยก่อนการจะได้กินอะไรซักอย่างเราต้องติดเตา ต้องย่าง ต้องทอด สมองเราก็เลยสั่งไม่ให้อยากกิน เราก็เลยไม่ค่อยกินอะไรนอกเหนือมื้ออาหารกันนัก แต่สมัยนี้แค่แกะห่อ กดปุ่มเตาไมโครเวฟภายใน 2 นาทีเราก็ได้กินแล้ว สมองเราจึงคิดเรื่องกิน และกินมากขึ้น
4. สมองของคนเรานั้นมี "เซลล์กระจกเงา" ซึ่งมีหน้าที่ "เลียนแบบพฤติกรรม" ผู้อื่น เมื่อเห็นดาราโมโหหิวแต่พอได้ กินขนม (ที่หวานมาก ๆ) ยี่ห้อหนึ่งเข้าไป ความโมโหหิวก็หายไปทันที กลับมาเป็นคนดีเหมือนดังเดิม ด้วยการทำงานของเซลล์กระจกเงา โฆษณาชิ้นนี้จึงทำให้เด็กไทยจำนวนไม่น้อยที่ซื้อขนมหวานชนิดนี้มากินเพื่อดับหิว รวมทั้งขนมหวานชนิดอื่น ๆ ที่ชอบใช้จากเป็นแบบในการโฆษณา
5. โดยธรรมชาติแล้วคนเราจะยอมรับอะไรที่มันคุ้นเคย หรืออะไรที่มันเดิม ๆ ได้เร็วกว่า อะไรที่ใหม่ การโฆษณาขนมหรือเครื่องดื่มรสหวานจึงเน้นการใช้ประสบการณ์ที่คุ้นเคย ประสบการณ์ประทับใจผู้บริโภคเป็นตัวโน้มน้าวในการตัดสินใจ คงจำได้ว่าเครื่องดื่มชนิดหนึ่ง ที่มีกลุ่มลูกค้าเป็นวัยเด็กรุ่นจัดคอนเสิร์ตที่ "เขาชนไก่" เพื่อโปรโมทสินค้าเพราะที่นี่คือค่ายฝึกนักศึกษาวิชาทหารที่วัยรุ่นชายทุกคนล้วนมีความหลังฝังใจ
6. จากงานวิจัยพบว่า คนเรามีความสามารถในการประเมินปริมาณของอาหารและจำนวนแคลอรีของอาหารที่ตนเองจะกินเข้าไปน้อยกว่าความเป็นจริง เรามักจะมองว่า อะไรแค่นี้เองจะอิ่มเหรอ สุดท้ายเราก็ตักอาหารและกินเกินความจำเป็น
7. มนุษย์เป็นนักชิม นักแสวงหาอาหารโดยสัญชาตญาณ และวิวัฒนาการนี้ได้ถ่ายทอดมาสู่มนุษย์ยุคปัจจุบันด้วย เพราะมนุษย์ยุคโบราณจำเป็นจะต้องแสวงหาอาหาร เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง และเผ่าพันธุ์ อะไรกินได้ อะไรกินไม่ได้ จำเป็นต้องทดสอบเพื่อจะได้มีอาหารกิน แต่มายุคปัจจุบันอาหารมีตามร้านสะดวกซื้อเต็มไปหมด แต่นิสัยนักชิมที่ยังติดตัวเราอยู่ ชิมบ่อย ๆ ชิมทั้งวันทั้งคืน มันก็อ้วน เป็นธรรมดา แถมรายการประเภท พาไปชิม เมนูเด็ด ก็เต็มไปหมดทั้งในโทรทัศน์และนิตยสาร
8. เราถูก "วางเงื่อนไขให้กัน" โดยไม่รู้ตัว ทุกวันนี้โฆษณาไม่ว่าอาหาร เครื่องดื่ม หรือสินค้าใด ๆ ก็ตาม เขาไม่โฆษณาคุณภาพสินค้ากับแล้ว แต่เขาวางเงื่อนไขให้เราตัวพองจนต้องกลายเป็นเหยื่อ ด้วยความเต็มใจ เขาเรียกวิธีการนี้ว่า "การสร้างแบรนด์" หรือการสร้างภาพลักษณ์ของสินค้า เช่น กาแฟยี่ห้อหนึ่งโฆษณาว่าผลิตโดยชาวเขาที่รักธรรมชาติ การดื่มกาแฟยี่ห้อนี้จึงไม่ใช่แค่การดื่มกาแฟ แต่เป็นการ "อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม" ด้วย คนจึงช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคนละไม้ละมือ จนเจ้าของกาแฟรวย ส่วนตัวเองก็อ้วนขึ้นทุกวัน
9. การจุดระเบิดความคิด ในโฆษณาบางทีสิ่งที่มากับโฆษณาแบบเบลอ ๆ กลับมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเราอย่างมหาศาล อย่างเช่น เพลงประกอบ องค์ประกอบของฉาก เป็นต้น ความรู้เหล่านี้ถูกนำมาใช้ในการโฆษณาอาหารและสินค้าอื่น ๆ มากขึ้นทุกที
10. "นิวโร มาร์เก็ตติ้ง" คือศาสตร์ทางด้านการตลาดแขนงใหม่ที่นำความรู้ทางด้านสรีรวิทยาของสมองมาใช้ในวิชาการตลาด วิชานี้ทำให้รู้ว่าร้อยละ 95 ของการตัดสินใจของคนมาจากจิตใต้สำนึก ไม่ใช่การใช้เหตุผล การทำการตลาดสินค้าจึงนำความรู้นี้ไปใช้ และเมื่อมันถูกใช้ในการโฆษณาอาหารโอกาสที่เราจะตกเป็นเหยื่อจึงมีมากขึ้น
การสู้กับปัญหาโรคอ้วนไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ สหรัฐฯ สู้มาแล้ว 30 ปี ไม่ประสบความสำเร็จแต่อย่างใด ถ้าประเทศไทยยังคงเดินตามหลังสหรัฐฯอยู่ ความล้มเหลวก็คงอยู่แค่เอื้อม สิ่งที่เคบอราห์ เอ โคเฮน นำเสนอเป็นสิ่งที่น่าลอง การมีอาหารให้กินตลอด 24 ชั่วโมง การโฆษณาที่มีให้เห็นทุกนาที การที่เรารู้ไม่เท่าทันโฆษณา คือเหตุปัจจัยแห่งปัญหาครั้งนี้
เราจะปกป้องตัวเรา ครอบครัว และคนรอบข้างได้อย่างไรนั้น การวิเคราะห์สิ่งที่ เคบอราห์ เอ โคเฮน นำเสนอมาทั้ง 10 ข้อนี้ น่าจะให้คำตอบได้ครับ
เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 31 ฉบับที่ 369 ตุลาคม 2556