x close

เรื่องน่ารู้ของออกซิโทซิน...ฮอร์โมนแห่งความรัก-ผูกพัน




ออกซิโทซิน ฮอร์โมนแห่งความรัก-ผูกพัน (หมอชาวบ้าน)
โดย นพ.สุรเกียรติ อาซานานุภาพ

          วงการแพทย์ทราบกันดีมานานแล้วว่า ออกซิโทซิน (oxytocin) เป็นสารเคมีหรือฮอร์โมนที่หลั่งมาจากต่อมใต้สมองส่วนหลัง ซึ่งมีประโยชน์ต่อความเป็นแม่และการเลี้ยงดูลูก กล่าวคือ ในขณะคลอดลูก สารตัวนี้จะหลั่งออกมากระตุ้นให้มดลูกบีบตัว ช่วยให้แม่มีแรงเบ่งคลอด และขณะให้นมลูก สารตัวนี้ก็จะกระตุ้นให้แม่หลั่งน้ำนมให้เพียงพอต่อการให้นมลูก

          ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่า ออกซิโทซิน เป็นสารสื่อประสาทชนิดหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการทำงานของสมองและสุขภาพ ทำให้จิตใจสงบ คลายเครียด กระตุ้นอารมณ์ทางเพศ ช่วยให้นอนหลับ ช่วยให้แผลหายเร็ว ช่วยลดอาการปวด ส่งเสริมให้มีจิตเมตตากรุณา เห็นอกเห็นใจและช่วยเหลือผู้อื่น และยังเป็นสารสุขที่หลั่งออกมาพร้อมกับเอ็นดอร์ฟิน (ซึ่งเป็นสารสุขที่รู้จักกันดี) ขณะออกกำลังกายอีกด้วย

          ที่น่าสนใจออกซิโทซินยังได้ชื่อว่าเป็น ฮอร์โมนแห่งความรัก (love hormone), ฮอร์โมนแห่งการกอดรัด (cuddie hormone) และ ฮอร์โมนแห่งความเชื่อใจ (trust hormone) เพราะส่งเสริมให้เกิดความรัก ความผูกพัน และความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน


ความรัก


          เป็นที่ยอมรับกันว่า ความรักที่มีลักษณะเห็นหน้าปั๊บก็รู้สึกถูกใจ ดังที่เรียกว่า "รักแรกพบ (love at first sight)"นั้น ร่างกายมีการหลั่งสารเคมี 3 ชนิด ได้แก่ โดพามีน นอร์เอทิเนฟรีน และออกซิโทซิน

          โดพามีน ทำให้มีความสุขสดชื่น นอร์เอพิเนฟรีนทำให้มีใจจดจ่อกระฉับกระเฉง อยากไปพบคนที่ถูกใจนั้นอยู่ตลอดเวลา ส่วนออกซิโทซินทำให้เกิดความรู้สึกรักและผูกพัน (สารเหล่านี้จะหลั่งอยู่นานเป็นเดือนถึงเป็นปี ก็จะพร่องไป และก็จะไปเกิด "รักแรกพบ" กับคนใหม่ สิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัยคนเราจึงต้องมีสติ รู้จักสำรวมไม่ปล่อยให้อยู่ภายใต้การครอบงำของสารเคมีเหล่านี้ จึงจะไม่เกิดเรื่องให้เสื่อมเสีย)

          ที่ผ่านมา ในต่างประเทศมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งมีผลการค้นพบที่น่าสนใจมากมาย อาทิ

          ผู้หญิงมีฮอร์โมนออกซิโทซินมากกว่าผู้ชาย จึงมีความรักและผูกพันกับผู้คน นิยมการโอบกอดและแสดงออกถึงความรักและห่วงใยลูกและครอบครัวมากกว่าผู้ชาย

          ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ กลุ่มที่มีระดับออกซิโทซินสูงตลอดระยะของการตั้งครรภ์ หลังคลอดจะมีความรักและผูกพันกับลูกที่เกิดมามากกว่ากลุ่มที่มีสารตัวนี้น้อยกว่า

          การทดลองนำหนูตัวเมียที่เพิ่งคลอดลูกกลุ่มหนึ่ง มาให้ยายับยั้งออกซิโทซิน ปรากฏว่าแม่หนูกลุ่มนี้ไม่สนใจลูกที่เกิดมา ตรงกันข้าม เมื่อนำแกะสาว (ที่ยังไม่เคยผสมพันธุ์) กลุ่มหนึ่งมาฉีดออกซิโทซินเข้าทางน้ำไขสันหลัง แกะสาวเหล่านี้หันมาสนใจเลี้ยงดูลูกแกะที่เกิดจากแม่แกะตัวอื่นประหนึ่งตัวเองเป็นแม่จริง

          มีหนูนา (prairie vole) สายพันธุ์หนึ่งที่มีออกซิโทซินสูงจะจับคู่ผสมพันธุ์คู่เดิม (มีความเป็น "รักเดียวใจเดียว") ไปจนชั่วชีวิต ในขณะที่สายพันธุ์อื่น ๆ ที่พร่องฮอร์โมนตัวนี้จะเปลี่ยนคู่ไปเรื่อย แต่เมื่อนำสายพันธุ์ "รักเดียวใจเดียว" ที่เคยผสมพันธุ์กันแล้วมาให้ยายับยั้งการหลั่งออกซิโทซิน มันก็จะเลิกสนใจกันไป และเมื่อนำสายพันธุ์ที่ชอบเปลี่ยนคู่มาทำให้มีฮอร์โมนตัวนี้เพิ่มขึ้น มันก็เริ่มหันมาผูกพันกับคู่เดิม

          มีการทดลองให้ผู้ชายกลุ่มหนึ่งสูดออกซิโทซินเข้าทางจมูก และให้เจอกับสาวสวย ปรากฏว่าชายที่แต่งงานและมีรักเดียวใจเดียว จะนำตัวเองให้อยู่ห่างจากสาวสวยมากกว่าชายที่ยังเป็นโสด แสดงว่าฮอร์โมนตัวนี้น่าจะส่งเสริมให้คู่ชีวิตมีความซื่อสัตย์ต่อกัน

          ขณะที่การเลี้ยงสุนัข พบว่าทั้งคนเลี้ยงและสุนัขมีระดับออกซิโทซินในเลือดสูงขึ้นกว่าเดิม แสดงว่าฮอร์โมนตัวนี้มีส่วนส่งเสริมความผูกพันระหว่างคนกับสุนัข


ครอบครัว


          ออกซิโทซิน นอกจากจะหลั่งขณะมีเพศสัมพันธ์ ขณะคลอด และให้นมลูกแล้ว มันยังหลั่งขณะออกกำลังกาย เล่นโยคะ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น (เช่น ในวงสนทนาหรือวงอาหาร การเข้าร่วมกิจกรรมในกลุ่มหรือชมรม  การมีความเชื่อใจ การสบตาการเลี้ยงสุนัข)

          ที่น่าสนใจ คือ ฮอร์โมนนี้ยังหลั่งเมื่อมีการสัมผัสกัน เช่น การจับมือ การโอบกอด การนวด

          ผมเคยพบว่าคนไข้อัมพาตรายหนึ่งที่มีหมอนวดไทยมาช่วยนวดและประคบให้นานเป็นสัปดาห์ มีความผูกพันและไว้วางใจหมอถึงกับระบายความในใจที่ถูกภรรยาทิ้ง บางครั้งมีอารมณ์ดีก็ร้องเพลงให้หมอฟัง ผมคิดว่านอกจากความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องแล้ว การนวดน่าจะกระตุ้นให้คนไข้หลั่งออกซิโทซินให้เกิดความผูกพันและความเชื่อใจ

          นักกายภาพบำบัดเป็นหมออีกกลุ่มหนึ่งที่มีการสัมผัสคนไข้อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้มีหมอสาขานี้จำนวนมากลงไปดูแลคนพิการที่บ้านตามชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศผมพบว่าทั้งหมอและคนไข้ต่างก็มีความผูกพันและเกื้อกูลกัน และหมอก็รู้สึกมีคุณค่าและมีความสุข ผมคิดว่าอันนี้ก็น่าจะเกิดจากอานิสงส์ของออกซิโทซินเช่นเดียวกัน

          ท้ายที่สุดนี้ ผมคิดว่าเราควรส่งเสริมความผูกพันในครอบครัว ด้วยการโอบกอดกัน และการนวดให้กัน เหมือนสมัยก่อนที่พ่อแม่ เมื่อมีอาการปวดเมื่อยก็จะให้ลูกนวดหรือเหยียบหลัง


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย


 คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ 





ขอขอบคุณข้อมูลจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องน่ารู้ของออกซิโทซิน...ฮอร์โมนแห่งความรัก-ผูกพัน อัปเดตล่าสุด 25 ธันวาคม 2556 เวลา 14:17:21 64,057 อ่าน
TOP