x close

เลื่อนเวลานาฬิกาปลุก เสี่ยงสมาธิสั้น ความจำย่ำแย่



เลื่อนเวลานาฬิกาปลุก เสี่ยงสมาธิสั้น ความจำย่ำแย่ !

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
          
          เราเชื่อว่าประชากรร้อยละ 90 ต้องอาศัยเจ้านาฬิกาปลุก เพื่องัดตัวเองออกจากเตียงนอนทุกเช้า และที่สำคัญ พอนาฬิกาปลุกก็ไม่ค่อยยอมตื่น แต่กลับเอื้อมมือไปปิดนาฬิกาปลุก หรือกดปุ่มเลื่อนเวลาปลุกซะอย่างนั้น แล้วก็นอนต่อ แถมบางคนยังเผลอหลับเกินเวลา เดือดร้อนให้ต้องรีบเด้งตัวออกจากที่นอน ปฏิบัติภารกิจส่วนตัวอย่างเร่งรีบ สุดท้ายก็ไปเรียนหรือเข้างานสายอีกต่างหาก

          แต่นอกจากข้อเสียเหล่านี้แล้ว รู้หรือเปล่าคะว่า การที่คุณงีบหลับต่อหลังจากนาฬิกาปลุกแผดเสียงร้อง ยังส่งผลกระทบระยะยาวกับสุขภาพร่างกายของคุณได้ด้วย ซึ่งเว็บไซต์ฮัฟฟิงตันโพสต์ ก็ได้นำคำยืนยันจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมายืนยันข้อมูลตามนี้เลยค่ะ
 
          พฤติกรรมที่ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ไม่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายสุขภาพของเราเลยสักนิดอย่างการกดปุ่มเลื่อนเวลานาฬิกาปลุก หรือกดปิดนาฬิกาปลุกมันซะเลยนั้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็ได้ให้ข้อมูลว่า วิธีนี้ไม่ได้ช่วยให้คุณมีโอกาสนอนหลับได้นานขึ้นแต่อย่างใด แถมยังจะส่งผลเสียให้ร่างกายของคุณอีกต่างหาก

          โดยแพทย์ก็อธิบายเพิ่มเติมว่า ในขณะที่ร่างกายของเรานอนหลับพักผ่อนในระยะ REM (Rapid Eye Movement Sleep) หรือช่วงนอนหลับฝัน หากถูกปลุกให้ตื่นโดยทันทีด้วยเสียงนาฬิกาปลุก ร่างกายก็จะรู้สึกตัว และตื่นตัวเลยทันที ดังนั้นหากคุณจะฝืนหลับต่อ ก็จะเป็นเพียงการนอนหลับแบบหลับ ๆ ตื่น ๆ ซึ่งต้องบอกเลยว่า เป็นการนอนหลับที่ต่ำคุณภาพกว่าการนอนไม่หลับอีกต่างหากนะคะ


นาฬิกาปลุก


          นอกจากนี้ การนอนหลับที่ไม่ได้คุณภาพอย่างการนอนหลับ ๆ ตื่น ๆ ก็จะส่งผลต่อสมองของคุณ ทำให้ความสามารถในการจดจำ สมาธิ และอารมณ์ของคุณถูกรบกวนจนปรวนแปรไปด้วย วันนั้นทั้งวันคุณก็อาจจะดูง่วงซึม เหมือนคนนอนไม่พอติดต่อกันหลายคืนเลยล่ะ
           

          ดังนั้นแพทย์จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงปัญหานี้ด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายเราเองก็จะส่งสัญญาณบอกให้คุณนอนหลับ เมื่อนอนไม่พอ เช่น ง่วงซึมตลอดทั้งวัน รู้สึกอ่อนเพลีย และอยากนอน ฉะนั้นก็ควรเข้านอนให้เร็วกว่าปกติ อย่างน้อยก็เข้านอนก่อนเวลาปกติสักหนึ่งชั่วโมงครึ่งก็ยังดี รวมทั้งควรสร้างบรรยากาศการนอนหลับด้วย พยายามอยู่ห่างจากเครื่องมือสื่อสาร และเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด ปิดแสงไฟที่มีสีฟ้าทุกดวงให้หมดอย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เนื่องจากแสงไฟสีฟ้ามีส่วนกระทบกับฮอร์โมนเมลาโธนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ และอาจทำให้เรานอนหลับไม่สนิทตลอดทั้งคืนได้
           
          นอกจากนี้ควรจะวางนาฬิกาปลุก หรือเครื่องตั้งปลุกให้ห่างเตียงนอน เพื่อเวลาที่ได้ยินเสียงปลุก จะได้ลุกออกมาจากที่นอน ปลุกให้ตื่นตัวมากขึ้น รวมทั้งตั้งเวลาปิดแอร์ก่อนตื่นสัก 1 ชั่วโมง เพราะอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ก็เป็นสัญญาณปลุกความตื่นตัวให้คุณได้เช่นกัน
 

          อย่างไรก็ตามแพทย์ก็ย้ำเตือนมาถึงคนที่มีพฤติกรรมไม่ยอมตื่นทันทีแบบนี้มาว่า หากคุณยังไม่เปลี่ยนนิสัย และปล่อยให้ตัวเองหลับต่อบ่อย ๆ ก็มีสิทธิ์ง่วงซึม สมาธิสั้น และอารมณ์ปรวนแปรเรื้อรังได้ ฉะนั้นต่อไปนี้ก็ตื่นนอนตามเวลาที่ตั้งปลุกไว้ เพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้ดีกว่าเนอะ แล้วจะได้รู้ว่า การตื่นนอนด้วยความรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่าทุกเช้า จะนำพาสิ่งดี ๆ เข้ามาในชีวิตอีกมากเลยด้วยล่ะ













เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เลื่อนเวลานาฬิกาปลุก เสี่ยงสมาธิสั้น ความจำย่ำแย่ อัปเดตล่าสุด 23 เมษายน 2559 เวลา 18:04:39 12,317 อ่าน
TOP