x close

สุขภาพพระสงฆ์ร่วมกันสร้างเสริม ด้วยการรู้จักเลือกถวายปัจจัย


ตักบาตร


สุขภาพพระสงฆ์ร่วมกันสร้างเสริม (หมอชาวบ้าน)
โดย นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู

          พระสงฆ์คือบุคคลสำคัญในการถ่ายทอดธรรมะในพระพุทธศาสนาแก่สาธุชน เพื่อให้ละเว้นการทำความชั่วและมุ่งมั่นทำความดี เมื่อพระสงฆ์มีสุขภาพดีมีพลังในการทำหน้าที่ธรรมทูต ย่อมสามารถเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้เต็มศักยภาพ

สุขภาพพระสงฆ์

          พระสงฆ์ดำรงตนอยู่ในศีล มีข้อปฏิบัติตามพระธรรมวินัย จึงมีวิถีชีวิตที่แตกต่างจากปุถุชน สุขภาพพระสงฆ์จึงสัมพันธ์กับกิจปฏิบัติ สิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม ตลอดจนความเชื่อ วัฒนธรรม และความเคยชินของประชาชน

          จากข้อมูลทางการแพทย์และสาธารณสุข พบว่า พระสงฆ์มีความเสี่ยงเกิดโรคที่สำคัญ ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง ไขมันสูงเบาหวาน และภาวะแทรกซ้อนจากโรคดังกล่าว

          สาธุชนมีส่วนสำคัญต่อสุขภาพพระสงฆ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มโรคดังกล่าว ซึ่งสัมพันธ์กับอาหาร ยา การดูแลตนเอง และการเฝ้าระวังความเสี่ยง

อาหารสำหรับพระสงฆ์

          พระสงฆ์ฉันอาหารที่ได้รับจากการบิณฑบาตและมีผู้ถวายพระสงฆ์ไม่เลือกอาหาร ไม่ติดรสชาติอาหาร ฉันพออิ่ม เพื่อให้ร่างกายมีพลังงานดำรงชีวิตและปฏิบัติศาสนกิจ

          อาหารถวายพระสงฆ์จึงมีความสำคัญต่อพระสงฆ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคที่เกี่ยวข้องกับภาวะโภชนาการ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันสูง เกาต์ ไตวาย


ใส่บาตร


การเลือกอาหารถวายพระสงฆ์

          มูลนิธิเพื่อพัฒนาการบริบาลผู้ป่วยเบาหวาน ให้คำแนะนำการเลือกอาหารถวายพระสงฆ์ 9 ประการ ได้แก่

          1. เลือกเครื่องดื่มไม่ผสมน้ำตาล น้ำเปล่าหรือเครื่องดื่มไม่ผสมน้ำตาลดีที่สุด เพราะน้ำตาลในเครื่องดื่มไม่ช่วยให้เกิดความอิ่ม และจะทำให้อ้วน เสี่ยงต่อการเกิดโรค หากต้องการรสหวาน ให้เลือกเครื่องดื่มสูตรน้ำตาลเทียม

          2. เลือกนมจืดไขมันต่ำ หรือสูตรไร้ไขมันเพื่อลดปริมาณไขมันที่พระสงฆ์จะบริโภค เลือกถวายโยเกิร์ตแบบเป็นถ้วยรสธรรมชาติ เลี่ยงการถวายโยเกิร์ตชนิดดื่ม เพราะมีน้ำตาลสูง

          3. เลือกข้าวกล้องแทนข้าวขาว เพราะข้าวกล้องผ่านการขัดสีน้อยกว่า มีกากใยมากกว่า ช่วยให้อิ่มนาน ช่วยระบบขับถ่ายให้ทำงานได้ดี และช่วยให้ร่างกายดูดซึมน้ำตาลเข้ากระแสเลือดช้าลง เสี่ยงเบาหวานน้อยลง

          4. เลือกแกงไม่ใส่กะทิ เช่น แกงจืด แกงส้ม แกงเลียง แกงป่า แทนแกงกะทิ หรือหากต้องการแกงกะทิจริง ๆ ให้ใช้นมหรือกะทิธัญพืช

          5. เลือกเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไม่ทอด ลอกหนังออกด้วยจะยิ่งดี ปรุงด้วยวิธีนึ่ง ย่าง ต้ม ปิ้ง อบ ผัดน้ำมันน้อย แทนการทอด

          6. เลือกผักสด เลี่ยงผัดผัก ผักทอด เลือกถวายเมนูผักที่ไม่ผ่านการทอดหรือผัดด้วยน้ำมันปริมาณมาก เช่น ผักและน้ำพริก ผักและหลน หรือหากเป็นผัดผัก ให้เลือกที่ผัดใช้น้ำมันน้อย

          7. เลือกผลไม้สด แทนน้ำผลไม้ ผลไม้แปรรูป ผลไม้สดมีประโยชน์มากกว่าน้ำผลไม้เพราะมีกากใยมากกว่า ช่วยให้อิ่มท้องนานกว่า ดีต่อระบบขับถ่ายมากกว่า หลีกเลี่ยงผลไม้แปรรูป เช่น ผลไม้หมักดองเพราะมีปริมาณโซเดียมสูง ส่งผลเสียต่อระดับ ความดันโลหิต หรือผลไม้อบแห้งเพราะมักมีปริมาณน้ำตาลสูง ส่งผลให้น้ำหนักเกิน

          8. เลือกขนมน้ำเชื่อมแทนขนมน้ำกะทิ เลือกไอศกรีมผลไม้แทนไอศกรีมไขมันสูง หากต้องการถวายขนม เลือกขนมที่มีส่วนผสมของกะทิและน้ำตาลให้น้อยที่สุด หากต้องการถวายไอศกรีมเพื่อความเย็นสดชื่น เลือกไอศกรีมประเภทไร้ไขมันหรือไขมันต่ำ

          9. เลี่ยงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารที่มีไขมันและโซเดียมสูงมาก ตัวเส้นบะหมี่ผ่านกระบวนการทอดมาก่อนบรรจุในซอง และเครื่องปรุงรสมีปริมาณโซเดียมสูงมาก เป็นอันตรายต่อทั้งหลอดเลือด ความดันโลหิต ไต และอื่น ๆ อีกมากมาย

ใส่บาตร


ยาสำหรับพระสงฆ์

          เนื่องจากพระสงฆ์ฉันอาหารวันละ 1 หรือ 2 มื้อ คือ เช้าและเพล แต่ละวันจึงมีช่วงเวลาที่ไม่มีอาหารในกระเพาะอาหารยาวนาน

          การสั่งยาวันละ 3 เวลาก่อนอาหารหรือหลังอาหาร จึงต้องปรับให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งระยะเวลาการออกฤทธิ์ยา ความสัมพันธ์ระหว่างอาหารและยา รวมทั้งภาวะแทรกซ้อนจากการฉันยาเมื่อท้องว่าง

          การให้ยาในโรคเรื้อรัง เช่น ยารักษาเบาหวาน ซึ่งระดับน้ำตาลในเลือดสัมพันธ์กับมื้ออาหาร จึงต้องปรับให้เหมาะกับวิถีชีวิตของพระสงฆ์ เพื่อประสิทธิผลของการควบคุมระดับน้ำตาลตลอดเวลา และป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป หรือสูงเกินไป ในบางช่วงเวลา


ชุดสังฆทาน


ชุดถวายสังฆทาน

          ร้านค้าที่จัดชุดถวายสังฆทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารสำเร็จรูป และอาหารแห้ง ควรพิจารณาคุณประโยชน์ทางด้านโภชนาการ และโทษจากอาหารที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งอายุของผลิตภัณฑ์อาหาร เพราะบ่อยครั้งที่อาหารในชุดสังฆทานใกล้หมดอายุ ซึ่งอาจไม่มีใครสังเกตต่อมาเมื่อพระสงฆ์นำมาฉันหรือแจกจ่ายให้ลูกศิษย์และญาติโยมผลิตภัณฑ์อาหารนั้นอาจเลยวันหมดอายุแล้ว

          สาธุชนผู้ใจบุญ จึงควรพิถีพิถันเลือกชุดอาหารถวายสังฆทาน โดยเน้นคุณภาพมากกว่าความสะดวก เพื่อให้เกิดคุณประโยชน์ตามเจตนาของการทำบุญ

          ทั้งร้านค้าและผู้ใจบุญ ควรร่วมกันจัดชุดถวายสังฆทานที่มีคุณภาพ

การดูแลเท้าพระสงฆ์

          พระสงฆ์เดินเท้าไปโปรดสัตว์ทุกหนทุกแห่ง มีโอกาสที่เท้าจะได้รับสิ่งสกปรกที่ปนเปื้อนตามพื้นเดิน และอาจได้รับบาดเจ็บ ทำให้เกิดบาดแผล ซึ่งบางครั้งเป็นแผลเล็กน้อย จนขาดความใส่ใจ แต่แผลนั้นมีโอกาสอักเสบติดเชื้อและลุกลามได้ในภายหลัง

          พระสงฆ์กลุ่มหนึ่งที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น พระสงฆ์ที่เป็นเบาหวานพระสงฆ์สูงอายุที่ประสาทรับความรู้สึกเสื่อม ทำให้เกิดบาดแผลโดยไม่รู้ตัว กว่าจะรู้ได้ต่อเมื่อบาดแผลอักเสบลุกลามแล้ว

          พระสงฆ์ที่เป็นเบาหวาน มีโอกาสเป็นแผลที่เท้าเรื้อรัง รักษาหายยาก บางครั้งแผลติดเชื้อลุกลาม จนต้องรักษาโดยการตัดนิ้วเท้าหรือตัดเท้า บางครั้งเชื้อโรครุนแรงจนเกิดการติดเชื้อในกระแสโลหิต

          เรามาร่วมด้วยช่วยกันดูแลเท้าพระสงฆ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระสงฆ์กลุ่มเสี่ยง รองเท้าที่เหมาะสมเป็นวิธีการป้องกันความเสี่ยงที่ดีวิธีหนึ่ง

เลือกถวายปัจจัยสร้างเสริมสุขภาพ

          เมืองไทยเมืองพุทธศาสนา ชุมชนประกอบด้วยบ้านและวัดพระสงฆ์และชาวบ้านมีกิจกรรมร่วมกันทุกวัน ดังนั้น พระสงฆ์เป็นหลักยึดหนึ่งในสังคมไทย รักษาและเยียวยาประชาชน การที่ประชาชนถวายปัจจัยสี่แก่พระสงฆ์ด้วยแรงศรัทธา ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลต่อสุขภาพพระสงฆ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหาร

          เรามาร่วมด้วยช่วยกันเลือกถวายปัจจัยที่สร้างเสริมสุขภาพ และร่วมดูแลสุขภาพพระสงฆ์






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สุขภาพพระสงฆ์ร่วมกันสร้างเสริม ด้วยการรู้จักเลือกถวายปัจจัย อัปเดตล่าสุด 13 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 06:54:55 2,285 อ่าน
TOP