มือชา
โรคมือชา อาการนี้อาจเกิดกับคุณ? (กรุงเทพธุรกิจ)
อาการชา เป็นปัญหาให้เกิดความวิตกกังวล และไม่สบายใจกับผู้ที่ประสบ เกรงว่า อาการชาจะกลายเป็นอัมพาตอัมพฤกษ์ บางคนเครียดจนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ
อาการของ มือชา - การกดทับเส้นประสาทที่ฝ่ามือจะทำให้มีอาการปวดมือ และปวดร้าวขึ้นไปที่แขนมักจะมีอาการชาที่นิ้วมือ โดยเฉพาะที่นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลางและบางส่วนของนิ้วนางตามแนวของเส้นประสาท
อาการปวดจะมีมากขึ้นเมื่อมีการใช้งานในลักษณะการเกร็งอยู่นานๆ เช่น การจับมีด กรรไกร การทำงานช่างที่ใช้ค้อนหรือใช้เครื่องมือที่มีแรงสั่นสะเทือนตั้งแต่เครื่องเป่าผมจนถึงเครื่องกระแทกเจาะคอนกรีต มักจะมีอาการปวดในเวลากลางคืนหรือเวลาตื่นนอนตอนเช้าบางรายที่ถูกกดทับอยู่นานๆ จะเริ่มมีอาการอ่อนแรงของมือ เช่น จะรู้สึกว่าไม่ค่อยมีแรงเวลากำมือ โดยเฉพาะการใช้มือหยิบของเล็กๆ จะทำได้ลำบากและมีกล้ามเนื้อลีบที่ฝ่ามือ
สาเหตุและพยาธิสภาพ
อาการปวดและชาเกิดเนื่องจากมีความดันสูงในช่องอุโมงค์ที่เส้นประสาทลอดผ่านที่บริเวณฝ่ามือ เนื่องจากมีการอักเสบและการหนาตัวของเนื้อเยื่อพังผืดที่คลุมช่องอุโมงค์นี้เกิดการกดทับเส้นประสาท ในรายที่เป็นอยู่มากๆ ก็จะเกิดเนื้อเยื่อพังผืดบางๆ รัดเส้นประสาทอีกชั้นหนึ่ง ทำให้การรักษาด้วยยาไม่ได้ผล
การตรวจวินิจฉัยโรค มือชา
จะมีอาการปวดแปลบๆ เวลาเคาะที่เส้นประสาทอาจพบมีกล้ามเนื้อลีบ ในบางรายอาจต้องใช้การตรวจระบบไฟฟ้าของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ
ปัจจัยเสี่ยง มือชา และโรคที่เกี่ยวข้อง
โรคเบาหวาน
โรคข้ออักเสบ เช่น รูมาตอยด์ เก๊าต์
โรคต่อมไทรอยด์บกพร่อง
ภาวะตั้งครรภ์
ก้อนถุงน้ำหรือเนื้องอกในช่องอุโมงค์
กระดูกหักบริเวณข้อมือ
การใช้งานมือนานๆ
ภาวะบวมน้ำจากโรคไต โรคตับ
การรักษาโรค มือชา
ให้หลีกเลี่ยงการใช้งานมือในลักษณะเกร็งนานๆ
ควบคุมหรือรักษาโรคประจำตัว โดยเฉพาะเบาหวานให้ดี
การใช้ยาลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ชนิดรับประทานมักจะได้ผลดี โดยอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
บางรายอาจต้องใช้อุปกรณ์ช่วยดามข้อมือชั่วคราว
การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าในช่องอุโมงค์จะช่วยอักเสบและบางรายจะหายได้
การผ่าตัด
เป็นการรักษาในรายที่มีอาการมากหรือกล้ามเนื้อเริ่มอ่อนแรงหรือลีบลง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาและการรักษาด้วยการผ่าตัดทำให้โรคหายขาดได้
การผ่าตัดจะเป็นการตัดและเลาะพังผืดที่รัดเส้นประสาท ซึ่งเป็นการผ่าตัดเล็กและผู้ป่วยสามารถใช้งานได้ภายใน 2 สัปดาห์ และจะใช้งานได้ตามปกติ ภายใน 4 - 6 สัปดาห์
เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ