x close

ฆ่าตัวตาย & ปัญหา จุดจบหรือจุดเริ่ม!

ฆ่าตัวตาย


ฆ่าตัวตาย & ปัญหา จุดจบหรือจุดเริ่ม! (ข่าวสด)

          เริ่มปีใหม่ 2553 มาได้ไม่นาน กระทรวงสาธารณสุขสรุปสถานการณ์การฆ่าตัวตายของคนไทยปีที่ผ่านมาว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงมักทำร้ายตัวเองสูงกว่าชาย แม้ผู้ชายจะเสียชีวิตมากกว่าถึง 2 เท่า โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มใช้แรงงาน เกษตรกร และใช้วิธีกินสารเคมีหรือสารพิษเป็นส่วนใหญ่

          ส่วนสาเหตุการฆ่าตัวตายพบว่ามีหลายสาเหตุ เช่น การเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ทำให้เกิดความเครียด คับข้องใจ อีกทั้งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการฆ่าตัวตายผ่านสื่อ ก็มีผลให้เกิดการเลียนแบบ

          พ.ญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การทำร้ายตัวเองของผู้หญิงที่มีเพิ่มขึ้น สะท้อนถึงสถานการณ์บ้านเรา เรื่องภาระความกดดันที่ผู้หญิงแบกรับมากขึ้น

          ส่วนการฆ่าตัวตายสำเร็จของผู้ชาย ข้อมูลนี้ตรงกับสถานการณ์การเมืองไทย และทฤษฎีผู้ชายเลือกใช้ความรุนแรงมากกว่า เช่น อาวุธปืน มีด การผูกคอตาย ที่ทำแล้วสำเร็จ ขณะที่ผู้หญิงเลือกใช้วิธีรุนแรงน้อยกว่าและโอกาสรอดยังมีอยู่

          พ.ญ.อัมพร กล่าวต่อว่า การทำร้ายตัวเองสะท้อนถึงสภาวะสุขภาพจิตของคนไทย และสภาวะสุขภาพจิตของคน ๆ นั้นที่อยู่ในสภาพที่รู้สึก และเชื่อว่าหมดหนทางไม่มีอะไรดีกว่าการตาย แต่เราจะเห็นได้ว่าความรู้สึก ความเชื่อ เป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับคนที่ตกอยู่ท่ามกลางปัญหา และปล่อยให้สภาพปัญหาบดบัง การแก้ไขปัญหาของตัวเอง

          ถ้าเราฉุกคิดได้ว่าทุกปัญหามีทางออก อย่างน้อยที่สุดปัญหาจะคลายตัวลงได้ แต่คนกลุ่มนี้ที่ตกอยู่ในภาวะนี้ไม่สามารถทำได้ หากมีคนข้างเคียง คนรอบตัวที่เป็นตัวประคอง ตัวช่วยเหลือเขาจะชะลอเวลาห รือประเมินสถานการณ์ที่ทำให้สิ่งที่รู้สึกไร้หนทาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเจ็บปวดหัวใจ ซึ่งบ่อยครั้งคนมองปัญหาหนักกว่าความเป็นจริง คนที่ซึมเศร้าจะเจ็บปวดกว่าคนธรรมดา แต่เราช่วยกันประคองได้

          สำหรับกลุ่มที่มีภาวะทุกข์ยากทางกายเรื้อรัง เป็นมะเร็ง หรือเป็นโรคที่ทำให้เกิดภาวะพิการ ต้องพึ่งพิงและสิ้นหวัง หากเราให้โอกาส ดูแล จะช่วยเขาได้ กลุ่มคนที่อยู่ในวิกฤตชีวิตในเรื่องเศรษฐกิจ ความรัก การเรียน การงานและสัมพันธภาพกับคนที่สำคัญมาก คนกลุ่มนี้มักเลือกใช้การฆ่าตัวตายเป็นทางออก การเลือกใช้วิธีนี้สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ทำให้ชีวิตแข็งแรงมากขึ้น การสนับสนุนแนวคิดนี้ที่ทำให้รู้ว่าธรรมชาติของชีวิตที่ยิ่งใหญ่ คือการเรียนรู้และเติบโตจากปัญหา ทุกคนต้องใส่ใจและขับเคลื่อน

          ถ้าเหลือบ่ากว่าแรงยังมีหน่วยงานเฉพาะช่วยเหลือ เช่น กรมสุขภาพจิต โทร.1677 หรือ 1324 ที่คอยช่วยเหลือดูแลกันและกัน รวมถึงการหมั่นสร้างพลังสุขภาพจิตให้ตัวเอง ต้องเน้นเป็นพิเศษในสังคมที่ซับซ้อน

          "ทุกชีวิตมีความหมายและช่วยชีวิตที่เหลืออยู่ได้ การจบชีวิตตัวเองเป็นการตัดโอกาส สร้างความรู้สึกเสียใจที่วัดเป็นราคาไม่ได้เลย ความสูญเสียยังส่งผลกระจายเป็นวงกว้าง เช่น ถ้าพ่อฆ่าตัวตาย ลูกขาดพ่อก็กำพร้า แต่ถ้าเป็นลูกกระทำ ก็จะทำให้พ่อแม่ไม่ได้เฝ้ามองลูกด้วยความภาคภูมิและเชื่อมั่น การฆ่าตัวตายไม่ได้หมายถึงการสิ้นสุดปัญหาของคน ๆ เดียว แต่เป็นการเริ่มต้นปัญหาของคนอื่นได้เหมือนกัน" พ.ญ.อัมพรกล่าว

          ด้าน น.พ.วิโรจน์ ตระการวิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลนครธน กล่าวว่า เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่เสพเรื่องของวัตถุที่มีความเปลี่ยนแปลง  และความไม่แน่นอนตลอดเวลา แต่ถ้าเราหันกลับมาดูเรื่องของจิตนิยมหรือเรื่องของจิต ดูแล้วรู้จักปล่อยวาง สภาวะความอยากจะหายไป ความเป็นอัตตาจะน้อยลง ขณะเดียวกันพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าได้ศึกษาแล้วจะพบว่าสิ่งที่เรามีมันเฝือเกินไป และปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา เพราะเราใส่ความเฝือที่มีมากมายจนเกินความจำเป็นลงไป ทำให้ชีวิตวุ่นวาย

          ถ้าเราย้อนดูที่จิตใจของเราและตั้งอยู่บนความพอเพียง เราจะพบความสุขต้นทุนต่ำ เช่น การออกกำลังกาย ว่ายน้ำ วิ่งจ๊อกกิ้ง พอเหงื่อออกแล้วร่างกายจะหลั่งสารความสุขออกมา แต่ถ้าเราหันไปซื้อของแบรนด์เนม และเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ สร้างหนี้สิ้น ทำให้ชีวิตรุงรัง มีสิ่งไม่จำเป็นมากมาย ทุกอย่างจะยุ่งเป็นปม ทำให้มองความเรียบง่ายไม่ออก พอมีอะไรกระทบทำให้ชีวิตต้องสะดุด เพราะขาดภูมิคุ้มกันตรงนี้

          น.พ.วิโรจน์ กล่าวต่อว่า ในการประชุม "พุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ทางจิต" ที่นำพุทธศาสนามารักษาคนไข้ คือเรื่องของสติ การฝึกสติให้เห็นจิตที่มีความโกรธ ความอยาก การเจริญพรหมวิหารธรรม ที่ประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ถ้ามี 2 อย่างนี้และได้รับการฝึก ทำให้กลุ่มคนไข้ลดอัตราโรคซึมเศร้า ลดความเครียดและอัตราการใช้ยาลงได้ แต่หากเราปรุงแต่จิต เขาไม่รัก ไม่ชอบ เพ้อฝันและขาดสติ ถ้ายึดพรหมวิหารธรรมจะทำให้เห็นใจผู้อื่นมากขึ้น ความทุกข์ที่มีจะเบาบางลง ไม่คิดหรือสนใจแต่เรื่องของตัวเอง การตัดสินใจฆ่าตัวตายคือความเห็นแก่ตัว

          สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวถึงสถาน การณ์การฆ่าตัวตายว่า ผู้หญิงที่ถูกกระทำในเรื่องเพศ และกลุ่มที่ได้รับความรุนแรงในครอบครัว หลายคนคิดฆ่าตัวตายและพยายามฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกกระทำเรื่องเพศ หลังเหตุการณ์เกิดขึ้นถ้ามีที่ปรึกษาที่ดี ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่เข้าไปคุยด้วย ให้คำแนะนำที่ดี เข้าใจและเห็นว่าทุกปัญหามีทางออก พร้อมให้กำลังใจ และชี้ให้เห็นช่องทางที่จะนำไปสู่ทางออกจะช่วยแก้ไขปัญหาได้ เร็วและคลี่คลายปัญหาได้ แต่หากถูกตำหนิซ้ำ ด้วยความไม่เข้าใจ หรือไม่ให้ความสำคัญจะผลักเขาไปสู่หนทางที่ไร้ทางออก

          นอกจากนี้ การเลี้ยงดูของครอบครัว ถ้ามีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาด้านต่าง ๆ การคิดฆ่าตัวตายอาจไม่เกิดขึ้น ขึ้นอยู่กับต้นทุนเดิมว่า เขาเป็นคนเปิดที่จะปรึกษาหารือหรือเป็นคนปิด

          อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจขึ้นอยู่กับหลายส่วนและมาจากหลายสาเหตุ คนที่ถูกกระทำรุนแรงทางเพศและครอบครัวนาน ๆ ทำซ้ำ ๆ ช่องทาง หรือวิธีการแก้ปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นได้กับคนที่คิดว่าตัวเองหมดคุณค่า หลายคนผ่านการฆ่าแต่ไม่ตาย และเมื่อมีคนดูแล ได้รับการบำบัดจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเหมือนกัน

          ขณะที่ความรุนแรงในครอบครัว ถูกสามีบังคับข่มขืน ทุบตี เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องยาวนาน เราต้องฟัง เข้าใจเขา ขณะเดียวกันสังคมต้องไม่ตำหนิซ้ำเติม ประณาม แต่ต้องรับฟังและช่วยให้เขากลับเข้าสู่สังคมได้ และต้องชื่นชมให้กำลังใจเขาเมื่อผ่านเรื่องเลวร้ายมาได้




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฆ่าตัวตาย & ปัญหา จุดจบหรือจุดเริ่ม! อัปเดตล่าสุด 16 ธันวาคม 2556 เวลา 17:44:13
TOP