x close

เช็กอาการเปลี่ยนชีวิต ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาตเฉียบพลัน


โรคหลอดเลือดสมอง

3 อาการเปลี่ยนชีวิต พูดอ้อแอ้ ปากเบี้ยว แขนขาไม่มีแรง โรคอัมพฤกษ์ อัมพาตเฉียบพลัน (โรงพยาบาลศิครินทร์)
โดย นพ.พรเทพ มิ่งมาลัยรักษ์ อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท ศูนย์หลอดเลือดสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลศิครินทร์

          โรคหลอดเลือดสมอง (อัมพฤกษ์–อัมพาต) หรือ Stroke เกิดจากภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เพราะมีการอุดตันของเส้นเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนต่าง ๆ ส่งผลให้สมองขาดเลือด อยู่ในภาวะที่ทำงานไม่ได้ กลายเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน

          อาการเบื้องต้นที่พบบ่อยของโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน เช่น ตาพร่ามัวมองเห็นภาพซ้อน มีอาการชาครึ่งซีก อ่อนแรงและหน้าเบี้ยว หรือมีอาการแขนขาอ่อนแรงร่วมด้วย พูดลำบาก หรือฟังไม่เข้าใจ เวียนศีรษะ การทรงตัวไม่ดี เดินเซ กลืนลำบาก ปวดศีรษะ (บางครั้งจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง) ซึ่งอาจจะแสดงอาการออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีอาการหลายอย่างพร้อมกัน

          ส่วนใหญ่โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน มักเกิดในกลุ่มวัยกลางคนขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงวัยที่กำลังสร้างสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม หากพบว่ามีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์ เพื่อให้การรักษาและวินิจฉัยโดยด่วน ถ้าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบตันได้รับการรักษาและสามารถกลับคืนมาเป็นปกติ

สาเหตุและผลกระทบของอาการของโรคหลอดเลือดในสมอง
        
          สาเหตุสำคัญของโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากการมีไขมันไปเกาะผนังหลอดเลือดด้านในหลอดเลือดสมอง หรือมีลิ่มเลือดขนาดเล็กที่ลิ้นหัวใจและผนังหัวใจหลุดลอยตามกระแสเลือดไปอุดตันหลอดเลือดในสมอง ซึ่งมักพบในผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจโต ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว   ผนังหัวใจรั่ว หรือเกิดจากการฉีกของผนังหลอดเลือดด้านในทำให้เส้นเลือดอุดตัน รวมถึงการแข็งตัวของเลือดที่เร็วเกินไป หรือเกล็ดเลือดมากเกินไปล้วนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้หลอดเลือดอุดตันได้      

อาการของโรคหลอดเลือดในสมอง

          อาการเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง หมายถึง สัญญาณอันตรายสู่การเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (อัมพฤกษ์-อัมพาต) เช่น
         
          มีอาการชาครึ่งซีก

          อ่อนแรงและหน้าเบี้ยว หรือมีอาการแขนขาอ่อนแรงร่วมด้วย พูดลำบาก หรือฟังไม่เข้าใจ

          เวียนศีรษะ การทรงตัวไม่ดี เดินเซ กลืนลำบาก ปวดศีรษะ (บางครั้งจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง)

          พูดไม่ออก หรือไม่เข้าใจ หรือพูดไม่ชัด ทันทีทันใด

          ตาข้างใดข้างหนึ่งมัว หรือมองไม่เห็น เห็นภาพซ้อน หรือมีอาการคล้ายม่านบังตาที่เป็นฉับพลัน

          ปวดศีรษะรุนแรงฉับพลัน ชนิดไม่เคยเป็นมาก่อน

          งุนงง เวียนศีรษะ หรือเสียการทรงตัว เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ ข้างต้น

          ซึ่งอาจจะแสดงอาการออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีอาการหลายอย่างพร้อมกัน


โรคหลอดเลือดสมอง

การรักษา และการปฏิบัติตัว

          การดูแลรักษาสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์ ดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง รวมถึงพยายามควบคุมให้ความดันโลหิตเป็นปกตินับเป็นหัวใจหลักที่ต้องยึดถือปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว

          การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองชนิดที่ขาดเลือดเฉียบพลัน หลัง 4.5 ชั่วโมงแรก
         
          ผู้ป่วยกลุ่มนี้ เนื้อสมองที่ขาดเลือดจะตายทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด การเปิดหลอดเลือดโดยยาละลายลิ่มเลือด ไม่ช่วยให้เนื้อสมองฟื้นตัว แต่อาจทำให้มีโอกาสเลือดออกในสมองเพิ่มขึ้นได้ จึงห้ามใช้ยาละลายลิ่มเลือดในผู้ป่วยกลุ่มนี้

          การรักษาด้วยยาในผู้ป่วยกลุ่มนี้คือ

          ยาต้านเกล็ดเลือด 

          ยาป้องกันเลือดแข็งตัว (Anticoagulant)

          ยาลดความดัน 

          ยาลดไขมัน

          การทำกายภาพบำบัดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง แม้ว่าอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะมีแนวโน้มลดลง แต่ผู้ป่วยจะเกิดอาการบกพร่องหรือพิการต่าง ๆ เกิดขึ้นกับร่างกาย อาการบกพร่องพิการเหล่านี้ บางอย่างอาจฟื้นฟูให้กลับมาสู่สภาพเดิมได้ยาก และผู้ป่วยกว่า 2 ใน 3 จะเกิดอาการบกพร่องพิการอย่างใดอย่างหนึ่งติดตัวไปตลอดชีวิต ดังนั้น ระหว่างที่ผู้ป่วยรับการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง ก็จะต้องทำการบำบัดเพื่อฟื้นฟูอาการบกพร่องพิการต่าง ๆ ควบคู่กันไปด้วย เพื่อไม่ให้อาการบกพร่องพิการทรุดหนักไปมากกว่านั้น

          การบำบัดรักษาอาการบกพร่องพิการนี้ เรียกว่า "เวชศาสตร์ฟื้นฟู" ซึ่งนอกจากจะหมายถึงการฟื้นฟูอาการแขนขาอ่อนแรงจากการเป็นอัมพาตอัมพฤกษ์แล้ว ยังรวมถึงการฝึกฝนเพื่อบำบัดรักษาอาการบกพร่องต่าง ๆ เช่น การพูด การกลืนกินอาหาร และอื่น ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้ตามเดิม

          เวชศาสตร์ฟื้นฟูสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง แบ่งได้เป็น 3 ระยะคือ "ระยะเฉียบพลัน" "ระยะฟื้นตัว" และ "ระยะทรงตัว"

          ระยะเฉียบพลัน คือระยะ 1-2 สัปดาห์หลังจากมีอาการป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง การบำบัดฟื้นฟูในช่วงนี้ จะเริ่มในขณะที่ผู้ป่วยยังนอนอยู่บนเตียง ภายหลังจากที่ล้มป่วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะป้องกันการหดตัวของกล้ามเนื้อและการยึดติดของข้อต่อ และเพื่อให้ผู้ป่วยสูญเสียพละกำลังไปน้อยที่สุด เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการบำบัดฟื้นฟูในช่วงต่อไป

          ก่อนที่จะทำการบำบัดฟื้นฟู ผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจคัดกรองจากแพทย์ เพื่อประเมินระดับการรับรู้ อาการอ่อนแรง อาการชา และระดับการเคลื่อนไหวของข้อต่อต่าง ๆ ก่อน จากนั้น แพทย์และนักกายภาพบำบัดจะกำหนดเป้าหมายในการฟื้นฟู และให้การบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยตามแผนที่วางไว้ต่อไป เมื่อทำการบำบัดฟื้นฟูเบื้องต้นในขั้นนี้แล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีพละกำลังกลับคืนมาเพียงพอที่จะนั่งบนเตียงได้ จึงจะทำการฝึกให้ผู้ป่วยสามารถทรงตัวในท่านั่งได้เป็นเวลานาน ๆ

          ระยะฟื้นตัว คือระยะ 3-6 เดือนหลังจากมีอาการป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง อาการของผู้ป่วยในช่วงนี้จะเริ่มทรงตัว และสามารถนั่งเป็นเวลานาน ๆ ได้ จึงจะเริ่มทำการบำบัดฟื้นฟูที่ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูหรือแผนกกายภาพบำบัดเฉพาะทาง โดยจะทำการบำบัดฟื้นฟูอย่างเข้มข้มตามแผนการฟื้นฟูที่แพทย์กำหนดไว้ให้กับผู้ป่วยแต่ละราย

          ระยะทรงตัว คือระยะที่พ้นจากระยะฟื้นตัวไปแล้ว โดยทั่วไปผู้ป่วยแต่ละรายจะมีการฟื้นฟูที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงแรกภายหลังจากที่ล้มป่วยใหม่ๆ แต่ในทางตรงกันข้าม หากสมรรถนะใดไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติได้ในช่วงนี้ ก็มีโอกาสสูงที่อาการบกพร่องพิการนั้นจะเหลือติดตัวไปตลอดชีวิต

          ระยะทรงตัวจึงเป็นระยะที่ผู้ป่วยจะต้องทำการบำบัดอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้สูญเสียสมรรถนะที่ฟื้นฟูมาได้แล้วนั้นไปอีก เมื่อผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลกลับมาอยู่ที่บ้าน จึงยังต้องทำการบำบัดฟื้นฟูที่บ้าน หรือที่สถานพยาบาลเฉพาะทางอย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิต เพื่อรักษาสมรรถภาพนั้น ๆ ให้คงอยู่ตลอดไป

การเริ่มทำการบำบัดฟื้นฟู

          ควรเริ่มตั้งแต่ขั้นระยะเฉียบพลัน ในขณะที่ผู้ป่วยยังต้องนอนพักอยู่บนเตียงโดยลำดับแรกจะเป็นการฝึกเพื่อจัดวางตำแหน่งของมือและเท้าในท่านอนให้ถูกต้อง และฝึกการพลิกตัวเพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ โดยจะต้องเปลี่ยนท่านอนให้กับผู้ป่วยทุก ๆ 2 ชั่วโมง และใช้ผ้าห่ม หมอน หรือถุงทราย เพื่อรองมือหรือเท้า เพื่อจัดท่านอนของผู้ป่วยให้ถูกต้อง

          นอกจากนี้จะต้องช่วยขยับข้อต่อต่าง ๆ ให้กับผู้ป่วย เพื่อป้องกันอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งและข้อต่อติด ให้กับผู้ป่วยด้วยการดูแลผู้ป่วยด้วยวิธีข้างต้นจะต้องทำให้กับผู้ป่วยทุกรายแม้จะยังไม่มีสติก็ตาม ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ป่วยในระยะที่ต้องนอนอยู่บนเตียง ก่อนที่จะเริ่มทำการบำบัดฟื้นฟูอย่างจริงจังในระยะต่อไป






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เช็กอาการเปลี่ยนชีวิต ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาตเฉียบพลัน อัปเดตล่าสุด 24 พฤษภาคม 2557 เวลา 12:02:17 30,146 อ่าน
TOP