โรคอีสุกอีใส วิธีรักษาอีสุกอีใส เด็กหรือผู้ใหญ่ก็เป็นได้


โรคอีสุกอีใส


โรคอีสุกอีใส (chickenpox)(สสส.)

          โรคอีสุกอีใส วิธีรักษาโรคอีสุกอีใส ทำได้อย่างไร วัคซีนอีสุกอีใส ใช้ได้ผลหรือไม่ มาหาคำตอบได้ที่นี่

          โรคอีสุกอีใส (chickenpox) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส วาริเซลลา มีลักษณะอาการเป็นผื่นแดงราบ ตุ่มใส ตุ่มหนอง กระจายตามหน้า ลำตัว และแผ่นหลัง และมีไข้

สาเหตุของโรค

          ไวรัสวาริเซลลาเกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า ไวรัสวาริเซลลา (Varicella virus) หรือ Human herpes virus type 3 เป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดงูสวัด

การติดต่อ

          โรคอีสุกอีใส ติดต่อโดยการสัมผัสถูกตุ่มน้ำโดยตรง หรือสัมผัสถูกของใช้ (เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ที่นอน) ที่เปื้อนถูกตุ่มน้ำของคนที่เป็นอีสุกอีใสหรืองูสวัด หรือสูดหายใจเอาละอองของตุ่มน้ำ ผ่านเข้าทางเยื่อเมือก 


อีสุกอีใส


อาการของโรค

           เมื่อร่างกายได้รับเชื้อเข้าไปแล้ว จะมีระยะฟักตัว 10-20 วัน จากนั้นจะแสดงอาการต่อไปนี้

          เด็กที่เป็นจะมีไข้ต่ำ อ่อนเพลียและเบื่ออาหาร ส่วนผู้ใหญ่มักจะมีไข้สูง มีอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัวคล้ายไข้หวัด ขณะเดียวกันก็จะมีผื่นขึ้นพร้อม ๆ กับวันที่เริ่มมีไข้ หรือ 1 วันหลังมีไข้ โดยในระยะแรกจะขึ้นเป็นผื่นแดงราบก่อน

          ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มนูน มีน้ำใส ๆ และคันมาก ลามไปทั่วร่างกาย
ตามไรผม
แล้วกระจายไปตามใบหน้าและลำตัว แผ่นหลัง บางคนจะมีตุ่มขึ้นในช่องปากทำให้ปากและลิ้นเปื่อย จะเกิดอาการเจ็บคอ บางคนอาจไม่มีไข้ มีเพียงผื่นและตุ่มขึ้นเท่านั้น ผื่นจะขึ้นมากที่สุดที่ใบหน้าและลำตัว

          จากนั้นอีก 2-3 วัน ตุ่มก็จะตกสะเก็ด มีลักษณะคล้ายหยดน้ำอยู่บนผิวหนังที่แดง เมื่อตุ่มน้ำโตเต็มที่จะกลายเป็นตุ่มหนอง ช่วงเป็นตุ่มน้ำนี้อาจจะใช้เวลาในการทยอยขึ้นประมาณ 1 สัปดาห์


          หลังจากตุ่มน้ำใสขึ้นทั้งตัวแล้ว จะค่อย ๆ ยุบและแห้งลง และกลายเป็นสะเก็ดที่รอหลุด ระยะที่ตุ่มน้ำแห้งจะใช้เวลาประมาณ 3 วัน และหลังจากนั้นจะเป็นเวลาที่สะเก็ดแผลจะค่อย ๆ แห้งขึ้นเรื่อย ๆ จนสะเก็ดหลุดออกเองและทำให้ผิวเป็นปกติ ซึ่งรวมระยะเวลาในการเป็นโรคอีสุกอีใสประมาณ 2 สัปดาห์

          อย่างไรก็ตาม ในเด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่มักจะมีอาการรุนแรงและมีตุ่มขึ้นมากกว่าเด็ก โดยทั่วไปผื่นหายได้โดยไม่มีแผลเป็น ยกเว้นมีเชื้อแบคทีเรียมาแทรกซ้อน โรคนี้เมื่อหายแล้วมักจะมีเชื้อหลบอยู่ที่ปมประสาท ซึ่งอาจจะออกมาเป็น งูสวัด ในภายหลังได้ เนื่องจากผื่นและตุ่มที่ขึ้นนี้จะค่อย ๆ ขึ้นทีละระลอก ไม่ขึ้นพร้อมกันทั่วร่างกาย บางทีจะขึ้นเป็นผื่นแดงราบ บางทีขึ้นเป็นตุ่มน้ำใส ๆ บางทีขึ้นเป็นตุ่มกลัดหนอง และบางทีเริ่มตกสะเก็ด จึงทำให้คนสมัยก่อนเรียกโรคนี้ว่า อีสุกอีใส


อาการแทรกซ้อน

          ที่พบบ่อยคือ การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนบนผิวหนัง ทำให้กลายเป็นหนอง และมีแผลเป็นตามมา ในบางรายเชื้อแบคทีเรียที่แทรกซ้อนอาจกระจายเข้าไปในกระแสเลือด ทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษและปอดบวมได้ ในผู้ใหญ่ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ได้รับยารักษามะเร็ง หรือ สเตอรอยด์ เชื้ออาจจะกระจายไปยังอวัยวะภายในเช่น สมอง ปอด ตับ ได้

การรักษา

          เนื่องจากเป็นโรคที่หายเองได้ โดยอาจจะมีไข้อยู่เพียงไม่กี่วัน ส่วนตุ่มจะตกสะเก็ดและค่อย ๆ หายใน 1-3 สัปดาห์ ผู้ป่วยจึงควรพักผ่อน และดื่มน้ำมาก ๆ ถ้ามีไข้สูงใช้ยา พาราเซตามอล เพื่อลดไข้ได้ ไม่ควรใช้แอสไพริน เพราะอาจทำให้เกิดอาการทางสมองและตับ ทำให้ถึงตายได้ ควรอาบน้ำและใช้สบู่ฟอกผิวหนังให้สะอาด ควรตัดเล็บให้สั้นและหลีกเลี่ยงการแกะเกา เพราะอาจทำให้ติดเชื้อได้

          ในรายที่คันมาก ๆ อาจให้ยาแก้คัน เช่น คลอเฟนิรามีน ช่วยลดอาการคันได้ ในปัจจุบัน มียาที่ใช้ยับยั้งการเจริญเติบโตของไวรัส แต่ต้องใช้ในขนาดสูงและราคาแพงมาก นอกจากนี้จะต้องเริ่มใช้ภายในวันแรก มิฉะนั้นอาจไม่ได้ผล หรือไม่ได้ผลดี

           การรักษาแบบเจาะจง คือ การใช้ยาต้านเชื้อไวรัสอีสุกอีใสซึ่งควรจะให้ในระยะเวลา 24-48 ชั่วโมง หลังมีผื่นขึ้นซึ่งเชื่อว่าการที่สามารถให้ยาได้ทันและมีปริมาณพอเพียงในช่วงนี้สามารถทำให้การตกสะเก็ดของแผล ระยะเวลาของโรคสั้นลงการทำให้แผลตกสะเก็ดเร็วขึ้นโอกาสการเกิดแผลติดเชื้อหรือแผลที่ลึกมากก็น้อยลง ดังนั้นแผลเป็นแบบหลุมก็น้อยลงด้วย

          อย่างไรก็ตามยาในกลุ่มนี้ก็มีราคาแพงมากการพิจารณาเลือกใช้ยากลุ่มนี้จึง ควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์และของผู้ป่วยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การดูและผิวในระยะที่มีผื่นอย่างถูกต้อง เช่นทำความสะอาดแผลให้ปราศจากสิ่งสกปรก หรือป้องกันการแทรกซ้อนของเชื้อแบคทีเรียกินยาเขียววันละ 3 ครั้ง 7 ถึง 10 เม็ด


โรคอีสุกอีใส

การดูแลรักษา

          การดูแลทั่วไป โรคอีสุกอีใสเป็นโรคที่ไม่รุนแรง โดยปกติแล้วจะเป็นเองหายเองภายใน 1-3 สัปดาห์ อาจจะมีข้อยกเว้นบ้างโดยเฉพาะในผู้ใหญ่ ซึ่งอาจจะมีอาการรุนแรงกว่า เช่น เป็นไข้หรือมีอาการทางผิวหนัง เช่น แผลมีการติดเชื้อหรือมีอาการคันรุนแรง หรือมีโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น อาการปอดบวมจากเชื้อไวรัส

          ในกลุ่มที่อาการไม่รุนแรงนี้ การให้ยาบางชนิด เช่น ยาบรรเทาอาการคัน การใช้น้ำสะอาดหรือ น้ำเกลือประคบ จะช่วยทำให้รู้สึกสบายตัวขึ้น ในเด็กควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาลดไข้จำพวกแอสไพริน เพราะอาจจะทำให้มีโรคแทรกซ้อนอย่างอื่นตามมาได้ และอาจทำให้มีอาการตับอักเสบรุนแรงได้

          สิ่งสำคัญอีกข้อหนึ่งก็คือ ต้องแยกผู้ป่วยที่เป็นโรคอีสุกอีใสออกจากผู้อื่น เช่น แยกห้องนอน รวมถึงแยกของใช้ของผู้ป่วยโรคอีสุกอีใส เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงในการได้รับเชื้อจากการใช้ของร่วมกัน
 

การป้องกันโรคอีสุกอีใส

          การป้องกันอาจทำให้ยาก เพราะผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ตั้งแต่ช่วงออกอาการไข้ไปจนถึงช่วงแผลแห้งตกสะเก็ด ดังนั้น ทางป้องกันที่ดีที่สุดคือ การรักษาความสะอาดของร่างกายและของใช้ และอาจฉีดวัคซีนป้องกันร่วมด้วย


วัคซีน


วัคซีนอีสุกอีใส

          วัคซีนอีสุกอีใส ที่ค้นพบในระยะแรกมีข้อจำกัดที่ต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำถึง -20 แต่ปัจจุบันสามารถพัฒนาเป็นวัคซีนที่เก็บให้คงประสิทธิภาพได้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศา ซึ่งเป็นอุณหภูมิตู้เย็นปกติ เก็บได้นาน 2 ปี ภายใต้ชื่อการค้า "VARILRIX" ของบริษัท SMITH KLINE BEECHAM

          ในสหรัฐอเมริกา วัคซีนนี้ได้ถูกบรรจุให้อยู่ในตารางการให้วัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคในเด็ก ปกติที่มีอายุในช่วง 12-18 เดือนแล้ว และกำหนดให้ฉีดให้เด็กอายุ 11-12 ปี ที่ยังไม่เคยรับวัคซีน และยังไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อนด้วย

          ในประเทศไทย เนื่องจากวัคซีนอีสุกอีใสมีราคาค่อนข้างสูง จากรายงานทางระบาดวิทยาพบ ว่า 50 % ของอีสุกอีใสเป็นในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ซึ่งมักมีอาการไม่รุนแรง จึงยังไม่กำหนดให้เป็น วัคซีนที่บังคับฉีดในเด็กไทย

          แต่หากต้องการฉีดวัคซีนป้องกัน ก็สามารถทำได้โดย วัคซีนอีสุกอีใสสามารถฉีดครั้งแรกได้ตั้งแต่อายุ 1 ปี  และเข็มที่สองเมื่ออายุ 4-6 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่พบติดเชื้อได้บ่อยที่สุด แต่หากมีความจำเป็นเร่งด่วน เช่น เกิดการระบาด หรือเพิ่งรับเชื้อ ให้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ทันที แต่ต้องห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน

          สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ที่ยังไม่เคยมีเป็นโรคอีสุกอีใส ให้รับ 2 เข็มห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อให้มีระยะเวลาเพียงพอในการกระตุ้นให้สร้างภูมิต้านทานได้สูงพอที่จะป้องกันโรค

          ในส่วนของผู้ที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไป หรือผู้ใหญ่ สามารถฉีดวัคซีน 2 เข็มได้ โดยห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน หรือภายใน 4-8 สัปดาห์หลังจากฉีดวัคซีนเข็มแรก

          ทั้งนี้ วัคซีนโรคอีสุกอีใส นอกจากป้องกันโรคได้แล้ว ยังช่วยลดโอกาสเกิดแผลเป็น และช่วยลดความรุนแรงของโรคเมื่อเกิดเป็นโรคอีสุกอีใสหลังฉีดวัคซีนแล้วด้วย

          อย่างไรก็ตาม วัคซีนอีสุกอีใสนี้ห้ามฉีดในหญิงมีครรภ์ สำหรับสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่ฉีดวัคซีนนี้ ควรหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือน หลังจากฉีดยา
 

เรื่องควรรู้เกี่ยวกับ อีสุกอีใส

          1. โรคนี้เมื่อเป็นแล้วอาจมีโอกาสเป็นงูสวัดได้ในภายหลัง

          2. ควรแยกผู้ป่วยออกต่างหากเพื่อป้องกันการติดต่อ โดยระยะแพร่เชื้อจะเริ่มตั้งแต่ 24 ชม. ก่อนที่ผื่นหรือตุ่มแห้งหมด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 6-7 วัน

          3. ไม่กินของแสลง

          4. ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสแล้ว


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคอีสุกอีใส วิธีรักษาอีสุกอีใส เด็กหรือผู้ใหญ่ก็เป็นได้ อัปเดตล่าสุด 5 กรกฎาคม 2564 เวลา 17:00:41 149,741 อ่าน
TOP
x close