Meat & Eat ฉลาดกิน สิ้นโรค

เนื้อสัตว์

Meat & Eat ฉลาดกิน สิ้นโรค (Health&Cuisine)

กินเนื้อสัตว์ให้เป็น

          เนื้อวัว เนื้อวัวแต่ละชนิดมีคุณภาพต่างกัน เนื้อวัวพันธุ์พื้นเมืองของไทย จะมีไขมันแทรกทั้งในเนื้อและระหว่างก้อนกล้ามเนื้อน้อยมาก สัมผัสจึงไม่นุ่มเท่าวัวขุน โดยเฉพาะวัวขุนโพนยางคำที่มีปริมาณไขมันมากกว่าถึง 10-15 เท่า ส่วนโปรตีนนั้นไม่แตกต่างกัน เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญเนื้อวัวยังเป็นแหล่งอุดมธาตุเหล็กและวิตามินบี 12 ที่ช่วยป้องกันโรคหัวใจและสมองเสื่อมอีกด้วย สำหรับผู้ที่ชื่นชอบรับประทานเนื้อวัว ขอแนะนำให้รับประทานเนื้อสันส่วนบน (Top Sirloin) เพราะเป็นส่วนที่มีไขมันต่ำสุดเมื่อเทียบกับส่วนอื่น ๆ

          เนื้อหมู ต้องมีสีชมพูอ่อน สด กดแล้วไม่บุ๋ม ถ้าเนื้อมีสีแดงแสดงว่ามาจากหมูแก่ เหนียวและเคี้ยวยาก ส่วนที่ดีที่สุดของหมูคือ สันใน และส่วนที่มีไขมันมากที่สุดรองจากสามชั้น ได้แก่ เนื้อซี่โครงและคอ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจในการเลือกเนื้อหมูว่า หมูที่ไม่ผ่านการใช้สารเร่งเนื้อแดง จะมีสัดส่วนของชั้นไขมัน 2 ส่วนต่อชั้นเนื้อ 1 ส่วน นอกจากนี้เนื้อหมูยังให้คุณค่าทางโภชนาการอื่นอีกมากมาย ที่เด่น ๆ ได้แก่วิตามินบี 1 วิตามินเอ ไนอาซิน และฟอสฟอรัส

          เนื้อไก่ จัดเป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพเพราะมีแคลอรี่ต่ำ มีคุณสมบัติดูดซับเครื่องปรุงได้ดี เมื่อนำมาประกอบอาหารจึงมีรสชาติดีกว่าเนื้อสัตว์อื่น ๆ สำหรับผู้ที่รักการรับประทานเนื้อไก่ แนะนำให้เลือกใช้ส่วนอก เพราะมีโปรตีนสูงกว่าส่วนอื่น แต่ให้ไขมันต่ำเพียง 8.2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนที่มีไขมันมากและควรหลีกเลี่ยง คือ สะโพกและปีก เพราะมีไขมันถึง 16.5 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งส่วนคอ เพราะมีสารตกค้างและยาปฏิชีวนะหลงเหลืออยู่มาก

          อาหารทะเล ในบรรดาอาหารทะเลทั้งหมด ปลาเป็นโปรตีนคุณภาพดีที่ย่อยง่าย เหมาะกับคนทุกวัย มีไขมันต่ำ ปลาทะเลจัดเป็นแหล่งที่ดีของกรดไขมันโอเมก้า- 3 ช่วยลดการจับตัวของเกล็ดเลือด ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด และช่วยบำรุงสมอง นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยวิตามินเอ บี และดี รวมทั้งแคลเซียม ไอโอดีนและธาตุเหล็กด้วย ส่วนกุ้ง หอย ปูและหมึก ต่างมีกรดไขมันโอเมก้าสูงเช่นเดียวกับปลา แต่ก็มีคอเลสเตอรอลสูงมากเช่นกัน ไม่แนะนำให้รับประทานเป็นประจำค่ะ

ทำความเข้าใจกับโปรตีน

          แม้โปรตีนจะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน แต่ก็มีปัจจัยหลายอย่าง ที่ทำให้แต่ละคนต้องการโปรตีนในปริมาณไม่เท่ากัน ดังนี้

             อายุและเพศ เด็กต้องการโปรตีนสูงกว่าผู้ใหญ่ เพราะต้องนำไปใช้ในการเจริญเติบโต จากสถิติพบว่า เพศชายมีความต้องการโปรตีนมากกว่าเพศหญิง ด้วยขนาดร่างกายและความต้องการใช้พลังงานในแต่ละวันที่มากกว่า มาดูปริมาณที่เหมาะสมในการบริโภคต่อวันกันเลยค่ะ
         
                     เนื้อสัตว์ 6 ช้อนกินข้าวต่อวัน (มื้อละ 2 ช้อนกินข้าว) สำหรับเด็กอายุ 6 ขวบถึง 13 ปี ผู้หญิงวัยทำงานอายุ 25-60 ปี และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป

                     เนื้อสัตว์ 9 ช้อนกินข้าวต่อวัน (มื้อละ 3 ช้อนกินข้าว) สำหรับวัยรุ่นหญิง-ชายอายุ 14 ถึง 25 ปี และชายวัยทำงานอายุ 25 ถึง 60 ปี

                     เนื้อสัตว์ 12 ช้อนกินข้าวต่อวัน (มื้อละ 4 ช้อนกินข้าว) สำหรับหญิง-ชาย ที่ใช้พลังงานมากเช่น นักกีฬา เกษตรกร และผู้ใช้แรงงาน

            ความเจ็บป่วยและภาวะโภชนาการ เด็กที่ขาดสารอาหารจะต้องการโปรตีนมากกว่าปกติ รวมทั้งคนป่วยหรือผู้เข้ารับการผ่าตัด ก็ต้องการโปรตีนมากกว่าคนปกติถึง 1-4 เท่า โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเอดส์ โรคตับ โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง
         
            คุณภาพโปรตีน หมายถึง ปริมาณกรดแอมิโนที่จำเป็นและความสามารถในการย่อย ผู้ที่บริโภคโปรตีนน้อยจึงมีโอกาสได้รับโปรตีนคุณภาพน้อยกว่าปกติ

            ปริมาณพลังงาน ที่ได้รับโดยรวม หากได้รับพลังงานไม่เพียงพอ ร่างกายจะดึงโปรตีน มาเป็นแหล่งพลังงาน จนอาจทำให้ขาดโปรตีนได้

            กิจกรรม การออกกำลังกายและการทำงานหนักทำให้เสียเหงื่อ และพลังงาน โปรตีนจึงเป็นแหล่งสารอาหารสำคัญที่ช่วยซ่อมแซมและให้พลังงานแก่เซลล์

            อารมณ์และความเครียด มีส่วนให้ระดับไนโตรเจนในร่างกายเป็นลบ จึงต้องการโปรตีนมากขึ้นเพื่อปรับสมดุล

          มีรายงานผลการวิจัยที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นว่า หากเราบริโภคโปรตีนให้เพียงพอไว้ตั้งแต่วัยกลางคน เมื่อแก่ตัวลง ร่างกายจะยังคงแข็งแรงกระฉับกระเฉงกว่าคนวัยเดียวกันที่ขาดโปรตีน ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้คนไทยควรบริโภคโปรตีนเฉลี่ยวันละ 50 กรัม หรือมื้อละประมาณ 2-4 ช้อนโต๊ะ

จะเป็นอย่างไรเมื่อขาดโปรตีนหรือได้รับโปรตีนมากเกิน

            ขาดโปรตีน ภาวะขาดโปรตีนมักเกิดร่วมกับการขาดพลังงาน ส่วนใหญ่จะพบในเด็กเล็ก สังเกตได้จากอาการผอมแห้ง กล้ามเนื้อลีบ ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะส่งผลต่อการพัฒนาของสมอง ทำให้โตช้า ภูมิต้านทานต่ำ เจ็บป่วยง่าย ส่วนวัยอื่นๆ ที่มีอาการเจ็บป่วยหรือนอนพักฟื้นอยู่บนเตียงนาน ๆ ก็อาจทำให้ขาดโปรตีนได้เช่นกัน การเสริมสารอาหารประเภทโปรตีนในช่วงนี้จะทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

            โปรตีนเกิน เมื่อร่างกายได้รับโปรตีนมากเกินไป จะพบปริมาณยูเรียในเลือดสูง มีภาวะเลือดเป็นกรดมากขึ้น ส่งผลให้ตับและไตทำงานหนัก ในการกำจัดยูเรียออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะ

          มีอีกหนึ่งข้อควรระวังสำหรับการบริโภคโปรตีน คือ ในแต่ละวันไม่ควรบริโภคเกินกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณพลังงานที่แนะนำต่อวัน (2,000 กิโลแคลอรี) โดยเฉพาะโปรตีนที่ได้จากอาหารเสริมชนิดเม็ด

เนื้อสัตว์ก่อโรคจริงหรือ

          ความเชื่อนี้คงไม่ถูกต้องซะทีเดียว เพราะปัญหาต่างๆ ทั้งโรคมะเร็ง คอเลสเตอรอลสูง หรือโรคหัวใจและหลอดเลือดนั้น ล้วนมีสาเหตุสำคัญมาจากไขมัน ไม่ใช่จากเนื้อแดง แต่ในเนื้อสัตว์ที่เราเห็นว่าเป็นเนื้อล้วน ๆ ก็มีไขมันแฝงที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (Invisible fat) ดังนั้น การบริโภคส่วนที่มีไขมันเยอะ ๆ เช่น หมูสามชั้น เนื้อติดมัน หรืออาหารทะเลที่มีคอเลสเตอรอลสูง ยิ่งไปทำให้เกิดการสะสมของไขมันชนิดไม่ดีในร่างกาย เป็นต้นทางของโรคร้ายต่าง ๆ นานา

          ทางที่ดี ควรเลือกบริโภคเนื้อสัตว์ในส่วนที่มีไขมันน้อย หรือตัดส่วนไขมันที่มองเห็นได้ออกไปบ้าง และต้องไม่ลืมเลือกซื้อเนื้อสัตว์คุณภาพดีที่มีการผลิตได้มาตรฐาน จะช่วยให้ปลอดภัยจากสารเคมีและสิ่งตกค้างได้

          การกินเนื้อสัตว์ในปริมาณที่มากเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อระบบย่อยได้เช่นกัน โดยเฉพาะปราการด่านสุดท้ายอย่างลำไส้ใหญ่ ฉะนั้น หากคุณคือมีท เลิฟเวอร์ อย่าลืมรับประทานผัก ผลไม้และดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ เพื่อให้ส่วนที่ร่างกายดูดซึมไม่ได้จากเนื้อสัตว์ ถูกขับถ่ายออกมาได้สะดวก ไม่ตกค้างจนก่อโรค

          สำหรับผู้ที่บริโภคเฉพาะพืชผัก คงเป็นการยากที่จะได้รับสารอาหารเทียบเท่ากับเนื้อสัตว์ H&C ขอแนะนำให้คุณเสริมคุณค่าทางอาหารด้วยไข่และนม จะดีต่อสุขภาพที่สุดค่ะ


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

 คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Meat & Eat ฉลาดกิน สิ้นโรค อัปเดตล่าสุด 16 ธันวาคม 2556 เวลา 17:49:03 14,444 อ่าน
TOP
x close