x close

รู้จังหวะการหายของโรค ช่วยดูแลรักษาตัวเอง


การดูแลสุขภาพ
 

โรคมีจังหวะการหาย (หมอชาวบ้าน)
โดย นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ

          อาการเจ็บป่วยหลายอย่างมีจังหวะการหายที่ค่อนข้างแน่นอน หากเข้าใจ เราก็สามารถให้การดูแลตนเองและรอจังหวะที่จะหาย หรือตระหนักว่าถ้าเลยจังหวะนั้นไปแล้วยังไม่ทุเลา ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ และควรรีบไปหาหมอ หากไม่ทราบ เราก็อาจแสวงหาการดูแลช่วยเหลือที่ไม่เหมาะสม ทำให้สิ้นเปลืองเวลาและเงินทอง และได้รับความเสียหายต่าง ๆ ได้ ในที่นี้ขอยกตัวอย่างที่พบบ่อยไว้เป็นอุทาหรณ์

ไข้หวัด หายได้ใน 48-96 ชั่วโมง

          มีคนจำนวนไม่น้อย เมื่อเป็นไข้หวัด (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเด็กเล็กเป็นไข้หวัด) ในวันแรกไปหาหมอได้ยามากิน พอวันรุ่งขึ้นยังมีอาการตัวร้อนอยู่ ก็รีบเปลี่ยนไปหาหมอคนที่ 2 ได้ยามา (ส่วนใหญ่ก็เป็นยาคล้าย ๆ กัน เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบและสีสันของยา) มากิน ก็ยังมีไข้สูง ก็เปลี่ยนไปหาหมอคนที่ 3 วันรุ่งขึ้นถึงจังหวะที่ไข้ลง (อยู่ระหว่าง 48-96 ชั่วโมง) พอดี ก็คิดว่าหายเพราะยาของหมอคนหลังสุด

          ความจริงไข้หวัด (มีอาการตัวร้อน น้ำมูกไหลไอ) เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ไม่มีการรักษาโดยจำเพาะ (คือ ไม่มียาที่ใช้ฆ่าเชื้อไข้หวัด) เพียงแต่ให้ยาแก้ไข้ ลดน้ำมูก แก้ไอ บรรเทา แล้วรอจังหวะให้อาการต่าง ๆ ทุเลาไปเอง ยาเหล่านี้เพียงแต่ช่วยบรรเทาอาการให้สุขสบาย หาได้มีผลต่อการหายของโรคไม่ จะไม่กินก็ได้ เช่น ไข้ไม่สูงก็ไม่ต้องกินยาลดไข้

          ผู้ที่เป็นไข้หวัดมักไม่มีภาวะแทรกซ้อน อาการตัวร้อนมักจะเป็นอยู่นาน 2 วันเต็ม ถึง 4 วันเต็ม โอกาสจะทุเลาภายใน 48 ชั่วโมงมีค่อนข้างน้อย แต่ถ้ามีไข้นานเกิน 4 วัน ก็แสดงว่าอาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น ซึ่งควรไปปรึกษาแพทย์

          การเปลี่ยนหมอหลายคนด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั้น นอกจากเสียเวลาเสียเงินโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังอาจได้ยาซ้ำซ้อน ทำให้ได้รับขนาดยาสูงเกินควร เช่น ได้ยาลดน้ำมูกซ้ำซ้อน อาจทำให้ง่วงนอนหรือซึม ได้รับยาพาราเซตามอลแก้ไข้เกินขนาด ซึ่งอาจมีพิษต่อตับและไตได้ ที่สำคัญอาจได้รับยาปฏิชีวนะเกินจำเป็น (ยานี้ใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียมี่ประโยชน์ต่อการรักษาโรคติดเชื้อไวรัส) ซึ่งอาจทำให้แพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงจากยาได้

          ทางที่ดีควรมีหมอประจำตัว (และครอบครัว) ที่สามารถให้คำปรึกษาแนะนำได้สะดวก หากหาหมอประจำตัวแล้วรู้สึกไม่ทุเลาก็ควรกลับไปปรึกษาหมอท่านเดิม จะได้รับการดูแลต่อเนื่อง และได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลที่เหมาะสมต่อไป


ไอ

เป็นหวัด อาจไอถึง 3 เดือน

          มีบ่อยครั้งที่หลงจากเป็นไข้หวัด ผู้ป่วยจะมีอาการไอเรื้อรัง บางครั้งไอนาน 1-3 เดือนกว่าจะทุเลา ทั้งนี้เนื่องจากมีหลอดลมอักเสบแทรกซ้อน แม้ว่าจะได้รับการดูแลจนหายติดเชื้อแล้ว แต่หลอดลมที่อักเสบนั้นมีเยื่อบุที่เสียหาย ทำให้ระคายเคืองง่ายเมื่อถูกสิ่งระคายเคือง (เช่น ลม ควัน ฝุ่น ความเย็น) ก็จะรู้สึกระคายคอและไอแค้ก ๆ อยู่เรื่อย จนน่ารำคาญโดยที่ผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีไข้ กินได้ น้ำหนักไม่ลด ทำงานได้ปกติ มักจะไอแห้ง ๆ หรือมีเสมหะขาวเพียงเล็กน้อย (หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้เรื้อรัง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไอเป็นเลือด หรือมีเสมหะสีเหลืองหรือเขียวก็ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเป็นวัณโรคปอดหรือสาเหตุร้ายแรงอื่น ๆ)

          ผู้ป่วยที่มีหลอดลมอักเสบจากไข้หวัดดังกล่าว จะไออยู่นานอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ บางครั้งอาจนาน 1-3 เดือน (เต็มที่ไม่เกิน 3 เดือน) เนื่องเพราะต้องรอจนกว่าเยื่อบุหลอดลมที่เสียหายไปนั้นจะฟื้นตัวแข็งแรงได้ดังเดิมก็จะหายระคายเคืองง่าย ระหว่างนั้นควรหลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคือง และกินยาระงับไอเป็นครั้งคราว

          ผู้ที่ไม่เข้าใจ หรือมีความวิตกกังวลก็อาจกินยาอะไรมากมาย รวมทั้งยาปฏิชีวนะที่ไม่จำเป็นนอกจาก จะไม่ได้ประโยชน์แล้ว ยังอาจเสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากยาได้

          กรณีนี้หากมีหมอประจำตัว ก็อาจได้รับคำแนะนำ และการดูแลที่เหมาะสมมากกว่าที่ต้องดิ้นรนช่วยเหลือตัวเองอย่างผิด ๆ


การดูแลสุขภาพ


ทอนซิลอักเสบ จะทุเลาหลังกินยา 48 ชั่วโมงไปแล้ว

          ผู้ที่มีไข้ เจ็บคอมาก ทอนซิลบวมแดงและเป็นหนอง แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุ โดยทั่วไปต้องรอกินยาไปแล้วประมาณ 48 ชั่วโมง อาการไข้และเจ็บคอจึงจะเริ่มทุเลา เนื่องเพราะต้องรอให้ยาฆ่าเชื้อไปได้มากถึงระดับหนึ่งก่อน

          มักพบว่าเมื่อกินยาไปได้เพียงครึ่งวัน อาการไม่ดีขึ้น หรืออาจรู้สึกว่ากลับเจ็บคอมากขึ้น ผู้ป่วยก็จะเปลี่ยนหมอเปลี่ยนยาหรือหันไปขอให้หมอฉีดยาโดยไม่จำเป็น ทำให้สิ้นเปลืองและเสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากยา

          ในทางตรงกันข้าม หากกินยา 48 ชั่วโมงไปแล้วไม่ทุเลา ก็อาจบ่งชี้ว่าโรคดื้อยา หรือให้ยาไม่ถูกกับโรคควรกลับไปปรึกษาแพทย์เพื่อปรับวิธีรักษาให้เหมาะสม

          มีบ่อยครั้งที่ผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอมาก โดยที่ไม่มีไข้ ก็นึกว่าเป็นทอนซิลอักเสบ จะไปซื้อยาปฏิชีวนะมากินเอง ผ่านไป 3-4 วันแล้วก็ยังไม่ทุเลา พบว่า ที่แท้อาการเจ็บคอของผู้ป่วยนั้นไม่ได้เกิดจากทอนซิลอักเสบ แต่เกิดจากแผลร้อนใน (แผลแอฟทัส ซึ่งมีอาการเจ็บคอเพียงจุดเดียว ไม่ได้เจ็บทั่วคออย่างทอนซิลอักเสบ และเจ็บมากเวลากลืนหรือพูด) มักจะหายได้เองภายใน 7-10 วัน โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ (ถึงใช้ก็ได้ผล) แต่อาการเจ็บคอจะเจ็บสุด ๆ ในวันที่ 3-4 ไปแล้ว หลังจากนั้นก็จะค่อย ๆ ทุเลาลงเป็นลำดับ


อาหารเป็นพิษ

ท้องเดินจากอาหารเป็นพิษ หายเองภายใน 6-48 ชั่วโมง

          อาการท้องเดินมักเกิดจากอาหารเป็นพิษเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นผลมาจากการกินอาหารที่มีพิษที่เชื้อโรคปล่อยไว้ในอาหารถึงแม้ปรุงให้สุกพิษก็ถูกทำลาย ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้อง ถ่ายเป็นน้ำบ่อยบางคนอาจมีไข้หรือมีอาการอาเจียนร่วมด้วย

          การรักษาให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ น้ำข้าวใส่เกลือ หรือน้ำอัดลมใส่เกลือ (ควรปล่อยให้แก๊สออกหมดก่อน) ทดแทนน้ำและเกลือแร่ให้มากพอกับที่สูญเสียไป สังเกตจากการมีปัสสาวะออกมากและใสใจไม่หวิวไม่สั่น ไม่มีอาการหน้ามืดเวลาลุกขึ้นยืน แต่ถ้ามีอาการอาเจียน หรือดื่มไม่ได้ ก็ควรไปพบแพทย์ในรายที่เป็นรุนแรงแพทย์จำเป็นต้องให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด

          โรคนี้ไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เพราะเกิดจากพิษ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค และไม่ควรกินยาแก้ท้องเสียใด ๆ ยาแก้ท้องเสียบางอย่างมีฤทธิ์ทำให้ลำไส้หยุดนิ่ง ไม่ขับเคลื่อนตัว ช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง และถ่ายห่างขึ้น แต่กลับกักเก็บพิษไว้ในลำไส้ให้อยู่นานขึ้น โรคกลับหายช้าลง

          ควรปล่อยให้ถ่ายขับพิษออกไป ก็จะช่วยให้โรคหายเร็ว แต่ต้องกินน้ำกับเกลือแร่ทดแทนให้พอ ก็จะปลอดภัย

          ถ้าพิษไม่มาก ก็มักจะทุเลาได้ภายใน 6-12 ชั่วโมง ถ้าพิษมากก็อาจกินเวลา 24-48 ชั่วโมงกว่าจะหายขาด


ไมเกรน

ไมเกรน ปวดนาน 4-32 ชั่วโมง

          ผู้ที่เป็นไมเกรนมักจะมีอาการปวดศีรษะเป็นประจำมาตั้งแต่วัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว ทุกครั้งจะมีเหตุกระตุ้นให้อาการกำเริบอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ถูกแสงจ้า ใช้สายตามาก ถูกเสียดงัง ได้กลิ่นฉุน ๆ กินอาหารพวกโปรตีนสูง กินผงชูรส ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อดนอน นอนตื่นสาย หิวหรืออิ่มจัด อากาศร้อนหรือเย็นจัด อากาศอบอ้าว ร่างกายเหนื่อยล้า มีประจำเดือน กินยาเม็ดคุมกำเนิด จิตใจตึงเครียด ฯลฯ โดยรวม ๆ ผู้ป่วยมักสังเกตว่ามีเหตุกำเริบมากกว่าหนึ่งอย่างเสมอ

          ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตุบ ๆ (ตามจังหวะชีพจร) ที่ขมับข้างเดียวหรือสองข้าง และมักมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย เมื่อเริ่มมีอาการ หากสัมผัสถูกแสงเสียง ฝืนทำงานหรือเคลื่อนไหวร่างกายไปมา อาการปวดจะเป็นมากขึ้นถ้าปล่อยไว้ ไม่กินยาแก้ปวด ก็จะปวดติดต่อนานอย่างน้อย 4 ชั่วโมง อย่างมาก 72 ชั่วโมงหรือ 3 วัน 3 คืน (เวลานอนหลับจะไม่รู้สึกปวด แต่ตื่นขึ้นมาก็จะปวดต่อ) ผู้ที่มีอาการปวดศีรษะติดต่อกันนานเกิน 72 ชั่วโมงหรือปวดทุกวันไม่เว้นมักจะเกิดจากสาเหตุอื่นมากกว่าไมเกรน

          1. รีบกินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล 1-2 เม็ด ทันทีที่เริ่มรู้สึกมีอาการ อย่าปล่อยให้นานเกินครึ่งชั่วโมง และหาทางนอนหลับหรือนั่งพักในที่เงียบ ๆ แสงสลัว ๆ และมีอากาศสบาย ๆ ถ่ายเทดี ก็มักจะทุเลาได้ภายในไม่นาน ไม่ต้องปวดนานถึง 4 ชั่วโมงขึ้นไป

          2. สังเกตว่ามีเหตุกำเริบจากอะไรบ้าง แล้วหลีกเลี่ยงเสีย ก็จะช่วยให้อาการห่างหายไปได้






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จังหวะการหายของโรค ช่วยดูแลรักษาตัวเอง อัปเดตล่าสุด 7 กรกฎาคม 2557 เวลา 22:36:58 1,245 อ่าน
TOP