x close

เส้นเอ็นอักเสบ โรคฮิตคนชอบออกกำลังกาย ปวดเรื้อรังไม่หาย รักษายังไงดี

          ออกกำลังกายบ่อยยิ่งเป็นได้ง่าย มนุษย์เงินเดือนนั่งออฟฟิศก็เสี่ยงเอ็นอักเสบไม่น้อยเหมือนกัน แล้วถ้าเอ็นอักเสบเรื้อรัง รักษายังไงดี
เส้นเอ็นอักเสบ

          เส้นเอ็นอักเสบ อาการที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนรักสุขภาพ​ โดยเฉพาะคนที่เล่นกีฬาและออกกำลังกายเป็นประจำ ก็มักจะเกิดอาการเอ็นอักเสบกันบ่อย ๆ หรือในกลุ่มคนที่ใช้ข้อมือทำงานหนัก ๆ กลุ่มนี้ก็เสี่ยงกับอาการเส้นเอ็นอักเสบให้ทรมานร่างกายเช่นกัน ดังนั้นเพื่อให้เราเข้าใจกับอาการเส้นเอ็นอักเสบมากขึ้น เรามาทำความรู้จักโรคนี้กันค่ะ จะได้รู้วิธีป้องกันและรักษาเส้นเอ็นอักเสบได้อย่างตรงจุด

เส้นเอ็นอักเสบ คืออะไร เกิดจากอะไร

          เส้นเอ็นอักเสบ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Tendinitis เส้นเอ็นอักเสบคืออาการอักเสบที่เกิดขึ้นในส่วนของเอ็นและปลอกหุ้มเอ็น มักจะพบผิวเอ็นขรุขระ เยื่อหุ้มเอ็นอักเสบและหนาตัว ทำให้แรงเสียดทานมีมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยเจ็บปวดบริเวณที่เอ็นเสียดสีกับกระดูกหรือปลอกหุ้มเอ็น รวมไปถึงบริเวณที่เอ็นเกาะกระดูก ทั้งนี้ผู้ป่วยจะมีอาการบาดเจ็บ บวม แดง ร้อน อาจมีก้อนนูน ๆ ตามเส้นเอ็น รู้สึกปวดตื้อ ๆ เมื่อมีการเคลื่อนไหวของข้อต่อนั้น ๆ มีการเคลื่อนไหวร่างกายสะดุด และอาจพบอาการข้อติดได้ในบางราย

เส้นเอ็นอักเสบ

เส้นเอ็นอักเสบ เกิดขึ้นกับใครได้บ้าง

          มักจะพบอาการอักเสบในผู้ที่ต้องทำงานหนัก มีการเคลื่อนไหวข้อต่อและกล้ามเนื้อมาก ๆ ทำให้เกิดการกระทบกระแทก ผู้ที่ออกกำลังกายหนัก ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยโรคข้อเรื้อรัง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคข้ออักเสบติดแข็ง และกลุ่มอาการไรเตอร์ เป็นต้น รวมทั้งกลุ่มคนทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน

          อย่างไรก็ตาม อาการเส้นเอ็นอักเสบสามารถเกิดขึ้นในอวัยวะหลายจุด โดยจุดที่พบอาการเส้นเอ็นอักเสบได้บ่อย จะมีดังต่อไปนี้


เส้นเอ็นอักเสบ

เส้นเอ็นอักเสบพบส่วนใดได้บ้าง

          - นิ้วมือ มักพบอาการเจ็บและกดเจ็บที่โคนนิ้วมือทางด้านฝ่ามือ

          - ข้อมือ พบได้ทั้งด้านนิ้วหัวแม่มือและด้านนิ้วก้อย

          - ข้อศอก พบทั้งด้านนอกและด้านใน พบอาการได้หลายแบบ เช่น

          - โรคข้อศอกเทนนิส (Tennis elbow syndrome) อาการที่มักจะปวดข้อศอกด้านนอกเมื่อขยับ-หมุนข้อศอก กระดกข้อมือ หรือกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก ๆ เช่น กำสิ่งของในมือ บิดมือเปิดฝาขวดน้ำ ฯลฯ มักพบอาการนี้ในคนที่ใช้งานข้อศอกซ้ำ ๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เช่น การตีเทนนิส การเขียนหนังสือ หิ้วของหนัก ช่างก่อสร้าง ช่างซ่อมต่าง ๆ แม้แต่แม่บ้านที่ต้องปัดกวาดบ้าน ถูบ้าน ทำกับข้าว ยกของบ่อย ๆ ทำให้เส้นเอ็นกล้ามเนื้อค่อย ๆ ฉีกขาดหรืออักเสบ

เส้นเอ็นอักเสบ

          - โรคข้อศอกนักกอล์ฟ (Golfer’s elbow syndrome) อาการไม่ต่างจากโรคข้อศอกเทนนิส แต่จะปวดบริเวณต่างกันคือ ปวดบริเวณข้อศอกทางด้านในฝั่งนิ้วก้อย ซึ่งเกิดจากการฉีกขาดของเส้นใยกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่ทำหน้าที่กำมือและกระดกข้อมือเพราะใช้งานมากไป เช่น ในกลุ่มนักกอล์ฟ หรือนักกีฬาที่ต้องโยนหรือเหวี่ยงแขน ทำให้มีอาการปวดเมื่อกระดกมือขึ้น-ลงหรือเหยียดข้อศอก

          - ข้อไหล่ (Rotator Cuff Tear) มีอาการยกไหล่ได้ไม่สุด หรือมีอาการปวดไหล้เมื่อนอนทับไหล่ด้านนั้น ๆ

          - ส้นเท้าและเอ็นร้อยหวาย (Achilles Tendinitis) มีอาการเจ็บปวดที่ส้นเท้าเมื่อลงน้ำหนักครั้งแรก ๆ​ โดยอาการมักจะเป็นตอนหลังตื่นนอน

          - ข้อเข่า เอ็นสะบ้าอักเสบ (Patellar Tendinitis) มักพบอาการปวดที่ด้านในของข้อ บริเวณที่เกาะของกล้ามเนื้อด้านใน

          - สะโพก มักเกิดขึ้นบ่อยบริเวณด้านนอกตรงปุ่มกระดูกข้อสะโพก

          - หลังและคอ มักพบร่วมกับโรคข้ออักเสบเรื้อรังอื่น ๆ

เส้นเอ็นอักเสบ

เส้นเอ็นอักเสบ รักษาอย่างไร

          ภาวะเอ็นอักเสบที่เกิดจากการใช้งานร่างกายมากเกินไป มักจะรักษาด้วยการพัก คือหยุดพักการใช้งานบริเวณที่เจ็บปวดนั้น ๆ เพื่อป้องกันการอักเสบมากขึ้น รวมทั้งอาจจะบรรเทาอาการปวดด้วยการประคบด้วยผ้าชุบน้ำอุ่น หรือใช้ยาทาบรรเทาอาการปวด บวม อักเสบ ร่วมด้วย และหากมีอาการปวดมาก แนะนำให้ใช้ผ้าพันแผลชนิดยึดพันให้พอแน่น หรือวางสำลีกดลงตรงที่ปวดแล้วพันแผลเพื่อล็อกไม่ให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณนั้น ๆ เคลื่อนไหวเยอะก็ได้

          อย่างไรก็ตาม หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ควรพบแพทย์ เพราะอาการเส้นเอ็นอักเสบเรื้อรังอาจพบหินปูนหรือแคลเซียมเกาะที่เส้นเอ็นได้ เคสแบบนี้จำเป็นต้องเข้ารับการเอกซเรย์และวิธีรักษาอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น กายภาพบำบัด ฉีดยาสเตียรอยด์ แต่หากเป็นกรณีเส้นเอ็นฉีกขาดแล้ว แพทย์จะต้องใช้วิธีผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมเส้นเอ็น


เส้นเอ็นอักเสบ

เส้นเอ็นอักเสบ ป้องกันได้ไหม

          ในกรณีที่ไม่ได้มีอาการเส้นเอ็นอักเสบจากโรคข้อหรือโรคประจำตัวใด ๆ แต่เกิดจากการใช้งานร่างกายหนักเกินไป เราก็สามารถป้องกันอาการเอ็นอักเสบได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการใช้งานกล้ามเนื้อ-ข้อต่อที่ไม่ถูกต้อง เช่น ออกกำลังกายไม่ถูกวิธี โดยเฉพาะการออกกำลังกายในขณะที่ร่างกายไม่พร้อม คือร่างกายยังแข็งแกร่งไม่พอ กล้ามเนื้อและข้อต่อยังไม่พร้อมกับการออกกำลังกายหนัก ๆ หรือการไม่ยืดกล้ามเนื้อก่อนออกกำลังกาย ซึ่งอาจส่งผลให้ร่างกายรับไม่ไหว กระทั่งเกิดอาการเส้นเอ็นอักเสบขึ้นมา

เส้นเอ็นอักเสบ

          นอกจากนี้ในคนที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์ มีการใช้งานข้อมือ นิ้ว ในท่าเดิมบ่อย ๆ เป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน ควรหมั่นบริหารมือและนิ้วอยู่เสมอ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและเอ็นข้อต่อ ซึ่งจะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงอาการเส้นเอ็นอักเสบได้อีกทางค่ะ

          - 7 ท่าบริหารมือง่าย ๆ คนจับเม้าส์ จิ้มจอทั้งวัน ควรทำอย่างแรง !

          - 7 คลิปท่าวอร์มอัพก่อนออกกำลังกาย ฟิตได้สบายร่าง อึดนานกว่าที่เคย


***หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2561

ขอบคุณข้อมูลจาก
หมอชาวบ้าน
มูลนิธิโรคข้อในพระราชูปถัมภ์ฯ
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
รายการ Dr.Smith
มหาวิทยาลัยมหิดล
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เส้นเอ็นอักเสบ โรคฮิตคนชอบออกกำลังกาย ปวดเรื้อรังไม่หาย รักษายังไงดี อัปเดตล่าสุด 26 มิถุนายน 2563 เวลา 14:53:14 378,758 อ่าน
TOP