เครียดจัดเสี่ยงหัวใจเต้นผิดปกติ (247 freemagazine)
โดย iD11
หัวใจเต้นผิดปกติไม่ใช่เรื่องไกลตัว คนชอบเครียดมาก ๆ นี่ล่ะกลุ่มเสี่ยงเลย
เคยรู้สึกไหมว่า อยู่ดี ๆ ใจมันสั่น ๆ หวิว ๆ ยังไงก็ไม่รู้ แถมยังมีอาการจุกอกด้วยอีกต่างหาก (ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ตื่นเต้นหรืออยู่ต่อหน้าหนุ่ม ๆ ที่แอบกรี๊ด) ไม่แน่นะว่า นี่อาจจะเป็นสัญญาณเตือนว่าหัวใจคุณกำลังเต้นผิดปกติอยู่ก็ได้ หลายคนอาจจะคิดว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว แต่ขอบอกว่าอาการของมันร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยล่ะ แถมยังสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศ ทุกวัย และคนที่เป็นก็ยังไม่รู้ตัวอีกด้วย ทีนี้พร้อมหรือยังที่จะมาทำความรู้จักกับเจ้าโรคนี้กัน
อย่างไหนเรียก "หัวใจเต้นผิดปกติ"
โดยปกติ หัวใจของคนเราจะเต้นอยู่ที่ประมาณ 60-80 ครั้ง/นาที แต่ถ้าหากเป็นโรคหัวใจเต้นผิดปกติ หัวใจจะเต้นช้าและเร็วเกินไป คือ น้อยกว่า 60 ครั้ง/นาที และมากกว่า 100 ครั้ง/นาที ซึ่งจะพบในหญิงมากกว่าชาย และทุก ๆ ช่วงอายุคน
หัวใจเต้นผิดปกติมีกี่ชนิด
หัวใจเต้นผิดปกติมีไม่ต่ำกว่า 10 ชนิด แต่ละชนิดก็มีกลไกการเกิด สาเหตุการเกิด อาการ วิธีการรักษา รวมถึงการพยากรณ์โรคแตกต่างกันออกไป โดยทั่วไปจะแบ่งชนิดของหัวใจเต้นผิดปกติออกเป็น 3 ชนิด คือ
1. หัวใจเต้นช้าเกินไป คือเต้นน้อยกว่า 60 ครั้ง/นาที ร่างกายจะรับเลือดเข้าไปไม่เพียงพอ
2. หัวใจเต้นเร็ว แต่ไม่รุนแรงมาก คือเต้นมากกว่า 100 ครั้ง/นาที และอาจถึง 210 ครั้ง/นาที จะมีอาการใจสั่น เหนื่อย หัวใจเต้นเร็วและแรง
3. หัวใจเต้นเร็ว และรุนแรงมาก คือเต้น 350 ครั้ง/นาที จะมีอาการหมดสติ หัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตเฉียบพลัน
หัวใจเต้นผิดปกติ รักษาได้อย่างไร
1. หัวใจเต้นช้าเกินไป จะรักษาโดยการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจเข้าไป
2. หัวใจเต้นเร็ว แต่ไม่รุนแรงมาก จะรักษาโดย
- กินยาเบรก แต่จะไม่หายขาด ต้องกินยาเรื่อย ๆ
- จี้ด้วยคลื่นวิทยุ จะมีโอกาสหายขาดได้ถึง 95% และมีโรคแทรกซ้อนน้อยมากไม่เกิน 1% จะใช้ในกรณีที่กินยาแล้วไม่ได้ผล, กินยาได้ผล แต่มีผลข้างเคียง, คนไข้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น นักดำน้ำ นักปีนเขา หรือคนขับเครื่องบิน และในกรณีที่คนไข้ต้องการที่จะหายขาด
3. หัวใจเต้นเร็ว และรุนแรงมาก จะใช้วิธีกระตุกหัวใจ คือฝังเครื่องกระตุกหัวใจเข้าไป
Did You Know?
นวัตกรรมใหม่ในการรักษา
ปัจจุบันคนที่ป่วยเป็นโรคหัวใจเต้นผิดปกติ คือ เต้นเร็วเกินไป แต่ไม่ซับซ้อนมากนัก แพทย์จะใช้เครื่องตรวจวิเคราะห์ระบบการนำไฟฟ้าหัวใจ (EP System) ซึ่งจะดูผลจากฟิล์มเอกซเรย์ แล้วจึงใช้วิธีจี้ด้วยคลื่นวิทยุ
แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติซับซ้อนมากหรือมีจุดกำเนิดไฟฟ้าส่วนเกินมากกว่า 1 จุด แพทย์จะใช้เครื่อง Carto System ซึ่งจะสามารถสร้างภาพเป็นระบบสามมิติมาช่วยในการค้นหาตำแหน่งของการเกิดวงจรไฟฟ้าภายในหัวใจผู้ป่วย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเสี่ยงกับรังสีเอ็กซเรย์ในการรักษา และสามารถหาจุดกำเนิดไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ อีกทั้งยังสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วย
1 = ทุก ๆ 1 ชั่วโมง จะมีคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ 1 คน หรือเฉลี่ยวันละ 24 คน (ข้อมูล : กระทรวงสาธารณสุข)
คนไหนชอบเครียด โปรดระวัง !
คนที่ทำงานหนักและมีความเครียดสูง ๆ คือกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจเต้นผิดปกติมากที่สุด เพราะความเครียดจะไปกระตุ้นให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ นอกจากนี้พฤติกรรมอื่น ๆ ที่ไม่เหมาะสม อย่างเช่นการสูบบุหรี่ ดื่มกาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็มีโอกาสกระตุ้นให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก