x close

เมื่อ...ความรู้สึกรับรส ผิดปกติ

พิซซ่า


เมื่อ...ความรู้สึกรับรส ผิดปกติ (อ.ส.ม.ท.)

         ผู้ป่วยบางรายมาหาหมอจีน บอกว่า รู้สึกขมคอ กินอะไรก็ไม่มีรสชาติ เป็นคนหงุดหงิดง่าย นอนหลับไม่สนิท มักฝันร้ายเสมอๆ อุจจาระไม่มาก ถ่ายไม่หมด อุจจาระไม่เป็นก้อน มีลักษณะเหนียว 

         ผู้ป่วยอีกรายหนึ่งมาหาหมอจีน ด้วยอาการ ความรู้สึกจืดชืดในรสชาติของอาหาร เบื่ออาหาร กินอะไรเข้าไปก็รู้สึกท้องอืด ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน กินยาลดน้ำตาล กลัวความเย็น อ่อนเพลียไม่ค่อยมีแรง

         ยังมีผู้ป่วยบางราย บอกกับหมอว่า ในปากรู้สึกว่ามีรสในคอหวาน ๆ ตลอดเวลา บางคนบอกว่ามีรสเค็ม บางคนบอกว่ามีรสเปรี้ยว บางคนมีรสฝาด

         ความรู้สึกเกี่ยวกับการรับรสชาติผิดปกติ ไม่ได้มีความหมายเฉพาะ ที่เกี่ยวข้องกับต่อมรับรสบนลิ้นผิดปกติเท่านั้น แต่มันยังสะท้อนความผิดปกติของร่างกาย โดยเฉพาะการทำงานของระบบย่อยและดูดซึมอาหาร หรือระบบม้ามและกระเพาะอาหาร แต่ยังอาจรวมถึงอวัยวะภายใน (จั้งฝู่) อื่น ๆ อีกด้วย

 ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้สึกรับรสกับอวัยวะภายใน

         ความรู้สึกรับรสผิดปกติ ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการทำงานผิดปกติของระบบม้ามและกระเพาะอาหาร แต่ยังเกี่ยวข้องกับอวัยวะภายในอื่น ๆ อีกด้วย ในทางคลินิกที่พบเห็นบ่อย ๆ คือ
 
         1. ปากจืดชืดไม่มีรสชาติ ความรู้สึกรับรสอาหารลดลง บ่งบอกว่าอวัยวะม้ามและกระเพาะอาหารพร่องและอ่อนแอ หรือมีความเย็นความชื้นตกค้าง อุดกั้นส่วนกลาง (บริเวณกระเพาะอาหาร) 
 
         2. ปากรู้สึกหวาน ในปากในคอหรือน้ำลาย รู้สึกมีรสหวาน บ่งบอกกระเพาะอาหารและม้าม มีความร้อนชื้น หรืออ่อนแอพร่อง หรือพลังและยิ้นพร่อง
 
         3. ปากรู้สึกเหนียว หรือรู้สึกว่าน้ำลายหรือในคอเหนียวหนืด บ่งว่า มีเสมหะร้อน หรือความร้อนชื้น หรือความเย็นชื้นตกค้างในระบบม้ามและกระเพาะอาหาร
 
         4. ปากรู้สึกเปรี้ยว บางครั้งมีเรอเปรี้ยว หรือกลิ่นบูดเน่าของอาหาร บ่งบอกภาวะอาหารไม่ย่อย มักเกี่ยวข้องกับอาหารไม่ย่อย มีการตกค้างในกระเพาะอาหาร พลังตับอุดกั้นทำให้ระบบย่อยทำงานไม่ดี (เครียดลงกระเพาะ) พลังตับอุดกั้นจนกลายเป็นไฟ หรือการทำงานของตับกับกระเพาะอาหารไม่กลมกลืน
 
         5. ปากรู้สึกขม เกี่ยวข้องกับไฟหัวใจ ลอยขึ้นส่วนบนหรือไฟร้อนของตับและถุงน้ำดี
 
         6. ปากรู้สึกฝาด มักร่วมกับอาการแห้งของลิ้นและปาก บ่งบอกว่า มีความร้อนแห้ง ทำให้สารน้ำในร่างกายถูกทำลาย หรืออวัยวะภายในร้อน ทำให้เกิดไฟย้อนขึ้นบน เกิดความร้อนแห้ง
 
         7. ปากรู้สึกเค็ม เกี่ยวข้องกับไต เช่นภาวะไตยินพร่อง, ไตหยางพร่อง, และภาวะบวมน้ำจากความร้อน หยางของไตน้อย

 ความรู้สึกรับรสยังเกี่ยวข้องกับอายุ, อารมณ์, อุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม เช่น

         ความรู้สึกรับรสของเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่มากกว่าคนสูงอายุ

         ความรู้สึกรับรสตอนกลางคืน จะมากกว่ากลางวัน

         ความรู้สึกของคนรับรสขณะที่มีอารมณ์โมโห, กลัว, เศร้าโศก หรือขณะอ่อนเพลียมาก จะลดลงกว่าภาวะปกติ

         คนที่ดื่มเหล้า, หิวจัดเกินไป, นอนไม่พอ, ก็มีผลกระทบต่อความรู้สึกรับรส


ความรู้สึกรับรสกับสุขภาพองค์รวม

       เมื่อพบว่ามีความรู้สึกรับรสผิดปกติ ที่ไม่ใช่ชั่วคราว (จากอาหารหรือยาที่กิน) ควรพิจารณาร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น การนอนหลับ, อารมณ์, การถ่ายอุจจาระ, สีหน้า, โรคพื้นฐานที่เป็นอยู่, และภาวะอื่น ๆ เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาพิจารณาวิเคราะห์ ภาวะความเสียสมดุลของร่างกาย ยินหยาง เลือดพลัง และภาวะ การตกค้างของของเสีย รวมถึงปัญหาของอวัยวะภายในจั้งฝู่ การรักษาโรคและปรับภาวะสมดุลภายใน ให้เข้าที่เข้าทาง ก็จะทำให้สามารถปรับภาวะความรู้สึกรับรสที่ผิดปกติให้หายได้
 

  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ

 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก



 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เมื่อ...ความรู้สึกรับรส ผิดปกติ อัปเดตล่าสุด 4 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 07:44:47 48,982 อ่าน
TOP