5 อาหารดี ๆ ที่กินเยอะไปไม่ได้ (emagazineinfo)
จากประโยคที่บอกต่อ ๆ กันมาว่า กินผักเยอะ ๆ จะได้มีสุขภาพดี กินผลไม้เยอะ ๆ แล้วจะได้ผิวสวย ๆ นั้น บางทีก็อาจจะไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไปแล้ว เพราะบอกเลยว่าไม่ว่าอาหาร ผัก ผลไม้นั้นจะมีประโยชน์มากมายสักแค่ไหน แต่ถ้ากินมากไป ก็มีผลเสียด้วยกันทั้งนั้น
1. มะละกอ
มะละกอ ผลไม้ดี มีประโยชน์มากมายไขมันและคอเลสเตอรอลน้อยและยังดีต่อระบบขับถ่าย จึงมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับการลดน้ำหนักเป็นอย่างมาก และแน่นอนว่าเมื่อระบบขับถ่ายดีขึ้นนั้น โรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับระบบย่อยอาหารนั้นก็พลอยจะบรรเทาลงไปด้วย
การจะกินมะละกอเป็นผลไม้ลดน้ำหนักนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วงแต่อย่างใด แต่ก็ควรกินในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มากจนเกินไป เพราะถ้ากินมากเกินไปมะละกออาจทำให้คุณมีผิวที่เหลืองขึ้นได้ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อนะ
และนอกจากนี้มะละกอยังมีวิตามินเอสูง ถ้ากินมากไป มีความเสี่ยงต่อกระดูกและข้อต่อ อาจมีอาการเบื่ออาหาร เซื่องซึม นอนไม่หลับ กระวนกระวาย ผมร่วง ปวดศีรษะ ท้องผูก
2. ส้ม
ใคร ๆ ก็รู้ว่ากินส้มเยอะ ๆ แล้วจะช่วยให้ผิวดี ระบบขับถ่ายดี เพราะส้มจัดเป็นผลไม้ประเภทหนึ่งที่มีวิตามินซีสูงมาก ซึ่งวิตามินซีมีประโยชน์หลายอย่าง ทั้งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย, ป้องกันอนุมูลอิสระ, ต่อต้านโรคหัวใจ, ช่วยให้สุขภาพเหงือกแข็งแรง ทั้งยังโด่งดังเรื่องบรรเทาอาการหวัด
แต่การได้รับปริมาณวิตามินซีมากเกินไป มากกว่า 500 มิลลิกรัมต่อวันต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน สามารถทำให้เกิดนิ่วในไตได้ รวมถึงหากรับประทานวิตามินซีมากเกิน 1,000 มิลลิกรัม ยังอาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย และหากทานตอนท้องว่างก็อาจเกิดการระคายเคืองในทางเดินอาหาร เนื่องจากความเป็นกรดของวิตามินซี ทั้งยังอาจเกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือถึงขั้น คลื่นไส้ อาเจียนได้ด้วย
3. ทูน่า
ทูน่า ปลาทะเลน้ำลึก หนึ่งในอาหารทะเลมีไขมันและคอเลสเตอรอลต่ำ มี DHA (DOCOSAHEXAENOIC ACID) ซึ่งมีประโยชน์โดยตรงกับสมอง ช่วยบำรุงเซลล์สมอง และเสริมสร้างความจำ
แต่แม้ปลาทูน่าจะมีคุณประโยชน์สูง แต่สำหรับสำหรับสตรีมีครรภ์ เด็กเล็ก และหญิงที่เพิ่งคลอด ควรหลีกเลี่ยงหรือรับประทานแต่น้อย ประมาณ 3 ก้อนสำหรับไลท์ทูน่า หรือ 1 กระป๋องสำหรับทูน่าขาว เพื่อป้องกันอันตรายจากสารปรอท เพราะทูน่ามีสารปรอทอยู่ในเนื้อปลาเอง ถ้ากินมาก อาจทำให้มีปรอทสะสมมากเกินไปในร่างกาย อาจทำให้เกิดผลเสียต่อระบบประสาท เช่นการตายของเนื้อสมองบางส่วน
4. กะหล่ำปลี
กะหล่ำปลี ผักยอดฮิตของอาหารสุดแซ่บอย่างส้มตำที่ดับเผ็ดได้ดี ซึ่งอันที่จริงกะหล่ำปลีนั้นมีประโยชน์มากมาย แต่ทว่า การกินกะหล่ำปลีดิบมาก ๆ อาจเป็นปัญหากับสุขภาพในระยะยาว
พืชตระกูลกะหล่ำทุกตัว จะมีคุณสมบัติในการป้องกันและยับยั้งการเกิดมะเร็งได้ในหลาย ๆ ส่วนของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ กระเพาะอาหาร เต้านม มดลูก รังไข่ และยังมีฤทธิ์ในการขับสารพิษออกจากร่างกายได้ แต่ถ้าคุณรับประทานกะหล่ำปลีเป็นประจำ ก็จะเพิ่มประสิทธิภาพของตับให้ทำงานดีขึ้น
แต่ในขณะเดียวกัน ในกะหล่ำปลี ก็มีสาร Goitrogen อยู่มาก ซึ่งสาร Goitrogen นี้จะไปกันไม่ให้ต่อมไทรอยด์จับไอโอดีนไปสร้างเป็น Thyroscine ส่งผลจะทำให้เกิดโรคคอหอยพอกได้
หากชอบกินกะหล่ำปลีประจำ ควรกินกะหล่ำปลีสุกจะดีกว่ากินกะหล่ำปลีดิบ เพราะสาร Goitrogen นี้จะถูกทำลายได้โดยการทำให้สุก ดังนั้นควรทำให้สุก และกินแต่พอดี
5. น้ำ
แม้แต่น้ำ ก็ไม่พ้นจากข้อครหานี้ไปได้… จริงอยู่ที่น้ำเป็นสิ่งที่ร่างกายคนเราขาดไม่ได้ แต่การดื่มน้ำมากเกินวันละ 6-7 ลิตร เพราะเสี่ยงเกิดอาการไฮโปแนทรีเมีย สมองบวมจนเสียชีวิตได้
การดื่มน้ำมากไปจะทำให้ร่างกายได้รับน้ำปริมาณมากเกินไปในเวลารวดเร็ว ทำให้เกิดภาวะน้ำเกิน หรือน้ำเป็นพิษ และน้ำจะมีผลให้ธาตุโซเดียมในเลือดลดลงอย่างรวดเร็ว ร่างกายจะรักษาสมดุลน้ำระหว่างนอกเซลล์และภายในเซลล์ไม่ได้ ทำให้เซลล์บวมและทำให้ช็อก อาจกระตุกหรือชัก สมองบวม ปอดบวม หมดสติและเสียชีวิตได้
เพราะฉะนั้นดื่มในปริมาณที่เหมาะสมตามปกติที่วันละ 6-8 แก้ว หรือประมาณ 2 ลิตร ดื่มอย่างพอเหมาะพอควร ก็เพียงพอสำหรับร่างกายแล้ว
ทุกสิ่งทุกอย่างถ้าตั้งอยู่ในพื้นฐานของความพอดีแล้ว ยังไงก็เป็นสิ่งดีต่อตนเองอยู่เสมอ
ลิขสิทธิ์บทความของ emaginfo.com
ติดตามบทความ สุขภาพ หรืออ่าน แมกกาซีน