x close

ใช้พืชสมุนไพรอย่างไรให้ปลอดภัยกับไตของเรา


สมุนไพรไทย

ใช้พืชสมุนไพรอย่างไรให้ปลอดภัยกับไตของเรา (Happy+)
เรื่อง นพ.พิรัตน์ โลกาพัฒนา

          การดูแลสุขภาพร่างกายของคนเราในปัจจุบัน มีวิธีการที่หลากหลาย ไม่ว่าด้วยการออกกำลังกาย การตรวจสุขภาพ การเลือกกินอาหารที่ดีหรือการใช้ยา และทางเลือกอีกอย่างที่มีผู้ใช้กันก็คือ การบำรุงรักษาร่างกายด้วยสมุนไพร

          สมุนไพรมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งจากสัตว์ แร่ธาตุ และพืช โดยเฉพาะพืชสมุนไพรเป็นการรักษาทางเลือกที่คนนิยมกัน เพราะหาได้ง่ายกว่า
อีกทั้งในปัจจุบันมีความนิยมการกินอาหารเพื่อเป็นยา และการมองว่าการกินพืชผัก ผลไมย่อมเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ทำให้มีความนิยมการรับประทานผัก ผลไม้ หรือพืชสมุนไพรกันมากขึ้น


          แต่ใช่ว่าผักพืชสมุนไพรที่เราเห็นกันจะปลอดภัยเสมอไป อาหารทุกชนิดเป็นยาได้ แต่ก็มีอันตรายได้เช่นกัน


พืชและสมุนไพรที่อาจมีอันตรายต่อไต

มะเฟือง

มะเฟือง

          มะเฟืองเป็นผลไม้เมืองร้อน รสเปรี้ยว สีเหลืองส้ม นิยมรับประทานกันในแถบเอเชีย โดยมีการรับประทานทั้งเป็นผลในลักษณะเครื่องเคียงและคั้นน้ำ มีการใช้เป็นยาสมุนไพร เพื่อแก้ไข้ แก้ไอ ขับปัสสาวะ ภายในมะเฟืองมีปริมาณของออกซาเลตสูง โดยในมะเฟือง 100 กรัม มีปริมาณ Oxalic Acid ประมาณ 800 มิลลิกรัม ซึ่งเมื่อรับประทานเข้าไปในปริมาณมากหรือคั้นน้ำดื่ม หรือรับประทานตอนท้องว่าง จะทำให้เกิดการดูดซึมกรดออกซาลิกเข้ากระแสเลือดอย่างรวดเร็วและไปขับออกที่ไต เมื่อออกซาเลตไปจับกับแคลเซียมก็จะทำให้เกิดนิ่วขึ้น เกิดการอุดตันภายในไตจนเกิดเป็นภาวะไตวายได้

          นอกจากนี้หากผู้ที่รับประทานเข้าไปมีการทำงานของไตที่แย่มากอยู่แล้ว นอกจากภาวะไตวายแล้ว ก็ยังสามารถพบภาวะผิดปกติทางสมองได้ เช่น ซึม ไม่รู้สึกตัว หรือชัก

          ภาวะไตวายจากมะเฟืองไม่ได้พบบ่อยในคนปกติ แต่จะพบได้หากผู้ที่รับประทานอยู่ในช่วงที่ขาดน้ำ ไตมีการทำงานที่ไม่ดีอยู่เดิม หรือรับประทานเข้าไปในรูปแบบของน้ำคั้นในปริมาณที่มาก ดังนั้นผู้ที่มีโรคไตอยู่เดิมหรือมีโรคประจำตัวที่ทำให้ไตเสื่อม จึงควรระมัดระวังการใช้มะเฟือง หรือหากต้องการรับประทานมะเฟืองก็ควรเลือกมะเฟืองหวานซึ่งมีปริมาณออกซาเลตต่ำกว่ามะเฟืองเปรี้ยว


ไคร้เครือ

ไคร้เครือ

          ไคร้เครือเป็นสมุนไพรรากไม้ที่ประกอบอยู่ในตำรับยาหอมหลายชนิด ใช้แก้ไข้ แก้ปวดเมื่อยตัว ถูกตัดออกจากตำรับยาไปตั้งแต่ปี 2554 เนื่องจากพบการศึกษาในหลายประเทศว่าอาจจะก่อมะเร็งและทำให้ไตวายได้ โดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ เชน ภาวะไตวาย อาจจะก่อมะเร็งและทำให้ไตวายได้ โดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ เช่น ภาวะไตวายจากสมุนไพรจีน, ไตวายคาบสมุทรบอลข่าน

          ปัญหานี้เกิดจากในสมุนไพรจากพืชสกุล Aristolochia หลายชนิดจะชนิดจะมีสารที่เรียกว่า Aristolochic Acid เป็นสารที่สามารถก่อโรคได้หลายแบบ

          ไตวายจากสมุนไพรจีน พบว่าในตำรับยาจีน มีการใช้พืชในสกุล Aristolochia หลายชนิด รวมทั้งการแปลชื่อยาจีนผิดแล้วใส่ส่วนผสมผิด โดยกรณีที่ถูกพูดถึงมากคือ กรณีที่เบลเยียมในปี 2534 ซึ่งมีการพบผู้หญิงหลายคนที่ใช้สมุนไพรลดน้ำหนักแล้วเกิดไตวายตามมา เมื่อตรวจกลับไปพบว่าเกิดจากการสลับยา Fangi ไปใช้ยาชื่อ Fangohi ซึ่งเจ้าตัวหลังนี่เอง คือสมุนไพรในกลุ่มไคร้เครือ ผู้ป่วยที่ไตวายจากสมุนไพรชนิดนี้จะมีการทำงานของไตแย่ลงอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียงหนึ่งปีร่วมกับภาวะโลหิตจางอย่างรุนแรง อาจตรวจปัสสาวะพบการอักเสบหรือมีเม็ดเลือดปนออกมา ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาก็สามารถถึงชีวิตได้

          ไตวายคาบสมุทรบอลข่าน พบว่าในการเก็บเกี่ยวธัญพืชเพื่อนำไปทำแป้งและอาหาร มีการปนเปื้อนเอาต้นและเมล็ดของพืชในตระกูลนี้เข้าไป ผู้ที่รับประทานเข้าไปจะเกิดภาวะไตวาย แต่จะค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้า ๆ และสิ่งที่พบได้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้คือ การเป็นมะเร็งของระบบทางเดินปัสสาวะซึ่งเกิดจากการที่กรด Aristolochic เปลี่ยนเป็นสาร Aristolactam ซึ่งเป็นสารที่ไปเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของเซลล์เยื่อบุทางเดินปัสสาวะ ทำให้เกิดมะเร็งของทางเดินปัสสาวะได้

          ในประเทศไทยเคยมีงานวิจัยที่สืบย้อนกลับไปและพบว่า ไคร้เครือที่ขายในร้านยาทำมาจากต้นกระเช้าสีดาและต้นหนอนตาย ซึ่งทั้งสองชนิดต่างก็เป็นพืชในสกุล Aristolocha (ในไทยพืชกลุ่มนี้อยู่ในวงศ์ไก่ฟ้า มีลักษณะเด่นคือ ดอกมีรูปร่างคล้ายกระเปาะดักแมลงของต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง) ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงยาหรือสมุนไพรที่มีส่วนประกอบของพืชชนิดนี้

ลูกเนียง

ลูกเนียง (Djenkol Bean)

          ลูกเนียง หรือชะเนียง เป็นไม้ยืนต้นที่อยู่ในกลุ่มพืชตระกูลถั่ว ออกผลเป็นผักซึ่งมีเมล็ดสีดำอยู่ภายใน เป็นพืชที่นิยมรับประทานกับอาหารภาคใต้รสเผ็ด ภายในเมล็ดจะมีกรดเจ็งโคลิกซึ่งเป็นกรดอะมิโนชนิดที่มีกำมะถัน ในสภาวะที่ร่างกายขาดน้ำ ไตเสื่อม หรือปัสสาวะเป็นกรด กรดชนิดนี้จะเกิดการตกตะกอนกลายเป็นผลึกรูปเข็มอยู่ในไตและทางเดินปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการปัสสาวะออกน้อย ไตวายเฉียบพลัน คลื่นไส้อาเจียน

          การป้องกันการเกิดพิษจากลูกเนียงทำได้หลายวิธี ทั้งโดยการดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอ รับประทานลูกเนียงแต่น้อย นำลูกเนียงไปต้มหรือคั่วให้สุกก่อน นำลูกเนียงไปผ่านแช่น้ำก่อนการปรุงอาหาร หรือนำไปเพาะให้งอกก่อนแล้วค่อยนำมารับประทาน จะลดปริมาณกรดเจ็งโคลิกในเมล็ดลูกเนียงให้น้อยลงได้


โกฐน้ำเต้า
ภาพประกอบจาก panvasa.com


โกฐน้ำเต้า (Rhubarb)

          โกฐน้ำเต้าเป็นผักกินใบชนิดหนึ่ง ลำต้นออกสีแดงใบสีเขียวนิยมปลูกมากในจีน โดยในฝั่งยุโรปจะเรียกกันว่า รูบาร์บ เป็นผักที่มีปริมาณของออกซาเลตสูง โดยมีบางรายงานระบุว่าการรับประทานโกฐน้ำเต้าในปริมาณมาก ๆ สามารถก่อให้เกิดนิ่วออกซาเลตในทางเดินปัสสาวะได้

หม่าฮวง

มาฮวง หรือหม่าฮวง

          เป็นสมุนไพรจีนที่ใช้ในการรักษาไข้หวัด สามารถแก้อาการหวัด คัดจมูก และหอบหืดได้ เนื่องจากพืชชนิดนี้มีสารในกลุ่ม Ephednne ซึ่งมีฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อเรียบของเส้นเลือดและทางเดินหายใจ ซึ่งแพทย์แผนปัจจุบันมักใช้ในยาหยอดแก้คัดจมูก

          ผลข้างเคียงของสมุนไพรนี้ในคนปกติคือ ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันสูงขึ้น และในบางกรณีสามารถทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อในร่างกายอักเสบรุนแรงจนไตวายเฉียบพลันตามมาได้ ในบางรายงานพบว่าหากรับประทานติดต่อกันสามารถกระตุ้นให้เกิดนิ่วในไตได้

          สำหรับผู้ป่วยโรคไตวายและความดันโลหิตสูง ยาสมุนไพรกลุ่มนี้จัดว่าอันตราย เพราะสามารถกระตุ้นให้เกิดความดันสูงรุนแรง ส่งผลให้เกิดการล้มเหลวของอวัยวะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหัวใจวาย ไตวาย เส้นเลือดสมองคืบหรือแตก ตามมาได้

แครนเบอร์รี

แครนเบอร์รี (Cranberries)

          เป็นผลไม้พื้นถิ่นของทวีปอเมริกา มีงานวิจัยบางชิ้นที่ระบุว่าสารภายในแครนเบอร์รีอาจจะช่วยลดการป่วยเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ ทำให้มีผลิตภัณฑ์ทั้งอาหารเสริม สารสกัด และน้ำผลไม้ออกมาวางจำหน่าย แต่เนื่องจากในผลไม้ชนิดนี้มีสารประกอบออกซาเลตมาก ทำให้ผู้ที่รับประทานในปริมาณสูงมีความเสี่ยงต่อการมีนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้

มะขามแขก

มะขามแขก (Senna)

          เป็นพืชสมุนไพรในตระกูลถั่ว ในใบของมันมีสารในกลุ่ม Sennoside ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่ และทำให้เกิดการหลั่งน้ำของลำไส้ใหญ่เพิ่มขึ้น มีผลช่วยในการระบาย โดยมีทั้งการใช้ในรูปแบบสมุนไพรสด ชงเป็นชา หรือรูปแบบเม็ดทั้งจากสารสกัด หรือใบแห้งบด ผลข้างเคียงคล้ายคลึงกับผลของการใช้ยาระบายก็คือ การใช้มากเกินไปจะทำให้เกิดอาการปวดเกร็ง ร่างกายเกิดการขาดน้ำ หากถูกนำไปใช้ในการลดน้ำหนักโดยใช้ในปริมาณมาก อาจเกิดการถ่ายจนเสียน้ำมากและไตวายได้

          นอกจากนี้ การใช้สารสกัดจากมะขามแขกจะทำให้เกิดการถ่ายและเสียโพแทสเซียมออกไปได้ ซึ่งจะรุนแรงได้มากขึ้นในกรณีผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ใช้ยาขับปัสสาวะอยู่

ชะเอมเทศ

ชะเอมเทศ (Liquorice)

          ชะเอมเทศเป็นพืชในตระกูลถั่วชนิดหนึ่ง นิยมปลูกในประเทศจีนและตะวันออกกลาง รากชะเอมเทศมีรสหวาน สรรพคุณทางยาเป็นยาแก้หวัด แก้ไอ ละลายเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ และในตำรับยาจีน มักใช้ความหวานของมันในการเป็นส่วนผสมที่ทำให้ยารับประทานง่ายขึ้น

          ในชะเอมเทศจะมีกรดที่ชื่อว่า กรดไกลซิลิสิค ซึ่งจะเข้าไปรบกวนระบบการทำงานของฮอร์โมนในร่างกาย ในกรณีที่รับประทานเข้าไปในปริมาณมาก หรือนาน จะทำให้เกิดการขับโพแทสเซียมออกไปทางปัสสาวะ ทำให้เกิดกล้ามเนื้ออักเสบรุนแรงและไตวายตามมาได้

          ทั้งนี้ปัญหาของชะเอมเทศมักจะพบในกรณีของผู้ที่ใช้ในรูปยาจีน ใช้เป็นเวลานาน ๆ มีปัญหาโรคไตอยู่เดิม หรือรับประทานยาความดันโลหิตสูงในกลุ่มขับปัสสาวะ แต่ไม่ค่อยพบในกรณีที่กินจากลูกอมหรือขนมที่มีส่วนผสมของชะเอมเทศ เพราะมักมีปริมาณต่ำมากจนไม่ค่อยเกิดอันตราย

          จะเห็นว่าพืชผักทั่วไปหรือสมุนไพรที่ถูกใช้เป็นยามาแต่โบราณบางชนิดก็มีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคทางโตได้ ซึ่งการบริโภคก็คงจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอดี ไม่รับประทานพืชผักชนิดเดียวติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่ทราบแหล่งที่มาที่ไปชัดเจน และในผู้ที่มีโรคประจำตัว เมื่อต้องการใช้ยาสมุนไพร ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยของโตน้อย ๆ ของเราครับ


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 


คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ 




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ใช้พืชสมุนไพรอย่างไรให้ปลอดภัยกับไตของเรา อัปเดตล่าสุด 12 กันยายน 2557 เวลา 17:40:32 18,331 อ่าน
TOP